สำรวจความพร้อม 40 โครงการ ปตท.สผ.

หลังจาก โชว์ผลประกอบการในไตรมาส 3 ของปี 2561 มีกำไรเพิ่มขึ้นมากกว่า 100 % สถานะการเงินแข็งแกร่ง
พร้อมเดินหน้าขยายการลงทุนอย่างต่อเนื่อง ล่าสุด ปตท.สผ. หรือ บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) ยังได้เปิดเผยความก้าวหน้าในโครงการที่สำคัญของ ปตท.สผ. ทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ รวมทั้งสิ้นจำนวน 40 โครงการใน 11 ประเทศ ได้แก่ โครงการในประเทศไทย
โครงการบงกช สามารถรักษาระดับการผลิตได้ตามแผน โดยบริษัทได้ยื่นประมูลเพื่อขอรับการคัดเลือกเป็นผู้ดำเนินการแหล่งบงกช คาดว่าจะทราบผลการประมูลภายในปลายปี 2561 โครงการเอส 1 ได้ทำการขุดเจาะหลุมผลิตอย่างต่อเนื่องเพื่อช่วยเพิ่มปริมาณการผลิตในอนาคต แหล่งอุบล ภายใต้โครงการคอนแทร็ค 4 อยู่ระหว่างเตรียมการพัฒนา คาดว่าจะสามารถผลิตปิโตรเลียมเชิงพาณิชย์ได้ภายในปี 2565 ด้วยกำลังการผลิตน้ำมันดิบที่ 25,000 บาร์เรลต่อวัน และก๊าซธรรมชาติที่ 50 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน
โครงการในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
โครงการซอติก้า ได้เสร็จสิ้นการเจาะหลุมผลิตบนแท่นผลิตเฟส 1C จำนวน 2 แท่นจากทั้งหมดจำนวน 4 แท่น เพื่อคงกำลังการผลิต โดยในไตรมาสนี้ โครงการมีปริมาณการขายก๊าซธรรมชาติเฉลี่ย 296 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ต่ำกว่าแผนเล็กน้อย เนื่องจากสถานการณ์น้ำท่วมและมีการใช้พลังน้ำแทนการใช้ก๊าซเพื่อผลิตไฟฟ้า แต่คาดว่าปริมาณการขายเฉลี่ยทั้งปีของโครงการจะเป็นไปตามแผนที่ตั้งไว้ โครงการเวียดนาม 16-1 อยู่ระหว่างการดำเนินการเจาะหลุมผลิตเพิ่มเติมเพื่อรักษาระดับการผลิต
โครงการ เมียนมาร์ เอ็ม 3 อยู่ระหว่างการเจรจากรอบการพัฒนาเชิงพาณิชย์กับรัฐบาลเมียนมา โดยโครงการอยู่ระหว่างการเตรียมแผนการพัฒนาโครงการ (Field Development Plan) เพื่อยื่นต่อรัฐบาลภายในไตรมาส 4 ปี 2561 โครงการเมียนมาร์ MD-7 อยู่ระหว่างเตรียมแผนการเจาะหลุมสำรวจ โครงการเมียนมาร์ เอ็ม 11 อยู่ระหว่างการเตรียมแผนการเจาะหลุมสำรวจ รวมทั้งหาผู้ร่วมทุนเพื่อบริหารความเสี่ยงของโครงการ โครงการเมียนมาร์ เอ็มโอจีอี 3 อยู่ระหว่างการเตรียมการเจาะหลุมสำรวจ โดยคาดว่าจะดำเนินการเจาะจำนวน 1 หลุมในไตรมาส 4 ปี 2561
โครงการซาราวักเอสเค 410 บี ในมาเลเซีย อยู่ระหว่างการประมวลผลข้อมูลด้านธรณีวิทยาและศักยภาพทางปิโตรเลียมเพื่อเตรียมแผนการเจาะหลุมเพื่อการประเมินศักยภาพจำนวน 1 หลุม โครงการเวียดนาม บี และ 48/95 และโครงการเวียดนาม 52/97 ได้รับการอนุมัติแผนพัฒนาโครงการ (Field Development Plan) แล้ว ปัจจุบันโครงการอยู่ระหว่างการเจรจาสัญญาเชิงพาณิชย์เพื่อรองรับการตัดสินใจลงทุนขั้นสุดท้าย (Final Investment Decision หรือ FID) ต่อไป ทั้งนี้ คาดว่าจะเริ่มผลิตปิโตรเลียมเชิงพาณิชย์ได้ในช่วงปลายปี 2565 ด้วยกำลังการผลิตที่จะค่อย ๆ เพิ่มไปสู่ระดับ 490 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน
โครงการในทวีปอเมริกา
โครงการมาเรียนา ออยล์ แซนด์ ประเทศแคนาดา อยู่ระหว่างการปรับแผนการดำเนินการให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน โครงการบารารินเนียส์ เอพี 1 และโครงการบราซิล บีเอ็ม อีเอส 23 ซึ่งตั้งอยู่นอกชายฝั่งของบราซิล อยู่ในระหว่างการศึกษาด้านธรณีวิทยาและศักยภาพของปิโตรเลียม โครงการเม็กซิโก แปลง 12 (2.4) และโครงการเม็กซิโก แปลง 29 (2.4) อยู่ระหว่างการเตรียมการยื่นแผนสำรวจต่อ National Commission Hydrocarbons ประเทศเม็กซิโก ภายในไตรมาส 4 ปี 2561
โครงการในทวีปออสเตรเลีย
โครงการพีทีทีอีพี ออสตราเลเชีย ตั้งอยู่ในเครือรัฐออสเตรเลีย ประกอบด้วย 10 แปลงสัมปทาน สำหรับแหล่งที่ดำเนินการผลิตแล้ว คือ แหล่งมอนทารา โครงการมีปริมาณการขายเฉลี่ยในไตรมาสนี้อยู่ที่ 7,252 บาร์เรลต่อวัน แหล่ง Cash Maple ที่อยู่ในระยะสำรวจ ได้เสร็จสิ้นการศึกษาวิศวกรรมเบื้องต้น (Pre-FEED Study) และอยู่ระหว่างการศึกษาแนวทางการพัฒนาโครงการที่เหมาะสม
โครงการในแอฟริกา
โครงการแอลจีเรีย ฮาสสิ เบอร์ ราเคซ ได้รับอนุมัติแผนพัฒนาจากรัฐบาลแอลจีเรียเมื่อเดือนเมษายน 2561 โดยแผนการพัฒนาโครงการจะแบ่งออกเป็น 2 ระยะ ระยะแรกมีกำลังการผลิต 10,000-13,000 บาร์เรลต่อวัน ซึ่งคาดว่าจะสามารถเริ่มผลิตในปี 2563 และจะสามารถเริ่มการผลิตระยะที่ 2 โดยจะเพิ่มปริมาณการผลิตเป็น 50,00-60,000 บาร์เรลต่อวันในปี 2567
ส่วนโครงการโมซัมบิก โรวูมา ออฟชอร์ แอเรีย วัน มีความคืบหน้าที่สำคัญในไตรมาสนี้ ได้แก่ การเตรียมพื้นที่ก่อสร้างเพื่อรองรับการดำเนินการก่อสร้างโรงงานผลิตก๊าซธรรมชาติเหลวบนบก โดยได้คัดเลือกผู้รับเหมางานติดตั้งอุปกรณ์นอกชายฝั่งทะเล (Offshore Installation) เป็นที่เรียบร้อยแล้วและอยู่ระหว่างการสรุปสัญญาก่อสร้างโรงงานผลิตก๊าซธรรมชาติเหลวบนบก (Onshore LNG Plant)
นอกจากนี้โครงการอยู่ในระหว่างการดำเนินการลงนามในสัญญาซื้อขายก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG Sale and Purchase Agreement) ระยะยาวกับผู้ซื้อรายต่าง ๆ รวมทั้งเจรจาสัญญาเงินกู้ในรูปแบบ Project Finance กับสถาบันการเงินเพื่อสนับสนุนการตัดสินใจลงทุนขั้นสุดท้าย (Final Investment Decision หรือ FID) ในครึ่งปีแรกของปี 2562 โดยคาดว่าจะสามารถผลิต LNG เชิงพาณิชย์ได้ในปี 2566 ด้วยกำลังการผลิตที่ 12 ล้านตันต่อปี.