“ฝันร้ายข้ามปี” ชี้สงครามการค้ายื้อ 2-4ปี
เชื่อสงครามการค้า “สหรัฐ-จีน” สร้างภาวะ “ฝันร้ายข้ามปี” ชี้ยืดเยื้อแน่! 2-4 ปี หลัง ปธน.โดนัลด์ ทรัมป์ เดินหน้ามาตรการกีดกันการค้าต่อไป ขณะที่จีนตั้งป้อมสู้ ชี้หากเลิกนโยบายส่งออกสินค้าไฮเทค “Made in China 2025” อาจทำพรรคคอมมิวนิสต์จีนล่มสลาย ฝัน “โอกาสในวิกฤติ” สินค้าไทยแทนที่จีนในตลาดสหรัฐ ขณะที่ทุนแดนมังกรไหลเข้าไทย
ธนาคารกสิกรไทยจัดสัมมนา “รับมืออย่างไรในภาวะเศรษฐกิจโลกผันผวน” โดยโฟกัสไปยังประเด็นสงครามการค้าระหว่างสหรัฐกับจีนและประเทศคู่ค้ารายใหญ่ของสหรัฐ ซึ่ง ดร.ศิวัสน์ เหลืองสมบูรณ์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ศูนย์วิจัยกสิกยยรไทย กล่าวว่า ประเด็นสำคัญที่เป็นเป้าหมายแท้จริงของสหรัฐ น่าจะมาจากการที่ผู้นำสหรัฐเกรงจะสูญเสียภาวะผู้นำทางด้านเทคโนโลยีไฮเทค โดยเฉพาะการผลิตสินค้าในกลุ่มสารสนเทศน์ และ AI เป็นต้น ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อปัญหาความมั่นคงของสหรัฐในอนาคต
“สถานการณ์เศรษฐกิจโลกในตอนนี้ คงไม่ต่างจากภาวะ “ฝันร้ายข้ามปี” หมายความว่าสถานการณ์การกีดกันการค้าระหว่างสหรัฐและจีน จะยังดำรงอยู่ราว 2-4 ปีนับจากนี้”
ดร.ศิวัสน์ ย้ำว่า คะแนนนิยมของ ปธน.โดนัลด์ ทรัมป์ สะท้อนมาจากนโยบายช่วงที่ผ่านมา และสิ่งนี้จะถูกตอกย้ำอีกครั้ง ผ่านการเลือกตั้ง ส.ส.และ ส.ว. กลางเทอมในช่วงปลายปีนี้ ซึ่งจากโพลล์ต่างๆ ที่ออกมา มีสัญญาณบ่งชัดว่าพรรครีพับลิกัน ต้นสังกัดของ ปธน.ทรัมป์จะชนะการเลือกตั้ง ซึ่งทำให้ผู้นำสหรัฐจำต้องเดินหน้านโยบายกีดกันสินค้าผ่านมาตรการภาษีต่อไป
ด้านนายกอบสิทธิ์ ศิลปชัย ผู้บริหารงานวิจัยเศรษฐกิจและตลาดทุน ธนาคารกสิกรไทย กล่าวเสริมว่า ขณะนี้ทางการจีนสามารถ Copy เทคโนโลยีด้านการทหารที่ใกล้เคียงสหรัฐเข้าไปทุกที หากทางการสหรัฐไม่ดำเนินการอย่างหนึ่งอย่างใด อาจสูญเสียมากกว่าความเป็นผู้นำเศรษฐกิจโลก ทั้งนี้ สหรัฐอยากเห็นรัฐบาลจีนล้มเลิกนโยบาย “Made in China 2025” ที่เน้นผลิตสินค้าไฮเทคเพื่อการส่งออก แต่คงเป็นเรื่องยาก เพราะมันหมายถึงความล้มเหลวเชิงนโยบายของพรรคคอมมิวนิสต์ของจีนเช่นกัน จึงเป็นเหตุผลที่เชื่อว่าสงครามการค้ารอบนี้น่าจะยืดเยื้อออกไปแน่
ดร.พิสิทธิ์ พัวพันธ์ ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเศรษฐกิจมหภาค สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กล่าวว่า สศค.เฝ้าจับตามองเรื่องนี้และผลกระทบที่จะเกิดขึ้นตามมาอย่างใกล้ชิด ซึ่งในส่วนการตั้งกำแพงภาษีนำเข้าสินค้าจากจีนช่วงแรก 5 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ คงจะไม่กระทบต่อเศรษฐกิจไทยมากนัก แค่เพียง 0.04-0.05% ของจีดีพีเท่านั้น
แต่หากทางการสหรัฐเดินหน้าตั้งกำแพงภาษีนำเข้ากับสินค้าจีนมูลค่า 2 แสนล้านเหรียญสหรัฐ ก็ต้องจับตาดูว่าจะส่งผลกระทบอะไรกับไทยอย่างไรบ้าง ทั้งนี้เปรียบเหมือนกับ “เหรียญ 2 ด้าน” ที่ใช่ว่าไทยจะได้รับผลกระทบด้านลบอย่างเดียว เพราะไม่แน่ว่าสินค้าไทยอาจไปแทนที่สินค้าจีนในตลาดสหรัฐ ขณะที่การลงทุนจากจีนก็อาจไหลเข้ามาลงทุนในไทยได้เช่นกัน จำเป็นที่ทุกฝ่ายต้องคิดหาแนวทางรับมือกับสถานการณ์นี้ด้วย
น.ส.วิภาวี ภูดิสานนท์ ผู้บริหารงานขายผลิตภัณฑ์ทางการเงิน ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า ส่วนตัวคิดว่า ช่วงแรกปธน.โดนัลด์ ทรัมป์ คงคิดแค่จะเล่นเกมการเมืองระหว่างประเทศกับจีน เหมือนที่เคยทำกับเกาหลีเหนือ แล้วนัดมาเจรจากันในภายหลัง เมื่อได้ข้อยุติที่สหรัฐสมประโยชน์ สร้างคะแนนนิยมให้ตัวเอง ก็จะยุติเกมนั้ แต่สถานการณ์กลับดีเกินคาด เพราะสิ่งนี้ทำให้ตลาดหุ้นสหรัฐเติบโตขึ้น ขณะที่ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐก็แข็งตัวขึ้น ทำให้ต้องเดินหน้านโยบายกีดกันทางการค้าต่อกับสินค้าจีนและประเทศคู่สำคัญๆ รายอื่นต่อไป
“นั่นจึงทำให้ทางการจีนตอบโต้รัฐบาลสหรัฐอย่างแข็งกร้าว เห็นได้จากนโยบายเงินหยวนที่อ่อนค่าช่วงที่ผ่านมาสะท้อนให้เห็นว่าจีนกำลังวางแผนที่จะสู้ในระยะยาว ไม่แน่ว่าภาษีที่ถูกสหรัฐจัดเก็บเพิ่ม อาจนำไปสู่การลดค่าเงินหยวน เพื่อลดผลกระทบที่จะมีตามมาได้”
ส่วนประเด็นการหาทางรับมือกับสถานการณ์นี้ ผู้ร่วมสัมมนาส่วนใหญ่คิดคล้ายๆ กัน นั่นคือ ผู้ประกอบการไทยจะต้องเร่งปรับตัว สร้างความแตกต่างอย่างมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวให้กับสินค้าไทย ซึ่งจะทำให้สินค้าคุณภาพที่แม้จะมีราคาแพงสามารถขายได้ในตลาดโลก แต่คงไม่ใช่เรื่องง่ายกับกลุ่มเอสเอ็มอีของไทย และเป็นสิ่งที่ภาครัฐและผู้เกี่ยวข้องจะต้องเร่งให้ความช่วยเหลือโดยเร็ว
สำหรับประเด็นตัวเลขเศรษฐกิจนั้น ทุกฝ่ายมองว่า ผู้นำสหรัฐกำลังเล่นเกมการเมืองเพื่อสร้างคะแนนนิยมให้ตัวเองเมื่อสมประโยชน์ทางการเมืองในประเทศ จากการชนะเลือกตั้งช่วงปลายปีนี้ และเกมการเมืองระหว่างประเทศจากสงครามการค้า ด้วยเป้าหมายที่ต้องการจะลดการขาดดุลการค้ากับประเทศคู่ค้า หรือเพิ่มปริมาณการส่งออกสินค้าสหรัฐมากขึ้น ทางการสหรัฐอาจพิจารณาผ่อนปรนมาตรการต่างๆ โดยเฉพาะมาตรการภาษีที่จัดเก็บกับนำเข้าสินค้าจากชาติที่เกินดุลการค้าสหรัฐ
ผลจากการคาดการณ์ข้างต้น อาจเป็นไปได้ว่าธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ที่เคยคิดจะประกาศขึ้นดอกเบี้ยนโยบายอีก2 ครั้งในช่วงปลายปีนี้ คงต้องทบทวนแผนการดังกล่าว กระทั่งทำการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพียงครั้งเดียวในช่วงเดือนธันวาคมเลย นั่นหมายความอัตราดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐจะไม่เกินเป้าหมายเดิมที่ตั้งไว้ 2.5% ขณะที่ดอกเบี้ยนโยบายของไทยนั้น เชื่อว่าธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ไม่น่าจะปรับขึ้น โดยคงอัตราดอกเบี้ยนโบายไว้ที่ 1.5% เช่นเดิม ด้านจีดีพของไทย ก็น่าจะเติบโตในอัตรา 4.5% ส่วนการส่งออกทั้งปี คงจะปรับตัวสูงที่ระดับ 8.8% เช่นเดิม
อย่างไรก็ตาม จากสถานการณ์โดยรวมนั้น เชื่อว่าค่าเงินดอลลาร์สหรัฐจะแข็งตัวสูงขึ้น และค่าเงินบาทจะอ่อนตัวและเป็นไปตามทิศทางของค่าเงินในภูมิภาค โดยคาดการณ์ว่าเงินบาทน่าจะอ่อนตัวไปอยู่ในระดับ 34 บาทต่อดอลาร์ช่วงไตรมาสที่ 3 แต่จะอ่อนค่าได้ไม่นาน เมื่อเข้าสู่ไตรมาส 4 ก็น่าจะแข็งขึ้นมาอยู่ในระดับ 33 บาทต่อดอลาร์ และส่งผลดีต่อภาคการส่งออกและการท่องเที่ยวของไทย.