สร้างอนาคตไทยชี้ ร่างงบฯ 66 ตอบโจทย์ขับเคลื่อนประเทศ ท่ามกลางวิกฤติหรือไม่
อุตตม-สนธิรัตน์-สันติ แท็กทีมวิเคราะห์งบปี 66 ชี้โครงสร้างงบฯ 2566 ต้องเป็นเครื่องมือหลักให้รัฐบาลสามารถดูแลบริหารความเสี่ยงด้านเศรษฐกิจที่จะเผชิญอย่างมีประสิทธิภาพ พร้อมทั้งเป็นพลังช่วยขับเคลื่อนการฟื้นเศรษฐกิจจากนี้ไป นอกจากนี้ พบ 8 ช่อง สุ่มเสี่ยงความไม่โปร่งใส เรียกร้อง สภาฯ พิจารณาให้รอบคอบ มองประโยชน์ประเทศเป็นที่ตั้ง
พรรคสร้างอนาคตไทย นำโดยนายอุตตม สาวนายน หัวหน้าพรรค นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ เลขาธิการพรรค และนายสันติ กีระนันทน์ รองหัวหน้าพรรคและประธานกรรมการนโยบาย ได้ร่วมแถลงข่าวกรณีร่าง พ.ร.บ. งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2566 ที่จะเข้าพิจารณาในสภาผู้แทนราษฎรระหว่างวันที่ 31 พ.ค.- 2 มิ.ย. นี้ โดยได้ชี้จุดบกพร่องของร่างฯ ดังกล่าว ที่จะส่งผลกระทบต่อการบริหารจัดการประเทศอย่างร้ายแรง
นายอุตตม กล่าวว่า พรรคสร้างอนาคตไทยได้ติดตามการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2566 ด้วยความเป็นห่วงมาโดยตลอด และพบว่ารายละเอียดในร่างดังกล่าว ไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ในปัจจุบัน อีกทั้งยังไม่ส่งผลดีต่อการฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศอีกด้วย
“พรรคสร้างอนาคตไทย ได้ส่งสัญญาณให้ทุกภาคส่วนร่วมกันพิจารณาการจัดสรรงบประมาณปี 2566 อย่างละเอียดคอบเพื่อประโยชน์ในการแก้ไขปัญหาและวางแผนฟื้นฟูเศรษฐกิจอย่างมีประสิทธิภาพมาโดยตลอด เช่นเดียวกับวันนี้ที่เราต้องการชี้ให้เห็นว่าร่างฯ ดังกล่าว ไม่มีความเหมาะสมอย่างไร เพื่อให้ทุกฝ่ายได้นำไปเป็นแนวทางในการพิจารณา เพื่อประโยชน์สูงสุดของประชาชนและประเทศต่อไป” ด้านนายสันติ กล่าวว่า รายละเอียดร่างงบประมาณ 2566 ซึ่งมีวงเงินทั้งสิ้น 3.185 ล้านล้านบาท มีข้อสังเกตที่ชี้ให้เห็นถึงความไม่เหมาะสม 8 ประการ ประกอบด้วย
1.การจัดทำงบประมาณ 2566 ใช้สมมติฐานที่คลาดเคลื่อนจากความเป็นจริงในปัจจุบัน เช่น การประมาณการณ์จัดเก็บรายได้เพื่อนำมาใช้จ่ายในวงเงินงบประมาณที่ตั้งไว้ อาจไม่เป็นไปตามที่คาด โดยจากตัวเลขการจัดเก็บรายได้ที่ผ่านมา รัฐบาลไม่เคยจัดเก็บรายได้ได้ตามเป้าหมาย ตัวอย่างปี 2563 ตั้งเป้า 2,864,562 ล้านบาท เก็บได้ 2,388,274ล้านบาท ปี 2664 ตั้งเป้า 2,829,228 ล้านบาท เก็บได้ 2,372,551 ล้านบาท ปี 2565 (5 เดือนแรก) ตั้งเป้า 1,095,092 ล้านบาท เก็บได้ 917,857 ล้านบาท
นอกจากนี้ การวางแผนงบประมาณ 2566 ยังใช้ฐานตัวเลขทางเศรษฐกิจที่ล้าสมัยมาประกอบ เช่น การคาดการณ์การเติบโตทางเศรษฐกิจ ใช้ตัวเลขร้อยละ 3.5-4.5 (2565) และ 3.2-4.2 (2566) แต่ล่าสุดหน่วยงานสภาพัฒน์คาดการณ์เศรษฐกิจปรับลดลงมาอยู่ที่ 2.5-3.5 เท่านั้นอีกทั้ง ตัวเลขอัตราเงินเฟ้อก็ไม่เป็นปัจจุบัน กล่าวคือ ใช้ตัวเลขการขยายตัวที่ 1.5-2.5 (2565) และ 0.5-1.5 (2566) ทั้งที่สถานการณ์จริงวันนี้การขยายตัวของเงินเฟ้อขยับขึ้นตั้งแต่ ธ.ค. 2564 เป็น 2.17 ตามด้วย 3.23 ในเดือน ม.ค. 2565 และ 5.28 ในไตรมาสแรกของปีนี้
นายสันติ ระบุว่า การตั้งสมุติฐานตัวเลขทางเศรษฐกิจที่ล้าสมัยมาประกอบการจัดทำงบประมาณ จะส่งผลให้การบริหารจัดการงบประมาณแผ่นดินในอนาคตมีอุปสรรค และไม่สามารถดำเนินการได้ตามเป้าหมายที่วางไว้ หรืออาจจะนำไปสู่การกู้ยืมและส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพการคลังในอนาคต
2.โครงสร้างงบประมาณ เมื่อพิจารณาจะพบว่าไม่มีการเปลี่ยนแปลง โดยทุกอย่างเหมือนเดิมตลอดหลายปีที่ผ่านมา ทั้งที่ควรปรับเปลี่ยนให้สอดรับกับสถานการณ์ปัจจุบันที่ประเทศไทยจำเป็นต้องเข้าสู่การฟื้นฟูเศรษฐกิจ
3.งบประมาณส่วนใหญ่ของแต่ละกระทรวง เป็นงบบุคลากร ยกตัวอย่างกระทรวงที่ได้รับงบประมาณสูง เช่น กระทรวงศึกษาธิการมีงบประมาณบุคลากรถึงร้อยละ 62 กระทรวงกลาโหมสัดส่วนสูงถึงร้อยละ 60 และกระทรวงสาธารณสุขร้อยละ 70 แสดงให้เห็นว่าประเทศไทยกำลังติดหล่มงบประมาณด้านบุคลากรที่สูงมาก
4.รายจ่ายด้านการลงทุนอยู่ในสัดส่วนที่ต่ำเพียงร้อยละ 21.8 อีกทั้งเมื่อดูรายละเอียดพบว่าเป็นงบลงทุนแท้จริงเพียงร้อยละ 15.46 เท่านั้น เนื่องจากงบส่วนหนึ่งเป็นค่าใช้จ่ายที่ไม่มีผลต่อการลงทุนอย่างแท้จริง เช่น งบจัดจ้างที่ปรึกษา และการลงทุนอื่นๆ เป็นต้น
5.งบประมาณใช้จ่ายร้อยละ 35.26 ถูกจัดสรรในหมวดงบอุดหนุน โดยเมื่อพิจารณางบประมาณแยกตามลักษณะงานที่อยู่ในแต่ละกระทรวง อาทิ ด้านสังคม เศรษฐกิจ สาธารณสุข สิ่งแวดล้อม ฯลฯ ซึ่งการซ่อนค่าใช้จ่ายไว้ในงบอุดหนุนดังกล่าว ทำให้ยากต่อกระบวนการตรวจสอบ
6.งบกลางที่ตั้งไว้สูงถึง 5.9 แสนล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 18.54 เป็นวงเงินที่สูงที่สุดของวงเงินงบประมาณทั้งหมด แต่เมื่อลงในรายละเอียดกลับพบว่าไม่ตรงตามวัตถุประสงค์ที่มีไว้เพื่อใช้จ่ายด้านการบรรเทาความเดือนร้อนของประชาชน ที่กำหนดวงเงินไว้เพียง 9.2 หมื่นล้าน แต่งบประมาณส่วนใหญ่ถึง 3.22 แสนล้านบาทกลับเป็นเบี้ยหวัด เงินบำเหน็จบำนาญข้าราชการ
7.งบบูรณาการ 218,477 ล้านบาท ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 6.86 ของงบประมาณทั้งหมด ที่ผ่านมามีข้อซักถามถึงความไม่เหมาะสมโดยตลอด เนื่องจากไม่มีการวัดผลความสำเร็จที่ชัดเจนของเนื้องานแต่ละโครงการที่ดำเนินการไป ทำให้การทำงานแบบบูรณาการกลายเป็นเพียงรูปแบบ เหมือนเอางบฯมาซุกไว้ในแต่ละกระทรวงเพื่อนำไปใช้อย่างไร้ประสิทธิภาพ
8.งบจัดซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ ยังไม่ถูกจำกัดแม้วันนี้ประเทศต้องการงบประมาณในการฟื้นฟูเศรษฐกิจ โดยสูงถึงเกือบ 6 หมื่นล้านบาท และยังพบว่ามีแผนการจัดซื้อในระยะยาวอีกจำนวนมาก หรือประมาณ 4.5 แสนล้านบาทในระยะเวลา 10 ปี
นายสนธิรัตน์ กล่าวว่า หลังจากที่พรรคได้ลงพื้นที่พบปะประชาชนในภาคอีสาน เมื่อวันที่ 26-28 พ.ค.ที่ผ่านมา พบว่าประชาชนต้องการความเปลี่ยนแปลง ส่วนใหญ่เรียกร้องให้เปลี่ยนรัฐบาล เนื่องจากหมดความหวังต่อการบริหารประเทศ นอกจากนี้ยังแสดงความเห็นต่อกรณีที่ฝ่านค้านส่งสัญญานในเรื่องการจัดทำงบประมาณรายจ่ายที่ไม่เหมาะสม ซึ่งจะเป็นแรงผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลนั้น พรรคสร้างอนาคตไทยจะติดตามอย่างใกล้ชิดเพื่อประโยชน์ของประเทศและประชาชนต่อไป