“Cocochic” กระเป๋าสำหรับลูกค้าทุกคน
การสร้างแบรนด์ขึ้นมาแบรนด์หนึ่งอาจจะเป็นเรื่องง่าย แต่การจะทำให้แบรนด์ติดตลาดได้นั้นไม่ใช่เรื่อง่ายเลย เพราะนั่นหมายถึงการเข้าไปนั่งอยู่ในใจของผู้บริโภค ด้วยคุณภาพผสมผสานกับราคาที่ตอบโจทย์ และตอบสนองความต้องการใช้งานอย่างแท้จริงได้เป็นอย่างดี
แบรนด์ “โคโค่ชิค” (Cocochic) เป็นหนึ่งแบรนด์ที่ถูกสร้างขึ้นมาโดย “บุญญพัฒน์ บัวสกุลพัฒน์” ซึ่งมีแนวคิดการทำตลาดที่อาจจะไม่เหมือนใคร แต่กลับได้ผลลัพธ์ที่สุดยอดอย่างคาดไม่ถึงจากผู้บริโภคที่เข้ามาเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ จนสามารถ “Start up” ธุรกิจขึ้นมาได้ และขยายออกไปได้อย่างงดงาม
-ปรับเปลี่ยนธุรกิจ
บุญญพัฒน์ ในฐานะ ผู้ถือหุ้น บริษัท โฟลอาร์ต จำกัด บอกว่า ธุรกิจที่ตนเองทำอยู่ในปัจจุบันคือการจำหน่ายกระเป๋าสำหรับสุภาพสตรี เป็นกระเป๋าที่ใช้เก็บของจุ๊กจิ๊กอย่างเครื่องสำอาง หรือของใช้ต่างๆ ที่มีขนาดไม่ใหญ่มาก โดยที่จุดเริ่มต้นแห่งประกายไอเดียในการทำธุรกิจนี้มาจากการที่เดิมทีตนเองนั้นรับจ้างผลิตเสื้อผ้า (OEM) ส่งให้กับลูกค้าที่ออเดอร์เข้ามา แต่ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาแรงงานกลุ่มที่เคยเป็นลูกจ้างในโรงงานได้มีการย้ายฐานการผลิตออกไปหมด ซึ่งตอนนั้นทำให้หลายโรงงานต้องปิดตัวลงไป
ทั้งนี้ ในช่วงเวลานั้นตนเลยลองมานั่งคิดในการหาทางปรับเปลี่ยนโอกาสทางธุรกิจให้เกิดขึ้นมา โดยตนได้เปลี่ยนรูปแบบธุรกิจมาทำอย่างอื่นเลย ซึ่งตนเลือกที่จะทำกระเป๋าของสุภาพสตรี โดยเลือกเปิดตัวผลิตภัณฑ์อย่างอลังการด้วยการเช่าพื้นที่ของห้างใหญ่ใจกลางเมืองอย่าง เอ็มควอเทียร์ (EmQuartier) ซึ่งในช่วงเริ่มต้นมีเพียงแบบเดียวเท่านั้นให้เลือก เพื่อเป็นการสำรวจตลาดให้รู้ไปเลยว่าลูกค้าชอบผลิตคภัณฑ์แบบไหน
ตนเปิดบูธอยู่ประมาณ 5 วัน ตรงข้ามกับร้านกระเป๋าแบรนด์เนมยี่ห้อหนึ่ง ทำให้ตนได้รับความคิดเห็นจากลูกค้ากลับมามากมาย หลังจากนั้นตนก็นำความคิดเห็นเหล่านั้นกลับมาพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้มีหลายขนาด และเพิ่มสีเข้ามาอีก 1 สีเพื่อเพิ่มทางเลือกให้กับลูกค้า
“วิธีของตนในการเปิดตัวผลิตภัณฑ์คือต้องการทำอย่างไรให้ปัง ตนเลยไปแจ้งเกิดกลางเมืองใจกลางสุขุมวิท ซึ่งเป็นกลุ่มของผู้ที่ค่อนข้างมีรายได้ดี เพื่อดูว่ากลุ่มลูกค้าต้องการคุณภาพระดับไหน ราคาแบบนี้กับคุณภาพแบบนี้จะซื้อหรือไม่ เพื่อที่เราจะพัฒนาผลิตภัณฑ์ขึ้นมาเพื่อให้ตอบโจทย์กลุ่มลูกค้าระดับนี้”
-เน้นตลาดออฟไลน์
บุญญพัฒน์ บอกต่อไปว่า กลยุทธ์การทำตลาดของบริษัทปีนี้จะสวนทางกับผู้ประกอบการรายอื่นโดยสิ้นเชิง ซึ่งส่วนใหญ่จะให้ความสำคัญกับการรุกตลาดทางด้านออนไลน์ แต่ของบริษัทจะหันมามุ่งเน้นการทำตลาดแบบออฟไลน์เป็นหลัก จากเดิมที่บริษัททำตลาดผ่านออนไลน์มาแล้วกว่า 10 ปีทั้งผ่านช่องทางของเว็บ อะเมซอน (www.Amazon.com) และอีเบย์ (ebay)
สำหรับการกลับกลยุทธ์ดังกล่าวนั้น เกิดจากแนวคิดและวิสัยทัศน์ของตนที่เล็งเห็นแล้วว่าผู้ประกอบการส่วนใหญ่เข้ามาสู่ตลาดออนไลน์กันมากขึ้น ทำให้ตลาดการแข่งขันรุนแรงมากกว่าที่ผ่านมา แต่ในขณะเดียวกันกลับเพิ่มพื้นที่ทางการตลาดออฟไลน์ให้เปิดกว้าง และมีคู่แข่งลดลง อีกทั้งส่วนใหญ่ช่องทางการจำหน่ายของบริษัทยังอยู่ในห้างสรรพสินค้า เช่น สยามพารากอน ,ไอคอนสยาม ,เอ็มโพเรี่ยม และเอ็มควอเทียร์ เป็นต้น ซึ่งตนมองว่าวิธีการดำเนินชีวิตของผู้บริโภคคนไทย และชาวต่างชาติที่เดินทางเข้ามาจะนิยมจับจ่ายใช้สอยในห้างสรรพสินค้าเป็นหลัก ด้วยความสะดวกสบายหลายปัจจัย
“ห้างสรรพสินค้าของไทยจะมีความแตกต่างจากของต่างประเทศ ซึ่งส่วนใหญ่จะเน้นจำหน่ายสินค้าเพียงอย่างเดียว แต่ของประเทศไทยจะมีทั้งร้านอาหาร รวมถึงร้านให้ซื้อวัตถุดิบในการประกอบอาหาร และอาหารสำเร็จรูปกลับไปรับประทานที่บ้าน หรือภายในห้างฯ พร้อมทั้งสถานที่พักผ่อน ทำให้ผู้บริโภคจำนวนมากเลือกที่จะเข้ามาใช้บริการ”
อย่างไรก็ดี ตนยังมีแผนที่จะสร้างองค์กรให้เป็นรูปธรรมมากขึ้น เพื่อการบริหารจัดการสต็อกที่เป็นระบบ จากเดิมที่ตนจะต้องทำหน้าที่ทั้งนับสต็อก และเจรจาธุรกิจ พร้อมกับว่าจ้างผู้รับส่งผลิตภัณฑ์ไปยังจำจำหน่ายต่างๆ ของแบรนด์ที่ประจำอยู่โดยเชื่อว่าจะทำให้การทำตลาดของบริษัทมีประสิทธิภาพ จากช่องว่างทางการตลาดที่ถูกเติมเต็มเข้ามาดังกล่าว ซึ่งบางห้างฯบริษัทยังไม่สามารถส่งผลิตภัณฑ์ไปเติมให้เต็มจำนวนได้
-กระเป๋าของลูกค้า
บุญญพัฒน์ บอกอีกว่า จากกลยุทธ์การทำตลาดดังกล่าว เชื่อว่าจะทำให้บริษัทมีรายได้อยู่ที่ประมาณ 2 ล้านบาทในปีนี้ โดยจุดเด่นของผลิตภัณฑ์แบรนด์ Cocochic การเป็นกระเป๋าผ้าที่มีขนาดให้เลือก 3 ขนาด ได้แก่ เล็ก ,กลาง ,ใหญ่ โดยจะมีให้เลือกเพียงแค่ 2 สี คือ ขาวและดำ ซึ่งสิ่งสำคัญที่ทำให้ลูกค้าสนใจเข้ามาเลือกซื้อก็คือ ตัวอักษรบนกระเป๋าที่จะมีตั้งแต่ A-Z โดยที่ลูกค้าสามารถเลือกซื้อให้กับตนเองตามชื่อ และเลือกซื้อเป็นของฝากให้กับบุคคลอื่นได้แบบตั้งใจ และมีคุณค่ากับผู้รับ เพราะมีตัวอักษรที่ตรงกับชื่อระบุชัดเจน
นอกจากนี้ กระเป๋าของแบรนด์ยังยังมีให้เลือกมากกว่า 160 แบบ (SKU) ด้วยทางเลือกที่มีเป็นจำนวนมากทำให้มีโอกาสในการจำหน่ายมากกว่า อีกทั้งด้วยราคาที่ไม่สูงจนเกินไป สูงสุดราคาอยู่ที่ประมาณ 700 บาท ทำให้สามารถซื้อได้ครั้งละหลายใบโดยไม่ต้องพิจารณามาก และเข้าถึงกลุ่มลูกค้าได้ทุกระดับ
“กระเป๋าของแบรนด์จะเป็นรูปแบบกระเป๋าใบไม่ใหญ่มากสำหรับใส่ด้านในกระเป๋าอีกทีหนึ่ง ทำให้สามารถเข้าได้กับกระเป๋าถือทุกแบรนด์ที่ผู้ซื้อเลือกใช้โดยไม่ไปบดบังภาพลักษณ์ของกระเป๋าไม่ว่าจะเป็นแบรนด์ใดก็ตาม เวลาที่ลูกค้าเปลี่ยนกระเป๋าถือใบใหม่ แต่กระเป๋าของแบรนด์ก็ยังใช้คู่กันได้อยู่ หรือเรียกว่าไม่ได้เป็นคู่แข่งกับแบรนด์ใดในตลาด”
บุญญพัฒน์ ปิดท้ายว่า แนวคิดของแบรนด์ Cocochic ก็คือ การเป็นกระเป๋าของลูกค้าทุกคน ไม่ใช่ของบริษัท ด้วยตัวอักษรตั้งแต่ A-Z ที่แสดงอยู่ เสมือนเป็นตัวแทนของชื่อลูกค้าในนั้น โดยส่งผลทำให้ง่ายต่อการตัดสินใจซื้อให้ตนเอง และเพื่อเป็นของฝาก ซึ่งก่อนหน้านี้แบรนด์เคยนำเทคโนโลยีนาโนมาปรับใช้เหมือนกัน แต่ดูเหมือนว่าจะไม่เหมาะกับประเภทของการใช้งาน เพราะลูกค้าผู้หญิงจะคำนึงถึงแต่ความสวยงามมากกว่า.