สรุปสถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศ วันที่ 3 มิ.ย. 67
1. สภาพอากาศวันนี้ : มรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังปานกลางพัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทย ประกอบกับมีหย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณประเทศเวียดนามตอนบน ทำให้ภาคเหนือ และภาคกลางมีฝนตกหนักบางแห่ง
คาดการณ์ : วันที่ 4-8 มิ.ย. 67 มรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังปานกลางพัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทย ประกอบกับมีหย่อมความกดอากาศต่ำปกคลุมบริเวณชายฝั่งประเทศเวียดนามตอนบนและอ่าวตังเกี๋ย ทำให้ประเทศไทยมีฝนตกหนักบางแห่ง และมีฝนตกหนักมากบางพื้นที่ในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ภาคกลาง และภาคตะวันออก
2.สถานการณ์น้ำอ่างเก็บน้ำในภาพรวม : ปริมาณน้ำรวม 51% ของความจุเก็บกัก (40,807 ล้าน ลบ.ม.) ปริมาณน้ำใช้การ 29% (16,632 ล้าน ลบ.ม.) การประเมินสถานการณ์แหล่งน้ำเฝ้าระวังน้ำน้อย 5 แห่งภาคเหนือ : สิริกิติ์ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ : จุฬาภรณ์ ภาคกลาง : กระเสียว ภาคตะวันตก: ศรีนครินทร์ และปราณบุรี
3.คุณภาพน้ำ : น้ำเพื่อการอุปโภค-บริโภค แม่น้ำเจ้าพระยา ณ สถานีสูบน้ำสำแล อยู่ในเกณฑ์มาตรฐานน้ำเพื่อการเกษตร
แม่น้ำท่าจีน ณ สถานีประตูระบายน้ำปากคลองจินดา อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน
แม่น้ำแม่กลอง ณ สถานีอัมพวา อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน
แม่น้ำบางปะกง ณ สถานีวัดบางคาง อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน
4.ประกาศสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ
ประกาศ สทนช. ฉบับที่ 6/2567 ลงวันที่ 2 มิ.ย. 67 เฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก ในช่วงวันที่ 4 –11 มิ.ย. 67 มีพื้นที่เฝ้าระวัง ดังนี้
ภาคเหนือ จ.เชียงราย เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน ลำปาง พะเยา น่าน ตาก พิษณุโลก และเพชรบูรณ์
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จ.เลย หนองคาย บึงกาฬ ชัยภูมิ ขอนแก่น และอุบลราชธานี
ภาคตะวันตก จ.กาญจนบุรี ราชบุรี และเพชรบุรี
ภาคตะวันออก จ.ปราจีนบุรี ชลบุรี ระยอง จันทบุรี และตราด
ในการนี้ เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมรับมือ ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องโปรดดำเนินการ ดังนี้
4.1 ติดตามสภาพอากาศและสถานการณ์น้ำอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะพื้นที่ที่มีฝนตกสะสมมากกว่า 90 มม. ในช่วงเวลา 24 ชม. และพื้นที่จุดเสี่ยงที่เคยเกิดน้ำท่วมอยู่เป็นประจำ หรือพื้นที่ชุมชนเมืองที่เคยเกิดน้ำท่วมขังระบายไม่ทัน
4.2 เตรียมแผนรับสถานการณ์น้ำหลาก เตรียมความพร้อมบุคลากร เครื่องจักรเครื่องมือ กำจัดสิ่งกีดขวางทางน้ำ ลอกท่อระบายน้ำ และบูรณาการความพร้อมให้ความช่วยเหลือได้ทันที
4.3 ประชาสัมพันธ์สถานการณ์น้ำ และแจ้งเตือนล่วงหน้า ให้ประชาชนที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบ เตรียมพร้อมในการอพยพได้ทันท่วงทีหากเกิดสถานการณ์
5.แนวทางการบริหารจัดการน้ำ
เมื่อวันที่ 30 พ.ค. 67 นายไพฑูรย์ เก่งการช่าง รองเลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ เข้าร่วมการประชุมคณะกรรมการสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ ครั้งที่ 2/2567 พร้อมด้วยหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ณ ห้องประชุม ชั้น 9 สสน. เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร เพื่อรับทราบผลการดำเนินงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ ผลการจัดงาน “รู้น้ำ รู้อากาศ รู้ทันภัยแล้ง” การวิเคราะห์และคาดการณ์สถานการณ์น้ำ ปี 2567 การสนับสนุนการปฏิบัติงานของหน่วยปฏิบัติการจัดการทรัพยากรน้ำชั่วคราวในภาวะวิกฤติ สทนช. และแผนปฏิบัติการ พ.ศ. 2567 ของ สสน. ที่ได้ปรับปรุงให้สอดคล้องกับพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 รวมทั้งพิจารณา (ร่าง) บันทึกความเข้าใจ เรื่องความร่วมมือทางวิชาการด้านวิทยาศาสตร์บรรยากาศ ระหว่าง สสน. และสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) โดยเน้นการชี้เป้าการเกิดฝนและการแก้ไขปัญหาฝุ่น pm 2.5
ข่าวที่เกี่ยวข้อง : สรุปสถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศ วันที่ 2 มิ.ย. 67