กสอ.ดัน T-goodTech เพิ่มมูลค่าการค้าญี่ปุ่น
กสอ. เปิดตัวการเชื่อมโยงแพลทฟอร์มการค้า T-goodTech และ J-goodTech พร้อม 5 Success Cases หวังดันมูลค่าการค้า ไทย-ญี่ปุ่น เพิ่มขึ้นกว่า 1,000 ล้านบาทต่อปี
นายเดชา จาตุธนานันท์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กล่าวว่า จากความเชื่อมั่นในเทคโนโลยีระบบ e-Payment และการขนส่งที่รวดเร็ว ทำให้ผู้บริโภคหันมาให้ความนิยมสั่งซื้อสินค้าออนไลน์ผ่านแพลทฟอร์มต่างๆ มากขึ้น ประกอบกับกระทรวงอุตสาหกรรม ได้ลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) กับองค์การเพื่อวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมและนวัตกรรมภูมิภาคแห่งประเทศญี่ปุ่น (SMRJ) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้การช่วยเหลือ ส่งเสริม สนับสนุน และพัฒนาผู้ประกอบการ SMEs ให้มีศักยภาพและมีขีดความสามารถในการแข่งขันเพิ่มขึ้น ส่งผลให้เกิดโครงการพัฒนา Digital Value Chain ที่ใช้ในการผลักดันผู้ประกอบการ SMEs สู่ห่วงโซ่มูลค่าระดับโลก
กสอ. จึงได้ทำการพัฒนาแพลทฟอร์ม T-GoodTech (Thailand Good Technology) โดยอาศัยต้นแบบจากแพลทฟอร์ม J-GoodTech (Japan Good Technology) ประเทศญี่ปุ่น ที่มีฐานข้อมูลสมาชิกกว่า 20,000 ราย เพื่อใช้เป็นช่องทางการจับคู่ระหว่างธุรกิจกับธุรกิจ (Business to Business) ระหว่างวิสาหกิจไทยด้วยกันเอง และระหว่างวิสาหกิจไทยกับวิสาหกิจทั่วโลกเป็นเวทีสำหรับแลกเปลี่ยนและถ่ายทอดความรู้และประสบการณ์ด้านการประกอบธุรกิจ
รวมถึงเป็นการเพิ่มช่องทางการตลาดและทดสอบตลาดเพื่อให้เกิดการพัฒนาอย่างต่อเนื่องและสอดคล้องกับความต้องการของตลาดเป้าหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งในปีงบประมาณ 2562 กสอ. ได้ทำการประชาสัมพันธ์แพลทฟอร์ม T-GoodTech ให้กับผู้ประกอบการต่าง ๆ ได้สมัครเข้าเป็นสมาชิก และในปัจจุบันเรามีฐานข้อมูลผู้ประกอบการ มากกว่า 4,000 ราย แบ่งเป็นข้อมูลผู้ประกอบการที่มาจากฐานข้อมูลสมาชิกจาก J-GoodTech จำนวนกว่า 1,300 ราย และข้อมูลผู้ประกอบการที่มาจากการประชาสัมพันธ์ของ กสอ. กว่า 2,700 ราย
ในปีนี้ กสอ. ได้พัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการ SMEs กว่า 50 กิจการ และคัดเลือกเป็นสถานประกอบการยอดเยี่ยม 5 กิจการ (Success Cases) ประกอบด้วย 1.) บริษัท เจ็นเซิฟ จำกัด 2.) บริษัท ไทยอินเตอร์แมท จำกัด 3.) บริษัท ธนาศิริวัจน์ กรุ๊ป จำกัด 4.) บริษัทสเปเชียลเทค จำกัด และ 5.) บริษัท พัฒนกลการ เอ็นจิเนียริง จำกัด โดยร่วมกับผู้เชี่ยวชาญจาก SMRJ มาถ่ายทอดแนวทางในการพัฒนาองค์กรและส่งเสริมการค้าให้สามารถเชื่อมโยงสู่ห่วงโซ่อุปทานระดับโลก (Global Value Chain) ได้อย่างยั่งยืน ซึ่งคาดว่าผลสำเร็จจากโครงการฯในวันนี้ จะสามารถช่วยผลักดันมูลค่าการค้าระหว่าง SMEs ไทยและผู้ประกอบการญี่ปุ่นได้เพิ่มขึ้นอีกกว่า 1,000 ล้านบาทต่อปี.