หอมกลิ่นดอกไม้และสายน้ำ ย่านปากคลองผดุงกรุงเกษม

เทเวศร์ นับเป็นย่านเก่าแก่แห่งหนึ่งในเมืองกรุงฯ ที่มีความเปลี่ยนแปลงน้อยมากในรอบ 20-30 ปีที่ผ่านมา
หากย้อนกลับไปในยุคที่เรือยังเป็นพาหนะหลักของชาวกรุงฯ บริเวณริมน้ำเจ้าพระยาแถวๆ นี้ เคยเป็นจุดที่มีการค้าขายและการสัญจรทางน้ำที่คับคั่งที่สุดแห่งหนึ่งกทม. เลยทีเดียว เพราะเป็นบริเวณปากคลองผดุงกรุงเกษมด้านเหนือ เส้นทางคมนาคมที่ใช้ลัดโค้งน้ำเจ้าพระยาเข้าสู่ย่านการค้าใหญ่ใจกลางเมือง ผ่านย่านนางเลิ้ง คลองมหานาค หัวลำโพง วัดมหาพฤฒาราม ก่อนไปทะลุออกแม่น้ำเจ้าพระยาตรงปากคลองด้านใต้ ซึ่งก็คือบริเวณท่าน้ำสี่พระยาในปัจจุบันนั่นเอง
คลองผดุงกรุงเกษมนั้นเริ่มขุดและแล้วเสร็จในระหว่างสมัยรัชกาลที่ 4 (พ.ศ.2394-2397) โดยไม่มีการก่อกำแพงเมืองเลียบแนวคูเมืองเพื่อป้องกันข้าศึกเหมือนดังที่ทำกันมาแต่ก่อน เพราะวัตถุประสงค์ที่ขุดขึ้นนั้นก็ตามอย่างชื่อเรียก ผดุงกรุงเกษม ก็คือ เป็นการขยายอาณาเขตเมืองหลวง พัฒนาบ้านเมืองให้เจริญก้าวหน้า และอำนวยความสะดวกในการคมนาคมแก่บรรดาราษฎร
เมื่อเข้าสู่ช่วงกลางรัชกาลที่ 5 หรือช่วงหลังปีพ.ศ.2439 เป็นต้นมา มีการขยับขยายถนนหนทางกันอย่างขนานใหญ่ จนนำไปสู่ความนิยมในการใช้รถรากันมากยิ่งขึ้นเรื่อยๆ ในที่สุดความคึกคักริมสองฝั่งคลองผดุงกรุงเกษมก็ค่อยๆ เลือนหายไปช้าๆ เพราะย่านการค้าริมน้ำต่างพากันขยับขยายเข้าไปอยู่ในตัวเมืองกันแทบหมดสิ้น
ต้องเท้าความเป็นมาของคลองผดุงฯ เช่นนี้ก็เพื่อต้องการให้เห็นภาพอดีตอันรุ่งเรืองของย่านเทเวศร์ ซึ่งยังปรากฏร่องรอยตามอาคารร้านค้าและวังเก่าหลายแห่ง
ถ้าตั้งต้นเส้นทางเดินจากบริเวณเชิงสะพานวิศสุกรรมนฤมาณ (ตรงจุดต่อระหว่างถนนราชสีมาและถนนประชาธิปไตย) แล้วมุ่งหน้าไปทางตลาดสดเทเวศร์ จุดน่าสนใจแรกสุดที่เห็นเป็นแนวกำแพงสีแดงทางด้านขวามมือนั้น คือ วังลดาวัลย์ หรือที่ชาวบ้านทั่วไปเรียกกันว่า วังแดง ปัจจุบันเป็นที่ตั้ง สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์
วังเก่ารูปแบบสถาปัตยกรรมยุโรปแห่งนี้สร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2449 ตามพระราชประสงค์ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เพื่อพระราชทานแด่สมเด็จพระเจ้า ลูกยาเธอ เจ้าฟ้ายุคลทิฆัมพร กรมหลวงลพบุรีราเมศวร์ พระราชโอรสองค์ที่ 41 เมื่อครั้งทรงสำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ประเทศอังกฤษ (ในกาลต่อมาได้เป็นต้นราชสกุลยุคล)
จากวังแดงเดินหน้าตรงเลียบฝั่งคลองผดุงฯ ไปเรื่อยๆ อีกแค่ไม่ถึง 10 นาที ก็จะพบกับถนนสามเสน มองเห็นตลาดเทวราช หรือตลาดเทเวศร์ตามประสาชาวบ้านอยู่ยังอีกฟาก จุดที่มีความเป็นมาน่าสนใจไม่น้อยตรงนี้ ก็เห็นจะเป็น สะพานเทเวศรนฤมิตร สะพานคอนกรีตเสริมเหล็กที่เมื่อครั้นสร้างเสร็จใหม่ๆ ในปีพ.ศ.2482 นั้น เคยมีราวสะพานเป็นเหล็กหล่อ แต่มาถูกปรับปรุงเสียจนไม่เหลือเค้าโครงเดิมก็นับตั้งแต่มีการปรับปรุงขยายผิวจราจรครั้งใหญ่ในปีพ.ศ.2518 โดยยังคงรักษาชื่อเรียกสะพานเดิมเอาไว้ ซึ่งเป็น 1 ใน 5 สะพานข้ามคลองผดุงฯ ที่เคยได้รับพระราชทานนามไว้อย่างไพเราะคล้องจองดุจเทพเจ้าสร้างว่า เทเวศรนฤมิตร วิศสุกรรมนฤมาน มัฆวานรังสรรค์ เทวกรรมรังรักษ์ จตุรภักตร์รังสฤษดิ์ (จากสี่แยกเทเวศร์>คุรุสภา>ราชดำเนิน>นางเลิ้ง>สะพานขาว)
เมื่อเดินข้ามสะพานไปยังอีกฝั่ง ก็จะพบปากทางที่มุ่งไปสู่ยังริมฝั่งน้ำเจ้าพระยา ซึ่งบริเวณริมทางเท้าข้างคลองวันนี้ก็ยังคงเป็นแหล่งขายไม้ดอกไม้ประดับเหมือนเช่นที่เคยเป็นมานานหลายสิบปี ตลาดต้นไม้แห่งนี้นับเป็นตลาดสีเขียวที่เก่าแก่ที่สุดแห่งหนึ่งในกทม. เลยก็ว่าได้ และยังคงอุดมไปด้วยพันธุ์ไม้อันงดงามน่าตื่นตามากมายให้ได้เดินละเลียดชมไปทีละร้าน ก่อนไปสุดทางกันตรงท่าเรือเทเวศร์ หรือบริเวณปากคลองผดุงฯ ซึ่งเคยคึกคักมากในสมัยอดีต ปัจจุบันยังพอมีอาคารห้องแถวโบราณอายุนับศตวรรษหลงให้เห็นอยู่บ้าง แต่เหลือน้อยเต็มทีแล้ว
จุดสนใจที่ดูโดดเด่นที่สุดในบริเวณแถวนั้น ก็เห็นจะเป็นอาคารเก่าแก่ทรงยุโรป ๒ ชั้นตรงสุดปลายทางฝั่งซ้ายมือ ตกแต่งหน้าต่างชั้นบนเป็นซุ้มโค้งกลมประดับกระจกเป็นรัศมีพระอาทิตย์ครึ่งดวง สนามวงกลมด้านหน้าประดับด้วยตุ๊กตาปูนปั้นแบบกรีก ซึ่งครั้งหนึ่งเคยเป็น วังพลตรี พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระจันทบุรีนฤนาถ ปัจจุบันมีสภาพกึ่งร้าง สามารถเดินเข้าไปชมและถ่ายภาพเป็นที่ระลึกบริเวณลานด้านหน้าตัวอาคารได้
เมื่อเดินมาถึงยังจุดสุดทางตรงบริเวณท่าเรือเทเวศร์ ก็จะได้พบกับจุดชมวิวริมน้ำเจ้าพระยาที่สวยที่สุดแห่งหนึ่งในกทม. ช่วงบ่ายแก่ๆ สายแดดอ่อนๆ เราสามารถนั่งเรือข้ามฟากไปเที่ยวชมวัดเก่าแก่ยังอีกฝั่งแม่น้ำซึ่งอยู่ในเขตบางยี่ขันได้ โดยมีอยู่ 2 ทางเลือกด้วยกัน หากขึ้นเรือข้ามฟากจากท่าเรือหลักริมน้ำเจ้าพระยา จะเป็นเรือข้ามฟากไปยังท่าน้ำวัดคฤหบดี แต่ถ้าเลือกใช้บริการเรือขนาดลำเล็กกว่าตรงท่าเรือบริเวณปากคลองผดุงฯ จะเป็นเรือข้ามฟากไปยังท่าน้ำวัดบวรมงคล
ถ้าเลือกไม่ถูก ก็ใช้บริการเวียนไป-กลับทั้ง 2 ท่าเลยก็ได้ เพราะท่าเรือทั้งสองนั้นอยู่ห่างกันไม่มากนัก สามารถเดินลัดตรอกเลียบแม่น้ำถึงกันได้ ยังไงก็อย่าลืมเผื่อเวลาขึ้นเรือกลับมายังท่าเทเวศร์ เพื่อหาร้านอร่อยๆ นั่งชมวิวดวงอาทิตย์ลับขอบฟ้าหลังสะพานพระราม 8 ก็แล้วกัน
สำหรับไฮไลท์บนอีกฟากฝั่งน้ำนั้นอยู่ที่วัดบวรมงคลราชวรวิหาร ถ้าใครได้เข้าไปเที่ยวชมแล้วก็คงจะได้เห็นว่า ที่นี่เป็นพระอารามหลวงชั้นตรีอีกแห่งในเขตกทม. ที่มีองค์พระพุทธรูปเรียงรายรอบอุโบสถ 108 องค์ คล้ายกับวัดโพธิ์ฯ วัดเบญจมบพิตร วัดสุทัศน์ฯ และวัดอรุณฯ ทว่างานปั้นพระพุทธรูปอาจดูไม่ประณีตอลังการเท่า อย่างไรก็ดีตามพระราชพงศาวดารนั้นระบุว่า วัดแห่งนี้นั้นมีอายุเก่าแก่นับกว่า 2 ศตวรรษแล้ว เพราะสร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 2 (ระหว่างปีพ.ศ.2352) เพื่อใช้เป็นที่ประกอบศาสนกิจแก่ชาวรามัญ(มอญ)ที่เข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภารในยุคนั้น โดยเป็นที่รู้จักกันแต่ดั้งเดิมว่า วัดลิงขบ เนื่องจากบริเวณพื้นที่รายรอบในขณะนั้นเป็นพงไพรที่มีลิงอาศัยอยู่เต็มไปหมด
หลายคนอาจจะรู้สึกคุ้นๆ กับชื่อนี้พอสมควร เพราะเคยถูกเอ่ยถึงบนเวทีตลกคาเฟ่อยู่บ่อยๆ แต่น้อยคนจะรู้ว่า วัดลิงขบนั้นมีอยู่จริงๆ ซึ่งก็คือวัดบวรมงคลแห่งนี้นั่นเอง.