ก.ล.ต.แจงสื่อเหตุคุมเข้มเงินดิจิทัล
ก.ล.ต. นัดสื่อมวลชนฟังแนวคิดกำกับเหรียญดิจิทัล พ่วงหลักเกณฑ์คุมขายโทเคน ด้าน “ทิพยสุดา ถาวรามร” ยืนยัน เหตุต้องคุมเข้ม อ้างรัฐเน้นดูแลนักลงทุน พร้อมสร้างความโปร่งใสในสินทรัพย์ดิจิทัล หวั่นคดีฉ้อโกงประชาชน
คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เชิญสื่อมวลชนเข้ารับฟังแนวทางและหลักเกณฑ์การกำกับสินทรัพย์ดิจิทัล โดย นางทิพยสุดา ถาวรามร รองเลขาธิการ ก.ล.ต. กล่าวว่า ภายหลังการประกาศใช้ พ.ร.ก.การประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล พ.ศ.2561 เมื่อช่วงกลางเดือน พ.ค.ที่ผ่านมา และขณะนี้อยู่ระหว่างการเปิดรับฟังความคิดเห็นในเชิงสาธารณะ (Public Hearing) จากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ก่อนจะนำความคิดเห็นและข้อเสนอแนะมาสรุปเพื่อปรับปรุงกฎหมายฉบับนี้ต่อไป
คาดว่า ก.ล.ต. ซึ่งเห็นชอบเกณฑ์การกำกับดูแลการเสนอขายโทเคนดิจิทัล และธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลก่อนหน้านี้ จะประกาศบังคับใช้ พ.ร.ก.การประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลฯ ภายในสิ้นเดือน มิ.ย.นี้ ทั้งนี้ การกับดูแลดังกล่าวจะครอบคลุม “โทเคนดิจิทัลเพื่อการลงทุน” (Investment Token), “โทเคนที่จะใช้ประโยชน์ได้ในอนาคต” (Utility Token) และ “คริปโตเคอเรนซี่” ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อการระดมทุนจากประชาชน (ICO : Initial Coin Offering) ทั้งนี้ ไม่ครอบคลุม Utility Token ที่ประกาศให้นักลงทุนสามารถใช้ประโยชน์ได้ทันที ภายหลังการเสนอขาย ได้แก่ Line Token ซึ่งโทเคนตัวนี้ได้ถูกออกแบบมาเพื่อใช้ซื้อสินค้าต่างๆ เป็นต้น
ส่วนเกณฑ์การกำกับดูแลสินทรัพย์ดิจิทัลทั้ง 3 ประเภท คือ Investment Token, Utility Token และ Initial Coin Offering นั้น จะต้องมีสาระสำคัญแบ่งเป็น 2 ส่วน ส่วนแรก คือ การเสนอขายโทเคน ต้องมีหลักเกณฑ์สำคัญ เช่น ต้องเป็น บจก. หรือ บมจ.ที่จัดตั้งตามกฎหมายไทยเท่านั้น และไม่มีลักษณะต้องห้ามตามเกณฑ์เดียวกับหลักทรัพย์
สำหรับส่วนหลัง จะต้องมีความชัดเจนเกี่ยวกับแผนธุรกิจ, ระบุตัวตัวชัดเจนว่าเป็น Investment หรือ Utility token อีกทั้งยังต้องมีแนวทางการเปิดเผยข้อมูลเดียวกับ พ.ร.บ.หลักทรัพย์ โดย ก.ล.ต.อนุญาตให้จัดทำในลักษณะ Free Form โดยเฉพาะเอกสารข้อเท็จจริงเกี่ยวกับข้อมูลผู้เสนอ ขาย, ข้อมูลการเสนอขาย, แผนธุรกิจ, ข้อมูลโทเค่น เป็นต้น พร้อมทั้งต้องให้ข้อมูลเพิ่มเติมที่จำเป็นต่อการลงทุน รวมถึงคำเตือนความเสี่ยงให้ชัดเจน เป็นต้น
พร้อมทั้งต้องมี “หน่วยงานตรวจสอบข้อมูล” (ICO Portal) ซึ่งเป็นบริษัทไทย ทุนจดทะเบียน 5 ล้านบาทขึ้นไป ทำหน้าที่คัดกรองการเสนอขายในแต่ละครั้ง โดยจะต้องทำความรู้จักกับนักลงทุน (KYC) เป็นอย่างดี ขณะที่ตัวกลาง ประกอบด้วย ตลาดรองเพื่อซื้อขายแลกเปลี่ยน (exchange), โบรกเกอร์ และดีเลอร์ ก็ต้องมีคุณสมบัติตรงตามประกาศกระทรวงการคลัง
ทั้งนี้ ไม่เพียงเป็นการสร้างมาตรฐานเพื่อความโปร่งใสในการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล หากยังเป็นการป้องกันปัญหาที่จะมีตามมาในอนาคต โดยเฉพาะปัญหาการหลอกลวงและฉ้อโกงประชาชน.