วัดจามเทวีแห่งเมืองลำพูน
จังหวัดลำพูน เป็นจังหวัดที่มีขนาดเล็กในภาคเหนือ เป็นเมืองที่มีประวัติศาสตร์เก่าแก่และยิ่งใหญ่ที่สุดในล้านนา ซึ่งจากพงศาวดารเมืองแห่งนี้เคยเป็นที่ตั้งของนครหริภุญชัย อันเป็นเมืองโบราณที่มีอายุราว 1,343 ปี
ซึ่งหากเคยได้ยินคำขวัญของจังหวัดนี้ที่กล่าวถึง “จามเทวีศรีหริภุญชัย” ก็คงคุ้นเคยกับชื่อของนครหริภุญชัยและกษัตรีแห่งเมืองนามพระนางจามเทวี โดยนักท่องเที่ยวหลาย ๆ คนเมื่อเดินทางมายังจังหวัดนี้แล้ว ก็ไม่พลาดที่จะแวะเยี่ยมชม นมัสการสิ่งศักดิ์สิทธิ์ และเรียนรู้ประวัติศาสตร์ของเมืองที่วัดจามเทวี
วัดจามเทวี หรือที่คนทั่วไปมักเรียกขานว่า “วัดกู่กุด” ตั้งอยู่บนถนนจามเทวี ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดลำพูน วัดแห่งนี้ เป็นวัดเก่าแก่ตั้งแต่สมัยล้านนา มีเนื้อที่กว่า 12 ไร่ จุดเด่นของวัดอยู่ที่พระเจดีย์สุวรรณจังโกฎิ หรือพระเจดีย์จามเทวี ซึ่งเป็นเจดีย์สี่เหลี่ยมแบบพุทธคยา ประเทศอินเดีย สร้างขึ้นเมื่อประมาณปี พ.ศ.1298 โดยฝีมือของช่างชาวละโว้ ที่แต่ละด้านมีพระพุทธรูปยืนปางประทานพรประดิษฐานอยู่ในซุ้ม ด้านละ 15 องค์ รวมทั้งสิ้น 60 องค์ ยอดของเจดีย์หุ้มด้วยทอง ภายในบรรจุอัฐิของพระนางจามเทวี ผู้เป็นปฐมกษัตริย์ แห่งแคว้นหริภุญชัย
ซึ่งตามตำนานได้กล่าวว่า มีฤๅษีตนหนึ่งไปพบกับเด็กทารกหญิง ที่ถูกพญานกคาบมาทิ้งไว้บนบัวหลวง จึงได้เก็บเด็กทารกนั้นมาเลี้ยงดู พร้อมทั้งสั่งสอนวิทยาการต่างๆให้ ครั้นเมื่อเด็กหญิงอายุได้ 13 ปี ฤๅษีได้ต่อนาวายนต์ให้กับเด็กหญิงพร้อมด้วยฝูงวานรที่ไปเป็นบริวารลอยไปตามลำน้ำ เมื่อถึงท่าน้ำวัดชัยมงคล พระเจ้ากรุงละโว้และพระมเหสีทรงเห็นเข้า จึงได้รับเด็กหญิงเข้ามาอยู่ในวัง โดยรับเป็นพระราชธิดา และทรงประทานนามให้ว่า “จามเทวีกุมารี” พร้อมทั้งให้ศึกษาวิทยาการ ไม่ว่าจะเป็นดนตรี ศิลปะ หรือแม้แต่ตำราพิชัยสงคราม จากนั้นเมื่อพระนางจามเทวีมีพระชนม์ได้ 14 พรรษา ได้อภิเษกสมรสกับเจ้าชายราม แห่งนครรามบุรี ต่อมาราวปีพ.ศ. 1204 พระนางจามเทวีได้ขึ้นเป็นปฐมกษัตริย์แห่งนครหริภุญชัย โดยได้เชิญพระแก้วขาว หรือพระเสตังคมณี จากเมืองละโว้ มาประดิษฐานยังเมืองหริภุญชัยเพื่อเป็นพระคู่บ้านคู่เมือง
พระนางจามเทวีมีพระโอรส 2 พระองค์ ได้แก่ พระเจ้ามหันตยศ และพระเจ้าอนันตยศ โดยหลังจากที่พระนางจามเทวีมีพระชนม์ 60 พรรษา ได้สละราชสมบัติให้กับพระโอรส ซึ่งพระเจ้ามหันตยศผู้พี่ได้ขึ้นครองเมืองหริภุญชัยแทนพระมารดา ส่วนพระเจ้าอนันตยศไปครองเมืองเขลางค์นคร ด้านพระนางจามเทวีหลังสละราชสมบัติแล้ว ได้โปรดเกล้าฯ ให้สร้างวัดจามเทวีแห่งนี้ขึ้นแล้วออกบวชชีปฏิบัติธรรมอยู่ ณ วัดแห่งนี้ จนพระชนม์พรรษาได้ 92 ปี จึงได้เสด็จสวรรคต พระเจ้ามหันตยศ และพระเจ้าอนันตยศ พระ่โอรสทั้งสองของพระนางจามเทวี จึงได้โปรดเกล้าฯ ให้จัดถวายพระเพลิงภายในวัดแห่งนี้อย่างสมพระเกียรติ จากนั้นได้สร้างเจดีย์ขึ้นเพื่อเป็นพระราชกุศล และเพื่อบรรจุอัฐิของพระราชมารดา
ในเวลาหลายร้อยปีต่อมาพระเจดีย์สุวรรณจังโกฎิได้ชำรุดผุพังไปตามเวลา โดยส่วนยอดของเจดีย์ได้หักและหายไป รวมถึงวัดได้กลายเป็นวัดร้าง เป็นเหตุให้ชาวบ้านเรียกชื่อเจดีย์นี้ว่า “กู่กุดเจดีย์” และเรียกชื่อวัดว่า “วัดกู่กุด” ซึ่งคำว่า กู่กุด เป็นภาษาล้านนา หมายถึงเจดีย์ที่ยอดด้วนนั่นเอง ต่อมาในปีพ.ศ. 2469 สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพได้เสด็จเยือนยังวัดกู่กุด และทรงโปรดให้เปลี่ยนชื่อจากวัดกู่กุด กลับมาเป็นวัดจามเทวีดังเดิม และในพ.ศ. 2479 เจ้าจักรคำขจรศักดิ์ผู้ครองนครลำพูน ได้นิมนต์ครูบาศรีวิชัยให้ท่านช่วยในการบูรณะวัดแห่งนี้อีกครั้งหนึ่ง ไม่นานนักวัดจามเทวีก็กลับมารุ่งเรืองอีกครั้ง
นอกจากพระเจดีย์สุวรรณจังโกฎิแล้ว ภายในวัดแห่งนี้ยังมีจุดเด่นอีกอย่างหนึ่ง คือ เจดีย์แปดเหลี่ยม หรือ รัตนเจดีย์ ที่สร้างขึ้นในราวพุทธศตวรรษที่ 17 ซึ่งเจดีย์ดังกล่าวมีลักษณะฐานล่างเป็นรูปแปดเหลี่ยมซ้อนกันลดหลั่นกันไป มีเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 4.40 เมตร ความสูงจากฐานจรดยอด 11.50 เมตร ส่วนองค์เจดีย์มีลักษณะเป็นสี่เหลี่ยม แต่ละเหลี่ยมเจาะเป็นซุ้ม ภายในประดิษฐานพระพุทธรูปยืนแบบก่ออิฐถือปูน นอกเหนือจากนี้ยังมีพระวิหารที่สร้างโดยครูบาศรีวิชัยซึ่งภายในมีพระแก้วมรกตที่สวยงาม กุฏิที่สร้างขึ้นจากไม่สักทองทั้งหลังก็เป็นที่ชื่นชอบของบรรดานักท่องเที่ยว รวมถึงพระอุโบสถที่มีภาพวาดจิตรกรรมฝาผนังที่บอกเล่าถึงเรื่องราวของพระนางจามเทวีอีกด้วย
การเดินทางไปยังวัดจามเทวี หากมาจากตัวเมืองลำพูน สามารถขับรถไปตามถนนสายลำพูน – ริมปิง ผ่านไปทางโรงพยาบาลลำพูน ซึ่งเมื่อขับออกนอกตัวเมืองไปประมาณ 1 กิโลเมตร ก็จะพบกับวัดจามเทวีอยู่ทางด้านซ้ายมือ
พระนางจามเทวี ถือเป็นกษัตริย์ที่เปี่ยมไปด้วยคุณธรรม และความสามารถ รวมถึงพระนางยังเป็นผู้หนึ่งที่นำศิลปวัฒนธรรมและศาสนาพุทธเข้ามาเผยแพร่ในดินแดนแถบภาคเหนือ ที่ปัจจุบันยังคงแสดงให้เห็นถึงความรุ่งเรืองและมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว ดังนั้นสำหรับผู้ที่สนใจประวัติศาสตร์เรื่องราวของพระนางจามเทวีปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์จาม นครหริภุญชัย ก็ไม่ควรพลาดที่จะหาเวลาว่างเดินทางมาเที่ยวจังหวัดลำพูนดูสักครั้ง