“บ้านมะขาม” พลิกวิกฤติสู่รายได้หลักร้อยล้าน
เส้นทางแห่งการประสบความสำเร็จของแต่ละคน แต่ละธุรกิจมีความแตกต่างกันไป บ้างก็ถูกปูพรหมเอาไว้สวยหรูให้ก้าวเดินอย่างสบายด้วยต้นทุนที่ดี ขณะที่บางรายต้องผจญกับอุปสรรคขวากหนามมากมายระหว่างทางให้ฝ่าฟันกว่าจะถึงเส้นชัยแห่งความสำเร็จ
“นิวัฒน์ โฆวงศ์ประเสริฐ” ผู้ชายที่ต้องเผชิญกับภาวะวิกฤติของชีวิตที่มาพร้อมกับวิกฤติเศรษฐกิจเมื่อปี 2540 จนถึงขั้นล้มละลาย จากการที่มีหนี้สินกับสถาบันการเงินเป็นจำนวนมาก โดยที่ไม่มีรายได้เลยแม้แต่บาทเดียว ก่อนที่จะพลิกวิกฤติสร้างโอกาสจนสามารถสร้างรายได้ทะลุ 100 ล้านบาท
จากวิกฤติสู่โอกาส
นิวัฒน์ เล่าย้อนเวลากลับไปให้ฟังว่า ตนเองนั้นเรียนจบคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ โดยเริ่มทำงานเป็นสถาปนิกออกแบบเฟอร์นิเจอร์ให้กับบริษัทเอกชนแห่งหนึ่ง แต่เมื่อทำไปได้สักระยะหนึ่งก็ต้องการออกมาทำธุรกิจเป็นของตนเอง จึงได้ตัดสินใจลาออกเพื่อมาทำธุรกิจเฟอร์นิเจอร์เป็นของตนเองในช่วงปี 2537-2538 โดยที่ธุรกิจก็ถือว่ากำลังไปได้ด้วยดี มีรายได้เข้ามาอย่างต่อเนื่อง
อย่างไรก็ดี จุดเปลี่ยนสำคัญในชีวิตของตนก็ต้องเกิดขึ้นอย่างไม่คาดฝัน เมื่อเกิดเหตุการณ์การปล่อยลอยตัวของค่าเงินบาท หรือที่เรียกว่าวิกฤติต้มยำกุ้ง จนทำให้ผู้ประกอบการธุรกิจเป็นจำนวนมากถึงกับหมดตัว ตนก็เป็นหนึ่งในนั้นที่ต้องล้มละลาย โดยเวลานั้นต้องยอมรับตามตรงว่าเกิดความกังวล เพราะตนก็มีครอบครัวที่ต้องดูแล
ทั้งนี้ ณ เวลานั้นเป็นช่วงเวลาที่ตนเองก็คิดไม่ออกว่าจะทำอะไรต่อไป แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็มีจุดเปลี่ยนมาจากพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 เกี่ยวกับหลักเศรษฐกิจพอเพียง ที่แนะนำให้มองจากสิ่งเล็กๆ ใกล้ตัว หรือสิ่งที่มีอยู่แล้วมาทำต่อยอดให้เกิดประโยชน์แบบค่อยเป็นค่อยไป พอมีพอกินและเลี้ยงตัวเองได้
จากหลักคิดดังกล่าวถือว่าเป็นแนวทางให้ตนนึกถึงเรื่องการเกษตร เนื่องจากตนมีภรรยาที่เป็นคนจังหวัดเพชรบูรณ์ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่คนทั่วไปรับรู้ว่ามีมะขามพันธุ์ดีเป็นของขึ้นชื่อ จึงเริ่มจากจุดเล็กๆ กับภรรยานำมะขามจากพื้นที่จังหวัดเพชรบูรณ์มาจำหน่ายในตลาดวงกว้าง โดยเฉพาะในกรุงเทพฯ ซึ่งเป็นตลาดหลัก
แปรรูปมะขามเพิ่มมูลค่า
นิวัฒน์ บอกต่อไปว่า ด้วยความที่เคยเป็นนักธุรกิจมาก่อน จึงคิดต่อยอดว่าทำอย่างไรจึงจะเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าเกษตรได้ จึงมองถึงการแปรรูป โดยยึดหลักตามสูตรดั้งเดิมที่ดีอยู่แล้ว นำมาผสมผสานกับเรื่องของบรรจุภัณฑ์ หรือแพ็กเกจจิงที่ได้มาตรฐานและสวยงาม
“แรกเริ่มเลยตนก็ทำเพียงแค่แกะเม็ดมะขามออกเพื่อทำให้ผู้บริโภครับประทานได้ง่ายขึ้น จากนั้นก็นำมาใส่แพ็กเกจแล้วนำไปขาย โดยในช่วงนั้นเบเกอรี่กำลังเป็นที่นิยม ตนจึงคิดนำน้ำตาลไอซิ่งที่เป็นส่วนผสมของเบเกอรี่เข้ามาใช้จนกลายเป็นมะขามคลุกไอซิ่ง ซึ่งเป็นเจ้าแรกซึ่งเป็นเจ้าแรกที่ทำออกมาจำหน่าย โดยทำการฝากขายตามที่ต่างๆ ทั้งปั๊มน้ำมันและร้านขายของฝาก ซึ่งได้รับการตอบรับที่ดีจากลูกค้าเป็นอย่างมาก ถึงขนาดที่สินค้าผลิตแทบไม่ทัน”
เมื่อเริ่มประสบความสำเร็จ ตนจึงมองว่าจำเป็นต้องมีการสร้างแบรนด์ขึ้นมาเพื่อสินค้าจะได้มีตัวตน โดยใช้ชื่อว่า “บ้านมะขาม” ซึ่งสื่อตรงชัดเจนเพราะสินค้านั้นทำมาจากมะขาม และมีความตั้งใจแน่วแน่ว่าจะทำมะขามเพียงอย่างเดียวเป็นหลักตลอดไปจนถึงในอนาคต
“ตนมองว่าสินค้าหลายอย่างเมื่อขายดี มักจะมีคู่แข่งเข้ามาขายด้วย จนทำให้เกิดการตัดราคาซึ่งมักจะเกิดขึ้นกับสินค้าที่ไม่มีแบรนด์ เพราะผู้บริโภคจะไม่รู้สึกถึงความแตกต่างในตัวของสินค้า ทำให้ตนและภรรยาคิดว่า ถ้าจะทำธุรกิจนี้แบบจริงจังต่อไป มะขามแปรรูปจะต้องมีแบรนด์ และชื่อแรกก็คือ บ้านมะขาม”
อย่างไรก็ตาม หลังจากสร้างแบรนด์และสินค้าเริ่มติดตลาด ในปี 2544-2545 แต่สำหรับตลาดขายส่ง แม้จะสร้างเม็ดเงินได้แต่แบรนด์ก็ยังไม่เป็นที่รู้จัก ตนจึงหาช่องทางเพื่อให้แบรนด์ได้เป็นที่รับรู้ของผู้บริโภคด้วยการสร้างโลโก้สินค้าขึ้นมา ทำการตลาดเชิงรุกด้วยการออกบูธตามงานแสดงสินค้าต่างๆ ไม่เว้นแม้แต่ห้างคอนวีเนียนสโตร์ต่างๆ ที่กำลังได้รับความนิยมในช่วงเวลานั้น ทำให้แบรนด์บ้านมะขามเป็นที่รู้จักมากขึ้น
คุณภาพการผลิตได้มาตรฐาน
นิวัฒน์ บอกต่อไปว่า อีกหนึ่งจุดเปลี่ยนสำคัญคือ การเข้าไปในร้านสะดวกซื้ออย่าง 7-11 โดยในช่วงเวลานั้น 7-11 กำลังมองหาสินค้าแปลกใหม่เข้าไปขายในร้าน ตนจึงนำสินค้าไปนำเสนอ จนสุดท้ายสามารถนำมาวางขายในร้าน 7-11 ได้ในที่สุด โดยนอกจากจะเป็นการเพิ่มยอดขายให้แก่ธุรกิจแล้ว ยังถือเป็นการประชาสัมพันธ์แบรนด์บ้านมะขามให้เป็นที่รู้จักมากยิ่งขึ้น
สำหรับจุดเด่นของผลิตภัณฑ์บ้านมะขามคุณภาพของวัตถุดิบ ซึ่งมะขามเพชรบูรณ์นั้นเป็นที่รับรู้กันอยู่แล้วว่าคือมะขามหวานแท้ที่เป็นอันดับหนึ่ง ปัจจัยต่อมาคือบ้านมะขามถือเป็นเจ้าแรกที่นำมะขามมาแปรรูปได้อย่างหลากหลายและน่าสนใจ โดยมีมากถึง 60-70 ชนิดสินค้า
ทั้งยังมีกระบวนการผลิตที่ได้มาตรฐาน ซึ่งตนมุ่งเน้นว่า สำหรับสินค้าประเภทของรับประมานแล้วมาตรฐานคุณภาพเรื่องความสะอาดความปลอดภัยต้องเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด ซึ่งสินค้าของบริษัทได้ผ่านมาตรฐานสากลไม่ว่าจะเป็น อย. GMP HACCP ตลอดจนฮาลาล ซึ่งมีครบทุกอย่างเพื่อเป็นการรับประกันว่าสินค้าทุกชนิดจากบ้านมะขามได้มาตรฐานและมีคุณภาพเมื่อถึงมือผู้บริโภค และโดยเฉพาะอย่างยิ่งในตลาดของการส่งออกไปต่างประเทศ มาตรฐานเหล่านี้เป็นสิ่งที่ทางผู้ประกอบการต้องมีเป็นอันดับแรก
ด้วยคุณภาพของสินค้าและกระบวนการผลิต ตลอดจนตัวตนของแบรนด์ที่คุ้นเคยกับผู้บริโภค ทำให้บ้านมะขามประสบความสำเร็จอย่างต่อเนื่อง ยอดขายสูงในระดับเกินร้อยล้านต่อปี และแต่ละปีมียอดขายเติบโตไม่ต่ำกว่า 20-30% ซึ่งเป็นไปตามนโยบายการทำงานที่มองถึงการพัฒนาและเติบโตต่อไปเรื่อยๆ ซึ่งต้องมีการปรับตัวตามตลาด โดยในอนาคตมีแผนการตลาดที่ชัดเจนคือบุกตลาดการส่งออก เพราะมองเห็นว่ามะขามหวานไทยมีศักยภาพโดดเด่นและมีความแปลกใหม่ เป็นสินค้าน่าสนใจของตลาดต่างประเทศโดยที่ไม่มีคู่แข่ง
แนวคิดที่ทำให้บ้านมะขามประสบความสำเร็จจนสามารถสร้างยอดขายได้เกินหลักร้อยล้านบาท คือ การรักษาคุณภาพ สร้างมาตรฐานให้กับผลิตภัณฑ์ ควบคู่ไปกับการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่อยู่เสมอ เพื่อขยายฐานลูกค้า และให้ลุกค้าได้มีทางเลือกมากขึ้น นอกจากนี้ ยังพยายามเสาะหาตลาดใหม่อยู่เสมอ