สรุปสถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศ วันที่ 23 มี.ค. 65

ประเทศไทยตอนบน มีฝนฟ้าคะนองกับมีลมกระโชกแรง และมีฝนตกหนักบางแห่ง ส่วนภาคใต้ ภาคใต้มีฝนเพิ่มขึ้นและฝนตกหนักบางพื้นที่
ปริมาณฝนตกใน 24 ชั่วโมงที่ผ่านมา มีฝนตกหนัก บริเวณ จ.ตราด (88 มม.) จ.นครราชสีมา (85 มม.) และ จ.ยะลา (84 มม.)
ปริมาณน้ำใช้การแหล่งน้ำทั้งประเทศทุกขนาด 27,903 ล้าน ลบ.ม. (48%) ขนาดใหญ่ 22,068 ล้าน ลบ.ม. (46%) เฝ้าระวังน้ำน้อยในแหล่งน้ำขนาดใหญ่ จำนวน 3 แห่ง (เขื่อนแม่งัด ภูมิพล และ สิริกิติ์)
คุณภาพน้ำ เพื่อการอุปโภคบริโภค และการเกษตร ณ จุดเฝ้าระวัง ในแม่น้ำสายหลัก แม่น้ำเจ้าพระยา ท่าจีน บางปะกง แม่กลอง อยู่ในเกณฑ์ปกติ ปริมาณออกซิเจนละลายในแม่น้ำ ที่ท่าจีน ต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐาน
วานนี้ (22 มี.ค.65) พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้อ่านสารเนื่องในวันน้ำโลก ประจำปี 2565 เผยแพร่ผ่านสถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบกช่อง 5 และสื่อออนไลน์ของสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ สรุปสาระสำคัญดังนี้
นายกรัฐมนตรีย้ำถึงความสำคัญของ “น้ำ” ถือเป็นปัจจัยพื้นฐานที่สำคัญต่อการดำรงชีวิตของสิ่งมีชีวิตทั้งหลาย โดยในปี 2565 นี้ ได้กำหนดหัวข้อ “ร่วมรู้จัก อนุรักษ์ น้ำใต้ดิน” เพื่อให้ทุกประเทศให้ความสำคัญกับการรักษาดูแลทรัพยากรน้ำใต้ดิน โดยเฉพาะการเจริญเติบโตขึ้นของเมือง และความก้าวหน้าของเทคโนโลยีในด้านต่าง ๆ ทั้งด้านเกษตรกรรม อุตสาหกรรม และบริการ ล้วนก่อให้เกิดการปนเปื้อนของน้ำที่ไหลกลับลงสู่ใต้ดิน รวมไปถึงวิกฤตภัยแล้งที่ทำให้ปริมาณน้ำใต้ดินมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งการรุกตัวของน้ำเค็มในหลายพื้นที่ทั่วโลกรวมถึงประเทศไทย ส่งผลให้น้ำใต้ดินที่ถือเป็นขุมทรัพย์น้ำจืดขนาดใหญ่มีคุณภาพต่ำลง
รัฐบาลได้ให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการน้ำใต้ดิน โดยได้ดำเนินการเติมน้ำใต้ดินตามหลักวิชาการมาโดยตลอด ตั้งแต่การฟื้นฟูป่าอันเป็นต้นทางสำคัญในการรักษาความชุ่มชื้นให้แก่ระบบนิเวศ การเติมน้ำใต้ดิน ผ่านแหล่งน้ำต่างๆ และมีการติดตามประเมินผลอย่างเป็นระบบมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อรักษาสมดุลของธรรมชาติ ลดการรุกล้ำของน้ำเค็ม บรรเทาอุทกภัย และการใช้ประโยชน์ในช่วงวิกฤตภัยแล้ง พร้อมกันนี้ยังได้ปลูกจิตสำนึกให้ชาวไทยทุกคนร่วมกันอนุรักษ์ทรัพยากรน้ำให้คงอยู่อย่างสมบูรณ์ต่อไป
รัฐบาลจึงขอเชิญชวนให้ทุกภาคส่วนได้ตระหนักถึงการอนุรักษ์น้ำ โดยการใช้น้ำอย่างรู้คุณค่า และร่วมกันลดการปนเปื้อนของน้ำใต้ดิน เพื่อให้ประเทศไทยสามารถบรรลุวัตถุประสงค์ตามนโยบาย “ทศวรรษแห่งการร่วมมือปฏิบัติของทุกประเทศ เพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน” ของสหประชาชาติ และเพื่อประโยชน์สูงสุด คือการรักษาทรัพยากรน้ำอย่างยั่งยืน เพื่อลูกหลานของเราในอนาคตสืบไป
