รัฐปรับแผนรับมือวิกฤติพลังงาน หวั่นสถานการณ์ยูเครนยืดเยื้อ
สงครามที่เกิดขึ้นระหว่างยูเครน กับ รัสเซีย ที่ดำเนินมานานกว่า 20 วัน มีการเจรจากันไปแล้ว 3 ครั้ง แต่ยังไม่ได้ข้อยุติ สงครามครั้งนี้บานปลายไปสู่ปัญหาเศรษฐกิจที่กระทบไปทั่วโลก โดยเฉพาะราคาพลังงานทั้งราคาน้ำมันในตลาดโลก รวมทั้งราคาก๊าซธรรมชาติที่เป็นต้นทุนสำคัญในการผลิตไฟฟ้าก็ปรับขึ้นไปอย่างรวดเร็วและมีความผันผวนของราคาที่ยากสำหรับการบริหารจัดการ
โดยราคาน้ำมันดิบเบรนท์ปรับขึ้นไปอยู่ระดับ 130 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อบาร์เรล ก่อนที่จะปรับลงมาในคืนวันที่ 9 มี.ค.ถึง 12% และปรับขึ้นไปอยู่ที่ระดับ 120 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อบาร์เรล ทำให้ราคาน้ำมันปรับขึ้นลงหลายครั้งในรอบสัปดาห์ ส่วนราคาก๊าซธรรมชาติปรับสูงขึ้นจากระดับ 38 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อล้านบีทียูเมื่อต้นสัปดาห์มาอยู่ที่ 80 – 90 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อล้านบีทียูซี่งเป็นการปรับขึ้นสูงสุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์หลังจากที่รัสเซียระงับการส่งก๊าซนอร์ทสตรีมเข้าสู่ยุโรป และสหรัฐฯคว่ำบาตรการซื้อน้ำมัน และก๊าซจากรัสเซีย
ปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้นทำให้รัฐบาลต้องมีการประชุมปรับแผนรับมือวิกฤติที่เกิดขึ้นและมีมาตรการ แนวทางเบื้องต้นที่จะออกมาดูแลสถานการณ์ราคาพลังงานในประเทศใหม่ทั้งหมดเนื่องจากแผนการบริหารวิกฤติที่เคยมีอยู่ไม่สามารถรับมือกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในปัจจุบันได้
ในสัปดาห์ที่ผ่านมาในการประชุมคณะกรรมการชุดสำคัญๆตั้งแต่การประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) การประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) รวมทั้งการประชุมคณะที่ปรึกษาของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มีการหารือกันในเรื่องสำคัญคือการรับมือผลกระทบจากสงครามยูเครน รัสเซีย ซึ่งมีสาระสำคัญในหลายเรื่องที่สามารถสรุปได้ดังนี้
1.การปรับแผนรับมือวิกฤติราคาน้ำมันของประเทศ จากเดิมที่มีแผนการรับมือวิกฤติน้ำมันไว้ที่ระดับราคาในตลาดโลกไม่เกิน 100 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อบาร์เรลสูงขึ้นเป็น 150 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อบาร์เรล โดยแบ่งระดับการปรับแผนรับมือเป็น 3 ระดับ ได้แก่ 1) ระดับราคาน้ำมันอยู่ที่ 100 – 130 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อบาร์เรล 2) ระดับราคาน้ำมันอยู่ที่ 131 – 150 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อบาร์เรล และ 3) 1) ระดับราคาน้ำมันเกินกว่า 150 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อบาร์เรล โดยแต่ระดับราคาจะมีแผนการบริหารสถานการณ์ราคาน้ำมันในประเทศแตกต่างกัน โดยเฉพาะการกำหนดราคาน้ำมันดีเซลในประเทศ จากปัจจุบันที่มีการตรึงระดับราคาดีเซลไว้ที่ไม่เกิน 30 บาทต่อลิตร
2.ขยายเพดานวงเงินกู้ของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงเพื่อรองรับวิกฤติพลังงาน จากเดิมที่กระทรวงพลังงานขออนุมัติจาก ครม.ขยายเพดานเงินกู้ฯไว้ไม่เกิน 30,000 ล้านบาท โดยมติคณะกรรมการ กพช.ที่ประชุมเมื่อวันที่ 9 มี.ค.อนุมัติการขยายเพดานเงินกู้ของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงโดยไม่กำหนดเพดาน
อย่างไรก็ตามการกู้เงินของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงจะมีความสามารถในการกู้เงินไม่เกิน 40,000 ล้านบาท เนื่องจากต้องคำนึงถึงความสามารถในการชำระคืนเงินกู้ในอนาคต รวมทั้งคำนึงถึงระดับหนี้สาธารณะของประเทศ ทั้งนี้การขยายวงเงินกู้ในกองทุนน้ำมันฯควบคู่กับการขยายระยะเวลาการชำระหนี้ให้กับคู่ค้า หรือการคงเงินสดไว้ในกองทุนน้ำมันฯมากขึ้นจะทำให้สามารถตรึงราคาน้ำมันดีเซลได้ยาวนานขึ้น โดยสิ่งที่นายกรัฐมนตรี และรองนายกรัฐมนตรี และรมว.พลังงาน สุพัฒนพงษ์ พันธุ์มีเชาว์ พูดตรงกันก็คือรัฐบาลยังพยายามที่จะตรึงราคาน้ำมันดีเซลให้ยาวนานที่สุดโดยขึ้นกับวงเงินกู้ที่กองทุนน้ำมันฯมีอยู่ประมาณ 4 หมื่นล้านบาท โดยจะตรึงราคาได้ยาวนานมากขนาดไหนขึ้นอยู่กับสถานการณ์ราคาน้ำมันในตลาดโลกหากไม่ปรับขึ้นสูงมากการตรึงราคายังสามารถทำได้ไปอีก 2 – 3 เดือน
แต่หากพบว่าสถานการณ์ยังยืดเยื้อจนทำให้ราคาน้ำมันยังคงปรับเพิ่มสูงขึ้นเช่นเกิน150 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อเบาร์เรล ที่ประชุม กพช.ได้มอบหมายให้ กระทรวงพลังงาน กระทรวงการคลัง และสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หารือกันอีกครั้งเพื่อจะออกมาตรการเสริมมาดูแลประชาชนต่อไป
3.ปรับเพิ่มการสำรองน้ำมันในประเทศเพิ่มอีก 7 วัน เพื่อรองรับวิกฤติที่อาจเกิดขึ้นโดยกรมธุรกิจพลังงานได้เตรียมแผนกรณีที่สงครามยูเครนและรัสเซียยืดเยื้อออกไปจนกระทบกับแผนการจัดหาราคาน้ำมันเชื้อเพลิง กระทรวงพลังงานจะประสานงานกับผู้ค้าน้ำมันให้เพิ่มสำรองน้ำมันดิบตามกฎหมายจากเดิมที่กำหนดให้มีการสำรองน้ำมันดิบ 4% ให้ปรับเพิ่มเป็น 4% และการสำรองน้ำมันสำเร็จรูปจากเดิม 1% เป็น 2% ซึ่งทำให้การเพิ่มสำรองน้ำมันในประเทศจากเดิมเ 61 วัน เพื่อให้มีน้ำมันพอเพียงไม่กระทบกับการดำรงชีวิตของประชาชน
กระทรวงพลังงานระบุว่าปัจจุบันประเทศไทยมีปริมาณน้ำมันดิบคงเหลือ (รวมที่อยู่ระหว่างการขนส่ง) อยู่ที่ 5,686.44 ล้านลิตร และมีปริมาณน้ำมันสำเร็จรูปคงเหลืออยู่ที่ 1,703.61 ล้านลิตร ซึ่งเพียงพอต่อความต้องการใช้น้ำมันของประเทศได้ถึง 61 วัน นอกจากนี้ บมจ.ปตท. ยังมีมาตรการเตรียมพร้อมจัดหาน้ำมันดิบเพิ่มเติมอีก 635.94 ล้านลิตร (4 ล้านบาร์เรล) จะช่วยเพิ่มปริมาณน้ำมันสำรองเป็น 66 วัน ส่งผลให้ประเทศมีน้ำมันใช้เพียงพอไม่ขาดแคลน
นอกจากนั้นในแผนการบริหารความเสี่ยงเรื่องการจัดหาน้ำมันยังมีแผนการจัดหาแหล่งน้ำมันใหม่ๆเพิ่มเติม โดยมีรายงานข่าวว่ากระททรวงพลังงาน และรัฐบาลจะเจรจาขอซื้อน้ำมันดิบจากประเทศซาอุดิอารเบีย โดยเสนอขอลดค่าพรีเมียร์มน้ำมันเป็นกรณีพิเศษเพื่อเป็นอีกทางเลือกหนึ่งหากการจัดหาน้ำมันดิบในภาวะที่เกิดความขัดแย้งของหลายประเทศในขณะนี้
4.ปรับขึ้นราคาจำหน่ายก๊าซหุงต้ม 15 บาทต่อถังขนาด 15 กิโลกรัม จากที่เคยตรึงราคาจำหน่ายไว้ที่ราคาถังละ 315 บาท มาอยู่ที่ 333 บาทต่อถัง 15 กิโลกรัม หรือปรับเพิ่มขึ้นกิโลกรัมละ 1 บาท โดยจะเริ่มการปรับราคาขึ้นตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย.นี้ โดยการปรับขึ้นราคาก๊าซแอลพีจีเพื่อลดภาระกองทุนน้ำมันฯที่ชดเชยก๊าซหุงต้มอยู่ในปัจจุบันเนื่องจากในขณะนี้ราคาแอลพีจี ต้นทุนที่แท้จริงขณะนี้อยู่ที่ 463 บาทต่อถังแล้ว ที่ผ่านมามีการอุดหนุนไปแล้วกว่า 2,000 ล้านบาท ตั้งแต่ช่วงที่เกิดสถานการณ์โควิด-19 ที่ผ่านมาจึงต้องเริ่มมีการทยอยปรับขึ้นราคาตามต้นทุนก๊าซที่ปรับขึ้นต่อเนื่อง
5.ปรับสูตรการคำนวณค่าไฟฟ้า เนื่องจากต้นทุนของราคาค่าก๊าซธรรมชาติที่เพิ่มสูงขึ้นมาก กระทรวงพลังงาน มีการคาดการณ์ว่าค่าไฟฟ้าผันแปร (FT) ในงวดต่อไปในเดือน พ.ค.-ส.ค. จะสูงกว่าประมาณการณ์เดิมที่คาดว่าจะปรับขึ้น 16 สตางค์ต่อหน่วย โดยรัฐบาลมีนโยบายว่าจะเข้ามาดูแลให้ค่าไฟฟ้าให้เพิ่มขึ้นในอัตราไม่เกิน 16 สตางค์ต่อหน่วย เพื่อให้สามารถช่วยบรรเทาภาระค่าไฟให้กับประชาชน
คณะกรรมกากำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ได้นำเอาสูตรที่เรียกว่า “Energy Pool Price”มาใช้ในการคำนวณค่า FT โดยให้รวมเอาราคาพลังงานหลายชนิดเข้ามาคำนวณโดยมีหลักการนำต้นทุนค่าใช้จ่ายน้ำมันเตา น้ำมันดีเซล และก๊าซปิโตรเลียมเหลม (LNG) นำเข้าของกลุ่ม Regulated Market มาเฉลี่ยกับต้นทุนก๊าซธรรมชาติใน Pool Gas เพื่อให้ต้นทุนการผลิตของภาคไฟฟ้าและภาคอุตสาหกรรมในกลุ่ม Regulated Market อยู่ในทิศทางและแนวปฏิบัติเดียวกัน ซึ่งมีการใช้เชื้อเพลิงคิดเป็นหน่วยราคา/ความร้อน (บาท/MMBTU) ทำให้ช่วยลดภาระค่า FT ที่จะส่งผลถึงผู้ใช้ไฟฟ้าโดยตรงทั้งในส่วนประชาชนทั่วไป และที่เป็นภาคธุรกิจไม่ต้องจ่ายค่าไฟแพงกว่างวดปัจจุบันมากนัก
ส่วนประชาชนผู้มีรายได้น้อยรัฐบาลจะให้การช่วยเหลือตามจำนวนการใช้ไฟฟ้าตามจริงโดยหากรายใดใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 300 หน่วยต่อเดือน หรือ 1,200 บาท/เดือน กลุ่มนี้จะจ่ายค่าไฟฟ้าในอัตราเดิมเหมือนกับในช่วงเดือน ม.ค.-เม.ย.2565 เช่นเดียวกับ ในส่วนการช่วยเหลือกลุ่มผู้มีรายได้น้อยที่มีบัตรสวัสดิการแห่ง ที่ใช้น้ำมันเบนซิน การช่วยเหลือจะเป็นการช่วยเฉพาะกลุ่มอาชีพ เช่น ผู้ประกอบอาชีพขับมอเตอร์ไซค์รับจ้าง หรืออาชีพไรเดอร์ส่งอาหาร เป็นต้น โดยจะมีการช่วยเหลือจะใส่เงินเข้าไปในบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ
6.ขอประชาชนให้ความร่วมมือช่วยประหยัดพลังงาน ฟื้นโครงการ “พลังงานหารสอง” เพื่อสนับสนุนการประหยัดพลังงาน โดยโครงการนี้เคยเป็นโครงการที่มีการรณรงค์โครงการในช่วงที่ราคาพลังงานราคาสูงเหมือนกับในปัจจุบัน โดยให้หน่วยงานภาครัฐประหยัดพลังงานเพิ่มขึ้นจาก 10 เป็น 20% รวมทั้งมีมาตรการจูงใจให้มีการปรับปรุงเครื่องจักร เพิ่มอุปกรณ์ช่วยประหยัดพลังงานโดยมีเงินสนับสนุนจากกองทุนอนุรักษ์พลังงานในการปรับเปลี่ยน ควบคู่ไปกับการส่งเสริมการประหยัดพลังงานของหน่วยงาน และรัฐวิสาหกิจในสังกัดกระทรวงพลังงานเพื่อให้เกิดเป็นต้นแบบของการประหยัดพลังงานเพื่อจะขยายผลไปสู่หน่วยงานภาครัฐ และเอกชนต่อไป