พรรคธรรมนัส-พรรคเล็ก ชี้ขาด งบปี 66
ประยุทธ์ เดิมพันสูง ยุบสภา-ลาออก
การพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2566 วงเงิน 3.185 ล้านล้านบาท จะเข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร วาระแรก ระหว่างวันที่ 31 พฤษภาคม – 2 มิถุนายน 2565
รัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชาและคณะ เดิมพันสูง ด้วยการ ยุบสภา หรือ ลาออก
ปัจจัยชี้ขาด คือ พรรคเศรษฐกิจไทยของ ร.อ.ธรรมนัส พรมหเผ่า และ ส.ส.กลุ่ม 16 ที่มี นายพิเชษฐ สถิรชวาล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ เป็นหัวหน้ากลุ่ม
18 เสียงของพรรคเศรษฐกิจไทย กับ 16+2 เสียงของ กลุ่ม 16 นับนิ้วแล้ว 35-36 เสียง หากเทไปข้างใดข้างหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็น ฝั่งรัฐบาล หรือ ฝั่งฝ่ายค้าน ล้วนส่งผลต่อ ชะตากรรมของรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์และพวก แทบทั้งสิ้น
เพราะตัวเลขของพรรคฝ่ายรัฐบาล คือ 242 เสียงบวกลบ ขณะที่พรรคฝ่ายค้าน 209 เสียงบวกลบ
สำหรับ ส.ส.พรรคเศรษฐกิจไทย 17 เสียง ได้แก่ 1.ร.อ.ธรรมนัส ส.ส.พะเยา 2.นายบุญสิงห์ วรินทร์รักษ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ 3.นายไผ่ ลิกค์ ส.ส.กำแพงเพชร 4.นายสมศักดิ์ คุณเงิน ส.ส.ขอนแก่น
5.นายจีรเดช ศรีวิราช ส.ส.พะเยา 6.นายพรชัย อินทร์สุข ส.ส.พิจิตร 7.น.ส.จอมขวัญ กลับบ้านเกาะ ส.ส.สมุทรสาคร 8.นายยุทธนา โพธสุธน ส.ส.บัญชีรายชื่อ 9.พล.ต.อ.ยงยุทธ เทพจำนงค์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ
10.นายภาคภูมิ บูลย์ประมุข ส.ส.ตาก 11.นายปัญญา จีนาคำ ส.ส.แม่ฮ่องสอน 12.นางทัศนาพร เกษเมธีการุณ ส.ส.นครราชสีมา 13.นายเกษม ศุภรานนท์ ส.ส.นครราชสีมา 14.สะถิระ เผือกประพันธุ์ ส.ส.ชลบุรี
15.นายธนะสิทธิ์ โควสุรัตน์ ส.ส.อุบลราชธานี 16.นายธนัสถ์ ทวีเกื้อกูลกิจ ส.ส.ตาก และ 17.นายณัฏฐพล จรัสรพีพงษ์ ส.ส.สุรินทร์
ส่วนเสียงที่ 18 คือ นายวัฒนา สิทธิวัง ส.ส.ลำปาง ต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ เนื่องจากศาลฎีกามีคำสั่งเลือกตั้งใหม่ กรณีเลือกตั้งไม่เป็นไปด้วยความสุจริต
ไม่ว่า พรรคธรรมนัส – กลุ่ม 16 จะเคลมตัวเลข ส.ส.ในมือ เพื่อโก่งราคา ค่าตัว อย่างไร อาจเป็น ตัวเลขปลอม ตัวเลขบลัฟ เพื่อข่ม ขู่ แม้กระทั่ง ต่อรองเก้าอี้รัฐมนตรี ผลประโยชน์ทางตรง หรือ ทางอ้อม
ทว่า ตัวเลขที่แท้จริง คือ พรรคจิ๋ว พรรคเล็ก และพรรคขนาดกลางที่ไม่ได้มีตำแหน่งแห่งหนในคณะรัฐมนตรี อาจจะรวมถึงพรรคฝ่ายค้าน ทั้งหมดเป็น พรรคตัวแปร ในการ ชี้ขาด ร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2566 จะถูกคว่ำหรือไม่
พรรคจิ๋ว 1 เสียง 10 พรรค กับอีก 1 เสียงพลังประชารัฐ ประกอบด้วย 1.พรรคไทยศรีวิไลย์ 1 เสียง คือ นายมงคลกิตติ์ สุขสินธารานนท์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ 2.พรรคเพื่อชาติไทย 1 เสียง คือ นายคฑาเทพ เตชะเดชเรืองกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ
3.พรรคไทรักธรรม 1 เสียง คือ นายพีระวิทย์ เรื่องลือดลภาค ส.ส.บัญชีรายชื่อ 4.พรรคครูไทยเพื่อประชาชน 1 เสียง คือ นายปรีดา บุญเพลิง ส.ส.บัญชีรายชื่อ 5.พรรคประชาธิปไตยใหม่ 1 เสียง คือ นายสุรทิน พิจารณ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ
6.พรรคพลังชาติไทย 1 เสียง คือ นางบุญญาพร นาตะธนภัทร ส.ส.บัญชีรายชื่อ 7.พรรคพลังธรรมใหม่ 1 เสียง คือ นพ.ระวี มาศฉมาดล ส.ส.บัญชีรายชื่อ 8.พรรคพลเมืองไทย 1 เสียง คือ น.ส.ศิลัมพา เลิศนุวัฒน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ
9.พรรคประชาภิวัฒน์ 1 เสียง คือ นางนันทนา สงฆ์ประชา ส.ส.บัญชีรายชื่อ 10.พรรคพลังปวงชนไทย 1 เสียง คือ นายนิคม บุญวิเศษ ส.ส.บัญชีรายชื่อ และ 1 เสียงของ นายพิเชษ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ
พรรคเล็ก-พรรคขนาดกลาง ที่ไม่มีตำแหน่งในรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ ประกอบด้วย พรรคเศรษฐกิจใหม่ 6 เสียง ได้แก่ 1.นายมนูญ สิวาภิรมย์รัตน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ 2.นายสุภดิช อากาศฤกษ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ
3.นางมารศรี ขจรเรืองโรจน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ 4.น.ส.จิราพร นาคดิลก ส.ส.บัญชีรายชื่อ 5.นายนิยม วิวรรธนดิฐกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ และ 6.นายภาสกร เงินเจริญกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ
พรรคพลังท้องถิ่นไท 5 เสียง ได้แก่ 1.ชัชวาลล์ คงอุดม ส.ส.บัญชีรายชื่อ 2.นายนพดล แก้วสุพัฒน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ 3.นายโกวิทย์ พวงงาม ส.ส.บัญชีรายชื่อ 4.นายจารึก ศรีอ่อน ส.ส.จันทบุรี และ 5.น.ส.กวินนาถ ตาคีย์ ส.ส.ชลบุรี
พรรคชาติพัฒนา 4 เสียง ได้แก่ 1.นายเทวัญ ลิปตพัลลภ ส.ส.บัญชีรายชื่อ 2.นายดล เหตระกูล ส.ส.บัญชีรายชื่อ 3.นายสมัคร ป้องวงษ์ ส.ส.สมุทรสาคร และ 4.นายวัชรพล โตมรศักดิ์ ส.ส.นครราชสีมา
พรรครักษ์ผืนป่าประเทศไทย 2 เสียง ได้แก่ นายดำรงค์ พิเดช ส.ส.บัญชีรายชื่อ และ นายยรรยงก์ ถนอมพิชัยธำรง ส.ส.บัญชีรายชื่อ
ก่อนหน้านี้ พรรคเพื่อไทย จะเปิดดีลกับ พรรคธรรมนัสและพรรคเล็ก ที่มี นายพิเชษฐ-นายหน้า ส.ส. กลุ่ม 16 อย่างหนัก ถึงขั้นเปิดโรงแรมหรู วิดีโอคอลข้ามโลกกับ ทักษิณ ชินวัตร
ตอกย้ำด้วยการลาออกของ 15 กรรมการบริหารพรรคเศรษฐกิจไทย เขี่ย บิ๊กน้อย พล.อ.วิชชญ์ เทพหัสดิน ณ อยุธยา พ้นจากตำแหน่งหัวหน้าพรรค
ปิดทาง บิ๊กป้อม พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ อดีตนายเก่า หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ไม่ให้เอื้อมมือเข้ามาช่วย พล.อ.ประยุทธ์ให้แคล้วคลาด รอดตายในสภาอีกเป็นครั้งที่ 2
สำหรับร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ.2566 วงเงิน 3.185 ล้านล้านบาท จำแนกเป็นรายกระทรวง ดังนี้ งบกลาง จำนวน 590,470 ล้านบาท กระทรวงศึกษาธิการ จำนวน 325,900 ล้านบาท
กระทรวงมหาดไทย จำนวน 325,578 ล้านบาท กระทรวงการคลัง 285,230 ล้านบาท กระทรวงกลาโหม จำนวน 197,292 ล้านบาท กระทรวงคมนาคม จำนวน 180,502 ล้านบาท กระทรวงสาธารณสุข จำนวน 156,408 ล้านบาท
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จำนวน 126,067 ล้านบาท กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์วิจัยและนวัตกรรม จำนวน 124,748 ล้านบาท กระทรวงแรงงาน จำนวน 54,338 ล้านบาท
สำนักนายกรัฐมนตรี จำนวน 32,477 ล้านบาท กระทรวงการต่างประเทศ 7,556 ล้านบาท กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา 5,330 ล้านบาท กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ จำนวน 24,626 ล้านบาท
กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม จำนวน 6,822 ล้านบาท กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จำนวน 30,638 ล้านบาท กระทรวงพลังงาน จำนวน 2,707 ล้านบาท กระทรวงพาณิชย์ จำนวน 6,489 ล้านบาท
กระทรวงวัฒนธรรม จำนวน 6,748 ล้านบาท กระทรวงอุตสาหกรรม จำนวน 4,490 ล้านบาท ส่วนราชการไม่สังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี กระทรวงหรือทบวงและหน่วยงานภายใต้การควบคุมดูแลของนายกรัฐมนตรี จำนวน 125,257 ล้านบาท
จังหวัดและกลุ่มจังหวัด จำนวน 21,727 ล้านบาท รัฐวิสาหกิจ จำนวน 162,989 ล้านบาท หน่วยงานของรัฐสภา จำนวน 7,752 ล้านบาท หน่วยงานของศาล จำนวน 22,959 ล้านบาท
หน่วยงานขององค์กรอิสระและองค์กรอัยการ จำนวน 19,085 ล้านบาท องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จำนวน 81,180 ล้านบาท หน่วยงานอื่นของรัฐ จำนวน 477 ล้านบาท
สภากาชาดไทย จำนวน 8,854 ล้านบาท ส่วนราชการในพระองค์ จำนวน 8,611 ล้านบบาท และทุนหมุนเวียน จำนวน 206,985 ล้านบาท
งบประมาณที่จะลงไปในทุกกระทรวง ทบวง กรม ล้วนแล้วแต่เป็น กระสุนดินดำ ที่จะถูกแบ่งเค้กลงไปในพื้นที่ในแต่ละกลุ่มจังหวัด จังหวัด ที่มี รัฐมนตรี และส.ส.แต่ละพรรคการเมืองเป็นเจ้าของพื้นที่ เจ้าของฐานเสียง
ไม่นับรวมถึง ท่อทุน ท่อน้ำเลี้ยง ที่จะนำไป ต่อทุน ในการเลือกตั้งครั้งหน้า
จึงไม่มีเหตุผลใดที่ นักการเมือง – ส.ส.ทุกพรรคการเมืองจะ คิดสั้น คว่ำ พ.ร.บ.งบประมาณปี 66 ที่มีเม็ดเงิน โครงการ กว่า 3.185 ล้านล้านบาท