“อุทยานปะการังตุบบาตาฮา” มรดกโลกแห่งฟิลิปปินส์

สำหรับผู้ที่ชื่นชอบกิจกรรม Scuba Diving หรือการดำน้ำลึก คงมีสถานที่ที่ต้องไปให้ได้อยู่ในใจอย่างน้อย 2-3 ที่ อาทิ สิปาดัน ประเทศอินโดนีเซีย ควีนส์แลนด์ ประเทศออสเตรเลีย หรือแม้แต่หมู่เกาะสุรินทร์ของไทย
ซึ่งเป็นที่รู้จักของนักดำน้ำทั่วโลก แต่ถ้าพูดถึงสถานที่ดำน้ำในแบบมรดกโลกที่สามารถชื่นชมความสวยงามของปะการังและสัตว์ทะเลนานาพันธุ์ไปได้พร้อม ๆ กันคงต้องลองเพิ่มลิสต์ของประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียนอย่างฟิลิปปินส์เข้าไปด้วย เพราะไม่ต้องลงทุนไปไหนไกลแต่ได้สัมผัสกับความงามระดับเวิลด์คลาส
ประเทศฟิลิปปินส์มีสถานที่ท่องเที่ยวที่ได้ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกทั้งหมด 6 แห่งด้วยกัน และเมื่อพูดถึงอุทยานปะการังตุบบาตาฮา (Tubbataha Reefs Natural Park) ซึ่งเป็นหนึ่งในนั้น นักดำน้ำหลายคนอาจจะร้องอ๋อ เพราะอุทยานที่ว่านี้เป็น 1 ใน 9 ของมรดกโลกทางทะเล ซึ่งมีความสวยงาม และมีความอุดมสมบูรณ์ทางธรรมชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งปะการังที่ได้รับการเสนอชื่อให้เป็น 1 ใน 7 สิ่งมหัศจรรย์ทางธรรมชาติ
“ตุบบาตาฮา” มาจากภาษาซามาล (Samal) หมายถึง แนวปะการังยาวที่จะเผยให้เห็นยามน้ำลง ตุบบาตาฮาถูกค้นพบในปีค.ศ.1970 โดยนักดำน้ำ ทว่าในปีค.ศ. 1980 ตัวเลขที่เพิ่มขึ้นของชาวประมงฟิลิปปินส์และการเข้ามาใกล้เขตน่านน้ำบริเวณดังกล่าว ทำให้สัตว์น้ำมีแนวโน้มที่จะมีปริมาณลดลง และในปีค.ศ. 1988 เพื่อเป็นการตอบสนองแคมเปญรณรงค์ของบรรดานักดำน้ำ และนักอนุรักษ์ รวมถึงหน่วยงานการปกครองท้องถิ่นของปาลาวัน ทำให้คอราซอน อาคิโน (Corazon Aquino) ประธานาธิบดีฟิลิปปินส์ในขณะนั้นต้องประกาศให้ตุบบาตาฮาเป็นอุทยานทางทะเลแห่งชาติ และหลังจากนั้นได้กลายเป็นที่รู้จักในฐานะแนวปะการังที่สวยงามน่าจดจำ ซึ่งเว็บไซต์ท่องเที่ยวของ CNN อย่าง cnngo.com ยังได้จัดอันดับให้ติด 1 ใน 8 ของสถานที่ที่น่าไปเที่ยวเพื่อดำน้ำของโลก

อุทยานปะการังตุบบาตาฮา เป็นเขตสงวนพันธุ์นกและสัตว์ทะเลของประเทศฟิลิปปินส์ ครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 970 ตารางกิโลเมตร ตั้งอยู่กลางทะเลซูลู (Sulu) ซึ่งอยู่ทางตะวันออกเฉียงใต้ของเมืองปวยร์โตปรินเซซา (Puerto Princesa City) จังหวัดปาลาวัน (Palawan) อุทยานแห่งนี้มีลักษณะเป็นเกาะรูปวงแหวน อันเกิดจากหินปะการังขนาดใหญ่ 2 เกาะ ได้แก่ เกาะวงแหวนเหนือ ซึ่งมีขนาดกว้าง 5 กิโลเมตร ยาว 16 กิโลเมตรเป็นพื้นที่ทำรังของเต่าทะเลและนกที่อาศัยอยู่บนเกาะ บริเวณขอบด้านตะวันตกเฉียงใต้มีสถานีสำหรับนักท่องเที่ยวตั้งอยู่ รวมถึงฝั่งเกาะวงแหวนเหนือนี้มีปะการังที่ก่อตัวเป็นกำแพงสูงถึง 100 เมตรอีกด้วย ส่วนเกาะวงแหวนใต้ กว้าง 3 กิโลเมตร ยาว 5 กิโลเมตรทางตอนเหนือของเกาะมีแนวหินที่เรียกว่าหินดำทอดยาว และจุดปลายสุดของตอนใต้เป็นที่ตั้งของประภาคารตุบบาตาฮา โดยระหว่างเกาะวงแหวนเหนือและใต้จะถูกแยกออกจากกันด้วยช่องแคบที่มีความกว้างประมาณ 8 กิโลเมตร ซึ่งมีทะเลสาบและเกาะทรายขนาดเล็กอยู่ตรงกลาง
ความอุดมสมบูรณ์อันน่าอัศจรรย์ของอุทยานแห่งนี้ ถือเป็นศูนย์กลางความอุดมสมบูรณ์ทางชีวภาพทางทะเลในภูมิภาคอาเซียน โดยเฉพาะความอุดมสมบูรณ์ของปะการัง เนื่องจากอุทยานปะการังตุบบาตาฮา ตั้งอยู่บริเวณจุดศูนย์กลางของสามเหลี่ยมปะการัง (Coral Triangle) ซึ่งเป็นพื้นที่ที่แนวปะการังเชื่อมติดกันเป็นรูปสามเหลี่ยมครอบคลุมพื้นที่ 5.7 ล้านตารางกิโลเมตรระหว่างน่านน้ำของประเทศต่าง ๆ ได้แก่ อินโดนีเซีย มาเลเซีย ปาปัวนิวกีนี ติมอร์เลสเต หมู่เกาะโซโลมอน และฟิลิปปินส์ โดยปะการังในพื้นที่ดังกล่าว คิดเป็นสัดส่วนถึง 1 ใน 3 ของปะการังทั้งหมดบนโลก และมีความหลากหลายของชีวภาพทางทะเล โดยคิดเป็นสายพันธุ์ปะการังต่าง ๆ ถึงร้อยละ 70 ของโลก และสายพันธุ์ของปลาตามแนวปะการังคิดเป็นร้อยละ 40
จากการเข้าไปสำรวจพื้นที่อุทยานของนักวิทยาศาสตร์ ยังพบว่าพื้นที่บริเวณดังกล่าวเป็นถิ่นอาศัยของสัตว์ชนิดต่าง ๆ ได้แก่ ปลาไม่ต่ำกว่า 600 สายพันธุ์ อาทิ ปลาการ์ตูน ปลานโปเลียน ปลานกแก้ว ปลาไหลมอเรย์ ปลากระเบนแมนตา และปลาสิงโต เป็นต้น ฉลาม 11 สายพันธุ์ ปลาโลมาและปลาวาฬไม่ต่ำกว่า 13 สายพันธุ์ นกไม่ต่ำกว่า 100 สายพันธุ์ รวมถึงสถานที่แห่งนี้ยังเป็นที่วางไข่ของเต่ากระและเต่าตนุอีกด้วย

ที่อุทยานปะการังตุบบาตาฮา นักท่องเที่ยวสามารถเดินทางมาดำน้ำได้เพียงแค่ 3 เดือนเท่านั้นในแต่ละปี ซึ่งช่วงเวลาดังกล่าวคือ ตั้งแต่กลางเดือนมีนาคมถึงกลางเดือนมิถุนายน โดยเจ้าหน้าที่จะทำการแจ้งข้อควรปฏิบัติให้กับนักท่องเที่ยวที่มาทุกครั้ง พร้อมกับแจกของที่ระลึกและใบปลิวความรู้เกี่ยวกับอุทยาน ค่าธรรมเนียมสำหรับนักท่องเที่ยวอยู่ที่ 3,000 เปโซต่อคน การเดินทางสามารถเดินทางจากกรุงมะนิลาโดยเครื่องบินมายังสนามบินปวยร์โต ปรินเซซา และนั่งรถต่อมายังท่าเรือ เพื่อขึ้นเรือมายังอุทยาน โดยใช้เวลาจากสนามบินมายังอุทยานทั้งสิ้นประมาณ 10 ชั่วโมง เรือท่องเที่ยวส่วนใหญ่จะนิยมให้นักท่องเที่ยวเดินทางออกจากปวยร์โต ปรินเซซาหลังรับประทานอาหารเย็น เพื่อให้เดินทางมาถึงอุทยานในเวลาเช้าพอดี ดังนั้นหากใครที่วางแพลนจะมาดำน้ำที่อุทยานตุบบาตาฮาแห่งนี้แล้วล่ะก็ คงต้องวางแผนในการเดินทางทั้งเรื่องเที่ยวบินและที่พักให้ดี เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาความเหนื่อยล้าในการเดินทาง เพราะถ้ามาผิดเวลาก็อาจจะไม่ได้ชื่นชมความสวยงามใต้ทะเลได้
สำหรับคนที่มีแผนจะเดินทางมาเที่ยวฟิลิปปินส์แต่ยังไม่รู้จะไปที่ไหนดี อาจจะลองเพิ่มอุทยานทางทะเลแห่งนี้เข้าไปในรายการดูก็ได้ ไม่แน่ว่าหากได้ลองมาเยือนแล้วอาจจะหลงใหลจนต้องกลับมาอีกก็เป็นได้.