ปี 63 คอนโดฯ หั่นราคา 10-15% หวังระบายสต๊อก
“เน็กซัสฯ” ประเมินตลาดอสังหาริมทรัพย์ปี 2563 ยังอยู่ในภาวะทรงตัวทั้งซัพพลายเปิดใหม่ และดีมานด์ที่ยังไม่กระเตื้อง จับตา ผู้ประกอบการด้านตลาดคอนโดฯ หั่นราคาขายลงอีก 10-15% หวังระบายสต๊อกกว่า 60,000 หน่วย
นางนลินรัตน์ เจริญสุพงษ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เน็กซัส พรอพเพอร์ตี้ มาร์เก็ตติ้ง จำกัด กล่าวถึงแนวโน้มตลาดอสังหาริมทรัพย์ในปี 2563 ว่า ในส่วนของอุปทานใหม่ (การเปิดโครงการ) น่าจะเพิ่มขึ้นแต่อยู่ในอัตราที่ใกล้เคียงกับตัวเลขปี 2562 ประมาณ 42,000-45,000 หน่วย ทั้งนี้ ส่วนหนึ่งมาจากโครงการที่ชะลอการพัฒนาไปในปี 2562 ที่ผ่านมา คาดว่าหากมาตรการของรัฐบาลที่เกี่ยวกับ LTV ยังคงเป็นแบบปัจจุบัน ความต้องการซื้อจะยังคงอยู่ในระดับที่ใกล้เคียงกับปี 2562 คือ ในระดับ 43,000-48,000 หน่วย ซึ่งจากตัวเลขประมาณการดังกล่าว ทำให้อัตราการขายรวมน่าจะคงอยู่ที่ 90% และห้องเหลือในตลาดก็น่าจะอยู่ในปริมาณใกล้เคียงกับตัวเลขปีนี้ที่ 60,000 หน่วย
โดยที่เรื่องของการแข่งขันด้านราคาในปี 2563 นั้น จะมีความรุนแรงของตลาดคอนโดมิเนียมที่จะปรับลดลงไม่ต่ำกว่า 10-15% โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงครึ่งปีแรก และจะเห็นสินค้าที่ออกมาใหม่ที่ควบคุมราคาต่อตารางเมตร (ตร.ม.) ให้ตอบกับตลาดผู้อยู่อาศัยจริงมากขึ้น เป็นโอกาสให้นักลงทุนซื้อคอนโดมิเนียมในราคาไม่สูงและได้รับผลตอบแทนจาการปล่อยเช่า (ยิลด์) ที่มากขึ้น
“ในปี 2562 และปี 2563 ภาพรวมตลาดยังไม่ได้เติบโตมากนัก เนื่องจากการลงทุนในตลาดจะมีการชะลอตัวจากมาตรการ LTV ราคาที่ดินไม่ได้ปรับตัวสูงขึ้น การพิจารณาซื้อที่ดินของนักลงทุนก็มีความระมัดระวังมากขึ้น ทำให้ตลาดคอนโดมิเนียมยังคงไม่มีปัจจัยเร่งในการปรับราคาให้สูงขึ้นตามไปด้วย หากค่าเงินบาทยังคงแข็งตัว การลงทุนจากต่างชาติทั้งรายย่อยและสถาบันจะคงยังไม่เพิ่มขึ้น สิ่งสำคัญที่น่าจะเป็นปัจจัยบวกเดียว คือ ส่วนรถไฟฟ้าที่ก่อสร้างเสร็จเพิ่มเติม ซึ่งช่วยทำให้การเดินทางสะดวกสบายมากขึ้น จะเปิดทำเลในการพัฒนาโครงการใหม่อย่างต่อเนื่อง”
เมื่อวิเคราะห์ด้านทำเล พบว่า ทำเลที่น่าสนใจยังคงเป็นส่วนต่อขยายรถไฟฟ้าที่สร้างเสร็จแล้ว ซึ่งโครงการเก่าที่ยังขายไม่หมดน่าจะได้ส่งผลในทางบวก ในขณะที่รถไฟฟ้าที่กำลังก่อสร้าง ทั้งสายสีเหลือง สีชมพู และสีส้มก็มีโอกาสเติบโตได้ ขณะที่าคาที่ดินในบริเวณนั้นยังไม่สูงมาก สามารถทำคอนโดฯ ในตลาดกลางและซิตี้คอนโดฯ ได้
สำหรับภาพรวมตลาดอสังหาริมทรัพย์ในปี 2562 นั้น เป็นปีที่ตลาดปรับตัวค่อนข้างมาก โดยอุปทานใหม่เปิดลดลงถึง 29% เมื่อเทียบกับปี 2561 ส่งผลให้มีโครงการคอนโดฯ เปิดใหม่เพียง 43,000 หน่วย จาก 126 โครงการ ส่งผลต่อหน่วยสะสมของคอนโดฯเป็น 654,200 หน่วย โดยทำเลที่มีอุปทานใหม่มากที่สุดอันดับ 1 คือ ธนบุรี เพชรเกษม (10,100 หน่วย 23%) และจะเริ่มเห็นผู้ประกอบการหันไปพัฒนาโครงการคอนโดฯระดับกลาง (Mid-Market) ระดับราคา 75,000-110,000 บาทต่อตารางเมตร (ตร.ม.) มูลค่าเพิ่มขึ้นเป็น 90,000 ล้านบาท ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับเมื่อปีที่แล้วที่มีเพียง 27% เท่านั้น ทำให้ตลาดคอนโดฯไฮเอ็นด์ หดตัวลงค่อนข้างมาก.