ไฟเขียวเก็บ “ภาษีขายหุ้น” สัญญาณปฏิรูปรายได้ภาครัฐ
การจัดเก็บ “ภาษี” นอกจากเป็นรายได้ของภาครัฐที่จะจัดส่งเข้าเป็นเงินแผ่นดินที่จะใช้เป็นรายจ่ายด้านต่างๆของประเทศภาษียังเป็นเครื่องมืออีกอย่างหนึ่งที่ภาครัฐจะใช้ลดความเหลื่อมล้ำ และสร้างความเป็นธรรมในสังคม
ที่ผ่านมาการขาดดุลงบประมาณที่ต่อเนื่องมาหลายปี มีการพูดถึงการเพิ่มรายได้ของภาครัฐในหลายรูปแบบเพื่อให้สามารถนำไปชำระหนี้สาธารณะของภาครัฐที่คงค้าง หรือนำไปจัดสรรงบประมาณในส่วนอื่นๆได้เพิ่มเติม แต่การจัดเก็บรายได้ในรูปแบบต่างๆเพิ่มขึ้น รวมทั้งการปรับขึ้นภาษีในส่วนต่างๆก็ต้องดำเนินการ “ในช่วงเวลาที่เหมาะสม”
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาได้เห็นชอบร่างพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการลดอัตราภาษีธุรกิจเฉพาะและกำหนดกิจการที่ได้รับยกเว้นภาษีธุรกิจเฉพาะ ฉบับที่… พ.ศ…(การจัดเก็บภาษีธุรกิจเฉพาะจากการขายหลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์) ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ โดยการเก็บภาษีขายหุ้นนั้นกลับมาดำเนินการอีกครั้งหลังจากเว้นไปกว่า 40 ปี ซึ่งอาจเป็นก้าวสำคัญของกระทรวงการคลังอีกครั้งในการเดินหน้าเก็บรายได้เข้าสู่ภาครัฐ รวมถึงการปฏิรูปการเก็บภาษีอื่นๆต่อไป
โดยสาระสำคัญคือให้มีการจัดเก็บภาษีการขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ตามที่ในอัตรา 0.10% ของมูลค่าการขาย (0.11% เมื่อรวมกับภาษีท้องถิ่น) อย่างไรก็ตามในปีแรกที่มีการเก็บภาษีการขายหุ้นในปีแรกที่กฎหมายบังคับใช้จะเก็บเพียง เก็บอัตรา 0.50% (0.055% เมื่อรวมภาษีท้องถิ่น)
โดยการดำเนินการโบรกเกอร์ที่เป็นนายหน้าขายหุ้นจะทำหน้าที่หักภาษีส่วนนี้ส่งรัฐ โดยเก็บภาษีจากธุรกรรมการขายหุ้น (Transaction Tax) ในตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งคำนวณจากรายรับก่อนหักรายจ่ายใด ๆ ทั้งสิ้น โดยจะต้องเสียภาษีในอัตราดังกล่าวของมูลค่าที่ขาย
อาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่าเมื่อร่างกฎหมายได้รับความเห็นชอบจาก ครม.แล้ว จะส่งร่างกฎหมายให้คณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณา เมื่อเสร็จแล้วจะมีการประกาศในราชกิจจานุเบกษา และกฎหมายนี้จะมีผลบังคับใช้ภายใน 90 วันหลังประกาศใช้เพื่อให้นักลงทุนรับทราบข้อมูลอย่างทั่วถึง และมีการปรับตัวกับกฎหมายที่จะมีผลบังคับใช้
“การจัดเก็บภาษีขายหุ้นนั้น รายย่อยจะได้รับผลกระทบไม่มากเท่ากับรายใหญ่ซึ่งต้องไปดูตัวนักลงทุนอีกครั้ง เพราะมีหลายประเภท เช่น นักลงทุนต่างชาติ สถาบันด้วย” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังระบุ
เก็บรายได้เพิ่ม 1.6 หมื่นล้านต่อปี
ทั้งนี้ในการพิจารณากฎหมายนี้ของ ครม.ได้ใช้เวลาในการอภิปรายและสอบถามเรื่องนี้จากกระทรวงการคลังอยู่พอสมควร โดยพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหมได้ขอให้กระทรวงการคลังพิจารณาให้ดี และพิจารณาให้รอบครอบ เพราะใกล้จะปีใหม่ และใกล้จะครบวาระของรัฐบาลแล้ว รวมทั้งต้องชี้แจงให้นักลงทุนเข้าใจด้วย
อย่างไรก็ตาม รมว.คลังได้ชี้แจงให้ ครม.รับทราบว่าเรื่องนี้เป็นกฎหมายเดิมที่มีการเว้นการบังคับใช้กฎหมายไปแล้วกว่า 40 ปี แต่ขณะนี้ถึงเวลาที่จะกลับมาเก็บภาษีส่วนนี้อีกครั้ง โดยการจัดเก็บภาษีดังกล่าวจะเพิ่มรายได้ให้กับภาครัฐปีละประมาณ 1.6 หมื่นล้านบาทต่อไป โดยในปีแรกจะจัดเก็บรายได้ประมาณ 8 พันล้านบาทต่อปี
ทั้งนี้กระทรวงการคลังได้มีการศึกษาแล้วในเรื่องนี้โดยได้เปรียบกับประเทศฝรั่งเศส และประเทศอิตาลี ซึ่งในเรื่องนี้กรณีของประเทศฝรั่งเศสกระทบแค่ระยะสั้นๆ ส่วนประเทศอิตาลีไม่มีผลกระทบกับการซื้อขายหุ้นเลย
รวม.คลัง ได้รายงาน ครม.ว่า การยกเว้นภาษีสำหรับการขายหลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์ยกเว้นมานานกว่า 40 ปี และปัจจุบัน ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยได้เติบโตขึ้นอย่างมาก โดยมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด (Market Capitalization) เพิ่มขึ้นถึง 22 เท่าจาก 30 ปีก่อน
เปิดข้อยกเว้นเก็บภาษีขายหุ้น
ลวรณ แสงสนิท อธิบดีกรมสรรพากร เปิดเผยว่า กระทรวงการคลังโดยกรมสรรพากรตระหนักถึงความสำคัญของความเป็นธรรมในการจัดเก็บภาษี และต้องการลดความเหลื่อมล้ำในการกระจายรายได้ ร่างพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการลดอัตราภาษีธุรกิจเฉพาะ และกำหนดกิจการที่ได้รับยกเว้นภาษีธุรกิจเฉพาะ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. ยกเลิกการยกเว้นภาษีธุรกิจเฉพาะสำหรับการขายหลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์ฯ ซึ่งที่ผ่านมาได้มีการยกเว้นการจัดเก็บมาเป็นเวลานาน ทั้งนี้ ยังคงการยกเว้นภาษีธุรกิจเฉพาะสำหรับการขายหลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์ฯ ให้แก่ 8 กลุ่มได้แก่
1. ผู้ดูแลสภาพคล่อง (Market Maker) ที่ได้ขึ้นทะเบียนกับตลาดหลักทรัพย์ฯ เฉพาะการขายหลักทรัพย์ที่บุคคลนั้นได้ขึ้นทะเบียนเป็นผู้ดูแลสภาพคล่องของหลักทรัพย์นั้น 2. สำนักงานประกันสังคม
3. กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ 4. กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ
5. กองทุนสงเคราะห์ตามกฎหมายว่าด้วยโรงเรียนเอกชน 6. กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ 7. กองทุนการออมแห่งชาติ และ8. กองทุนรวมที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ เพื่อขายหน่วยลงทุนในกองทุนรวมแก่สำนักงานประกันสังคมหรือกองทุนตามข้อ 3-7 เท่านั้น
โดยในการเสียภาษีธุรกิจเฉพาะกรณีนี้ กฎหมายได้กำหนดให้สมาชิกของตลาดหลักทรัพย์ฯ (Broker) ที่เป็นตัวแทนของผู้ขายมีหน้าที่หักภาษีธุรกิจเฉพาะจากเงินที่ขายและยื่นแบบแสดงรายการภาษีและชำระภาษีในนามตนเองแทนผู้ขาย โดยผู้ขายไม่ต้องยื่นแบบแสดงรายการภาษีอีก
ซึ่งการยกเว้นดังกล่าวเพื่อไม่ให้กระทบการพัฒนาผลิตภัณฑ์การลงทุนใหม่ๆ ในตลาดหลักทรัพย์ฯ เช่นเดียวกับต่างประเทศ อาทิ อังกฤษ ฮ่องกง ฝรั่งเศส และอิตาลี สำหรับนักลงทุนรายใหญ่ ไม่ว่าบุคคลธรรมดา นักลงทุนสถาบันที่ไม่ใช่กองทุนบำนาญ หรือบริษัทหลักทรัพย์ที่ซื้อขายในบัญชีบริษัทหลักทรัพย์เอง (ไม่ใช่บัญชี Market Maker) จะไม่ได้รับยกเว้นภาษีแต่อย่างใด
สภาธุรกิจตลาดทุนไทยค้านเก็บภาษีขายหุ้น
กอบศักดิ์ ภูตระกูล ประธานสภาธุรกิจตลาดทุนไทย (FETCO) ระบุว่าในเรื่องการเก็บภาษีขายหุ้นที่ผ่าน ครม.นั้น ทาง FETCO เคยได้ส่งจดหมายเปิดผนึกถึงท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม ที่ผ่านมา และได้ทักท้วงอย่างต่อเนื่องในช่วงที่ผ่านมาเกี่ยวกับการเก็บภาษีนี้
โดยในช่วงที่ตลาดผันผวนปั่นป่วนอย่างยิ่ง ในสินทรัพย์ต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นหุ้น พันธบัตร ทองคำ ค่าเงิน และสินทรัพย์ใหม่ เช่น เงินคริปโต ตั้งแต่ปลายปีที่แล้วเป็นต้นมา ส่งผลกระทบต่อนักลงทุน และจะผันผวนไปอีกระยะ นอกจากนี้ ยังมีวิกฤตเศรษฐกิจที่อาจเกิดขึ้นรออยู่ข้างหน้า ซึ่งเริ่มเห็นถึงเค้าลางในบางประเทศ และสภาพคล่องของตลาดหลักทรัพย์ไทยได้ลดลงอย่างต่อเนื่อง เหลือน้อยกว่าครึ่งของก่อนหน้า จึงขอยืนยันว่าช่วงนี้จึงไม่ใช่เวลาที่เหมาะสมสำหรับเรื่องนี้
โดยเนื้อหาของจดหมายเปิดผนึกถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เรื่อง ความเห็นเกี่ยวกับการเรียกเก็บภาษีการขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ โดยสภาธุรกิจตลาดทุนไทย เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2565 ระบุว่า ตามที่ภาครัฐมีแนวคิดในการเรียกเก็บภาษีการขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ โดยจะจัดเก็บภาษีธุรกิจเฉพาะ 0.1% ของมูลค่าขายตั้งแต่บาทแรก นั้น สภาธุรกิจตลาดทุนไทย (FETCO) ในฐานะผู้แทนองค์กรในตลาดทุน ขอเสนอความคิดเห็นและข้อเสนอต่อแนวทางการจัดเก็บภาษีที่เหมาะสมสำหรับตลาดทุน ดังนี้
1.FETCO ไม่เห็นด้วยที่จะมีการเก็บภาษีธุรกิจเฉพาะจากการขายหลักทรัพย์ เนื่องจากจะส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อสภาพคล่องของตลาด เป็นภาระและส่งผลกระทบต่อการซื้อขาย รวมถึงด้อยค่าหลักทรัพย์ที่ผู้ถือหุ้นถือครองอยู่ โดยเฉพาะสำหรับนักลงทุนรายย่อยกว่า 2 ล้านคนที่ลงทุนทางตรงในตลาดหลักทรัพย์ และอีก 17 ล้านคนที่ลงทุนทางอ้อมผ่านกองทุนรวมและกองทุนสวัสดิการต่างๆ รวมถึงนักลงทุนสถาบันและนักลงทุนต่างประเทศ ทั้งนี้ จากการศึกษาในต่างประเทศ พบว่าการจัดเก็บภาษีดังกล่าวจะส่งผลให้ประชาชนต้องออมเพิ่มขึ้นอีก 2-3 ปี เพื่อให้มีเงินเพียงพอในยามเกษียณ
2.ภาระภาษีที่เพิ่มขึ้นจะเป็นต้นทุนที่เพิ่มขึ้นสำหรับ Market Markers (MM) ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ตลาดทุนใหม่ ๆ โดยเฉพาะ Derivative Warrant และ Single Stock Futures ซึ่งอ้างอิงหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ อันจะส่งผลต่อการพัฒนานวัตกรรมและขีดความสามารถในการแข่งขันของตลาดทุนไทยในเวทีโลก
3.ตลาดหลักทรัพย์ในประเทศที่พัฒนาแล้ว หากจัดเก็บภาษี จะนิยมให้การยกเว้นแก่กลุ่ม MM เช่น ฮ่องกง อังกฤษ ฝรั่งเศส อิตาลี สเปน และกลุ่มกองทุนรวม/กองทุนบำนาญ/กองทุนสวัสดิการ เช่น อิตาลี สวิตเซอร์แลนด์ เบลเยี่ยม ไอซ์แลนด์ เพื่อลดผลกระทบต่อการออมการลงทุนของประชาชนในวงกว้างและต่อการพัฒนาเชิงนวัตกรรมของตลาดหลักทรัพย์ในประเทศ ทั้งนี้ ในกรณีของไทย นักลงทุนทั้ง 2 กลุ่มทำธุรกรรมขายรวมกัน 12-17% ของมูลค่าขายทั้งหมดในตลาด (สถาบันในประเทศ 7% และ MM 5-10%) ดังนั้น การให้ยกเว้นภาษีต่อไปถือว่าคุ้มค่า หากเปรียบเทียบเม็ดเงินภาษีดังกล่าวกับผลประโยชน์ในวงกว้างต่อประชาชนและการพัฒนาศักยภาพของตลาดหลักทรัพย์ไทยในระยะยาว
4.อัตราภาษีธุรกิจเฉพาะ 0.1% ถูกกำหนดขึ้นตั้งแต่ปี 2534 เมื่ออัตรา commission อยู่ที่ระดับ 0.5% อย่างไรก็ดี จากสภาวะการแข่งขันทั้งในและต่างประเทศที่มีมากขึ้น อัตรา commission จึงลดลงเหลือเพียง 0.08% ในปัจจุบัน ดังนั้น มูลค่าภาษีที่จัดเก็บตามอัตราภาษีที่ 0.1% และเมื่อรวมภาษีท้องถิ่นอีก 0.01% เป็น 0.11% จะสูงถึง 0.7 เท่าของมูลค่าค่าธรรมเนียมการซื้อขายที่จัดเก็บในปัจจุบัน จึงจะส่งผลต่อการตัดสินใจซื้อขายอย่างมีนัยสำคัญ โดยเฉพาะในภาวะที่ตลาดทุนทั่วโลกมีความผันผวนสูงจากสถานการณ์โควิดและสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครน รวมทั้งการปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐฯ ส่งผลให้ดัชนีหุ้นทั่วโลก อัตราแลกเปลี่ยน และเงินทุนเคลื่อนย้ายระหว่างประเทศ มีความผันผวนมาก การจัดเก็บภาษีดังกล่าวจะเป็นการตอกย้ำความผันผวนดังกล่าว
5.ต้นทุนการระดมทุน (cost of capital) ที่สูงขึ้นเมื่อสภาพคล่องในตลาดลดลง จะทำให้บริษัทจดทะเบียนชะลอหรือลดการลงทุนขยายธุรกิจ มีกำไรลดลง ท้ายที่สุด productivity และจีดีพีของประเทศ รวมตลอดถึงภาษีนิติบุคคลที่บริษัทจ่ายได้ จะลดลงตามไปด้วย ทั้งนี้ ผลเสียจะกระทบแรงกับกลุ่มบริษัทขนาดกลางและเล็กที่มีทางเลือกของแหล่งเงินทุนที่จำกัดมากอยู่แล้วในปัจจุบัน
แบงก์ชาติเชื่อกระทบตลาดหุ้น – เงินทุนเคลื่อนย้าย
ในเรื่องการเก็บภาษีขายหุ้นธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ดูแลระบบการเงินของประเทศมองว่าการจัดเก็บภาษีขายหุ้นนั้นไม่กระทบกับตลาดหุ้นมาก
ปิติ ดิษยทัต ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ให้ความเห็นต่อกรณีที่กระทรวงการคลังเตรียมเก็บภาษีขายหุ้น โดยยอมรับว่าช่วงแรกอาจเกิดผลกระทบต่อตลาดทุนบ้าง เพราะจะต้องมีการปรับตัว แต่เชื่อว่าภาพรวมจะไม่มีผลกระทบรุนแรงต่อตลาดทุน โดยเฉพาะเงินทุนเคลื่อนย้าย
ธปท.ยังเชื่อว่าแม้การเก็บภาษีขายหุ้นจะทำให้ต้นทุนการทำธุรกรรมในตลาดหุ้นเพิ่มขึ้น แต่เมื่อพิจารณาจากกำไรของภาคธุรกิจที่จะดีขึ้นตามแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยแล้ว ก็เชื่อว่าจะไม่สร้างปัญหาในภาพรวมของการเคลื่อนย้ายเงินทุน
“ผลกระทบคงมีบ้างในช่วงแรกๆ ก็ต้องมีการปรับตัวไปตามโครงสร้าง แต่จะไม่กระทบแรงต่อตลาดทุน หรือเงินทุนเคลื่อนย้าย ซึ่งตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา มีเงินทุนไหลเข้าแล้วประมาณ 5 พันล้านดอลลาร์…เชื่อว่าจะไม่ทำให้ภาพเปลี่ยนแปลงไปจนสร้างปัญหากับเงินทุนเคลื่อนย้ายในภาพรวม” นายปิติ ระบุ
ตลท.หาทางลดปัญหาเก็บภาษีซ้ำซ้อน
ภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) กล่าวถึงกรณีที่ ครม.เห็นชอบร่างกฎหมายเก็บภาษีจากการขายหุ้นว่า ตลท.กำลังทำงานร่วมกับสมาคมบริษัทหลักทรัพย์ไทยเตรียมกระบวนการรองรับจัดเก็บภาษีขายหุ้นเพื่อให้มีภาระต้นทุนที่ต่ำ และมีประสิทธิภาพในการทำงานของทั้งอุตสาหกรรม
นอกจากนี้ จะเตรียมข้อเสนอในรายละเอียดการจัดเก็บภาษีให้กับกระทรวงการคลัง เพื่อไม่ให้เกิดการจัดเก็บภาษีซ้ำซ้อนจากผู้ลงทุนในบางประเภทธุรกรรม ทั้งนี้ ตลาดหลักทรัพย์ฯ จะแจ้งข้อมูลความคืบหน้าให้ทราบต่อไป
โบรกเกอร์ประสานเสียงเก็บภาษีหุ้นเพิ่มต้นทุน
สำหรับกลุ่มตัวแทนในการซื้อขายหุ้นของบริษัทหลักทรัพย์ หรือ โบรกเกอร์ ต่างออกมาให้ความเห็นต่อกฎหมายนี้กันอย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะในประเด็นการเพิ่มต้นทุนให้กับนักลงทุนที่จะต้องมีค่าใช้จ่ายเพิ่มจากการเก็บภาษีขายหุ้น และอาจลดทอนธุรกรรมการซื้อขายหุ้นในตลาดลงได้
กิจพณ ไพรไพศาลกิจ ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.ยูโอบี เคย์เฮียน (ประเทศไทย) มองว่าหากมีการเก็บภาษีขายหุ้น ในอัตรา 0.1% จะกระทบต่อปริมาณการซื้อขายของตลาดหลักทรัพย์ฯ เนื่องด้วยค่าธรรมเนียมซื้อขายหลักทรัพย์เฉลี่ยของทั้งอุตสาหกรรมอยู่ที่ 0.11% การเก็บภาษี 0.1% เพิ่มเข้ามาจะทำให้นักลงทุนมีต้นทุนเพิ่มขึ้นเท่าตัว โดยเฉพาะนักลงทุนรายใหญ่คาดว่าจะมีต้นทุนเพิ่มขึ้น 2-5 เท่าตัว และนักลงทุนรายย่อยเพิ่มขึ้นราว 60%
โดยฝั่งบริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ก็ต้องดูว่าจะส่งผลกระทบแค่ไหน เนื่องด้วยหลายๆ ธุรกรรมไม่ได้มีการเก็บค่าธรรมเนียม เช่น Derivative Warrants (DW), Block trade เป็นต้น ซึ่งหากมีการเก็บภาษีขายหุ้นก็ต้องรอดูรายละเอียดว่าจะครอบคลุมในส่วนนี้หรือไม่ หากมีการเก็บทั้งหมดก็จะเพิ่มต้นทุนให้กับบริษัทหลักทรัพย์
ณัฐพล คำถาเครือ ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.หยวนต้า (ประเทศไทย) ให้ความเห็นว่า การเก็บภาษีหุ้นกว่าจะเริ่มเก็บจริงก็คงราววันที่ 1 เม.ย.66 และเก็บภาษีปีแรกในอัตรา 0.55% ซึ่งตามผลการศึกษาของสภาธุรกิจตลาดทุนไทย (FETCO) คาดว่าจะมีผลกระทบต่อมูลค่าการซื้อขาย 20-30% หรือลดลงไม่เกิน 10% โดยการเก็บภาษีแบบขั้นบันไดจะทำให้นักลงทุนเปลี่ยนพฤติกรรมการลงทุนจากที่เทรดซื้อขายบ่อยอาจซื้อแล้วถือหุ้นขนาดกลางและใหญ่มากขึ้น และภาครัฐยังมีเวลาให้ปรับตัวกว่าจะเก็บอัตราสูงสุดที่ 0.11% ผลกระทบก็อาจไม่รุนแรงอย่างที่คาดไว้
อย่างไรก็ตาม ผู้ที่จะได้รับผลกระทบโดยตรง คือ ธุรกิจหลักทรัพย์ หรือโบรกเกอร์ นักลงทุนรายใหญ่อาจขอต่อรองค่านายหน้า รวมถึงนักลงทุนที่ชอบหุ้นขนาดเล็ก ซึ่งปกติจะอาศัยสภาพคล่องในตลาดสูงๆ ถ้าสภาพคล่องน้อยลงก็จะทำให้ราคาไม่ค่อยเคลื่อนไหว ตลาด mai ที่เป็นตลาดหุ้นขนาดเล็กก็อาจจะรับผลกระทบจากสภาพคล่องที่ลดลง นอกจากนั้นยังเป็นอุปสรรคต่อสินค้าใหม่ บริษัทจดทะเบียนใหม่ และนักลงทุนใหม่ รวมถึงกระแสเงินทุนต่างชาติด้วย