“เศรษฐา” สั่งเร่งก่อสร้างท่าเรือแหลมฉบังระยะที่ 3 หลังช้ากว่าเป้าเกือบ 4%
นายกฯ ติดตามความคืบหน้าโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 เร่งรัดทุกแผนงานให้แล้วเสร็จทันตามกำหนด พร้อมรับนักลงทุนต่างชาติ
ณ ท่าเรือแหลมฉบัง อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ติดตามและเร่งรัดการก่อสร้างโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 โดยมีนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม นางมนพร เจริญศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม พร้อมคณะร่วมลงพื้นที่ติดตามและเร่งรัดการก่อสร้างโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 โดยมีนายเกรียงไกร ไชยศิริวงศ์สุข ผู้อำนวยการการท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) ผู้บริหารการท่าเรือแห่งประเทศไทย และผู้แทนกิจการการค้าร่วม CNNC ร่วมให้การต้อนรับ
นางรัดเกล้า อินทวงศ์ สุวรรณคีรี รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีเปิดเผยว่า นายกฯ กล่าวถึงการมาติดตามโครงการก่อสร้างท่าเทียบเรือแหลมฉบังระยะที่ 3 ว่า เป็นกาติดตามความคืบหน้า หลังจากการตรวจเมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมาได้เดินทางมาตรวจ พบว่ามีความล่าช้าแต่ภายใต้การนำของนายสุริยะ ก็สามารถที่จะแก้ไขได้เหลือ 4% และจะดำเนินการก่อสร้างได้ภายในสิ้นปีหน้า ทำให้การก่อสร้างแล้วเสร็จเป็นไปตามระยะเวลาที่กำหนดไว้คือเดือนมิ.ย. 2569 ซึ่งทางทีมงานมีความกระตือรือร้น และตนเองให้กำลังใจ ทุกคน พูดคุยปัญหาอย่างตรงไปตรงมา และทราบว่าการนำหินเข้ามามีปัญหา ซึ่งนายวิทยา คุณปลื้ม นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดชลบุรี ก็ได้ดำเนินการเรื่องนี้แล้ว โดยเชื่อว่าทุกอย่างจะดำเนินการต่อไปได้เพราะทุกคนต้องทำงานแข่งกับเวลา
ด้านผู้อำนวยการ กทท. กล่าวว่า การก่อสร้างท่าเรือแหลมฉบัง ส่วนงานที่ 1 งานก่อสร้างงานทางทะเล มีกิจการร่วมค้า CNNC เป็นผู้รับจ้าง มูลค่างานรวม 21,320 ล้านบาท ซึ่งประกอบด้วยงานถมทะเลทั้งหมดประมาณ 2,846 ไร่ หรือ 4.5 ล้านตารางเมตร งานขุดลอกร่องน้ำและแอ่งจอดเรือให้มีระดับความลึก 18.5 เมตร และงานเขื่อนกันคลื่น ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 4 พ.ย. 2566 ที่ผ่านมามีความคืบหน้าเพียง 13.26% ซึ่งหลังจากที่นายกฯ ได้ลงพื้นที่ติดตามและได้มีข้อสั่งการให้ กทท. เร่งรัดการก่อสร้างให้ทันตามแผน ทาง กทท. ได้กวดขัน ติดตามการบริหารสัญญาและควบคุมการทำงานของผู้รับจ้างตามข้อสั่งการ สามารถเร่งรัดได้เนื้องานเพิ่มขึ้นกว่า 17%
ผู้ควบคุมงานก่อสร้างโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบังระยะ 3 รายงานความคืบหน้าการดำเนินโครงการส่วนที่ 1 งานก่อสร้างงานทางทะเลว่า ณ เดือนพ.ค. 2567 ดำเนินงานได้ 31.12% จากแผนปฏิบัติงาน 35.11% แม้ว่าในช่วงที่ผ่านมาจะดำเนินงานอย่างเต็มที่ แต่ยังคงล่าช้ากว่าแผน 3.99% ซึ่งผู้ควบคุมงานได้จัดทำแผนเร่งรัดการปฏิบัติงาน โดยเพิ่มเครื่องจักรทางบก ทางน้ำ และแรงงานให้สัมพันธ์กัน เพื่อให้สามารถขุดลอก ได้มากกว่า 2,000,000 ลบ.ม. ต่อเดือน ตามเป้าหมาย ทั้งนี้ ได้กำกับดูแลและควบคุมเร่งรัดการทำงานให้ผู้รับจ้างมีผลงานโดยเฉลี่ยไม่น้อยกว่า 3% ต่อเดือน
ผู้อำนวยการ กทท. กล่าวเพิ่มเติมว่าจากปัจจุบันผลงานก่อสร้างของผู้รับจ้างยังมีความล่าช้ากว่าแผนฯ แต่ก็มีความคืบหน้าเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ และมั่นใจว่าการก่อสร้างงานทางทะเลจะดำเนินการแล้วเสร็จตามแผนภายในมิถุนายน 2569 รวมถึงจะไม่กระทบกับสัญญาของบริษัทเอกชนคู่สัญญาบริษัท จีพีซี อินเตอร์เนชั่นแนล เทอร์มินอล จำกัด ที่ กทท. จะต้องมีการส่งมอบเฉพาะพื้นที่งานถมทะเลท่าเทียบเรือ F1 ปัจจุบันมีความคืบหน้าการถมไปกว่า 97% คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในก.ค. 2567 นี้ หลังจากนั้นจะมีเวลาอีกประมาณ 1 ปีเศษ ที่จะต้องการตรวจสอบการปรับปรุงคุณภาพพื้นที่ เพื่อเตรียมส่งมอบให้กับบริษัท จีพีซี ได้ในช่วงปลายเดือนพ.ย. 2568
ผู้อำนวยการ กทท. กล่าวต่อไปว่า งานส่วนที่ 2 งานก่อสร้างอาคาร ท่าเทียบเรือ ระบบถนน และระบบสาธารณูปโภค ได้ดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างแล้วเสร็จเมื่อเร็วๆ นี้โดยบริษัทไชน่า ฮาร์เบอร์ เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด เป็นผู้ชนะการประกวดราคา ที่วงเงิน 7,298 ล้านบาท ซึ่งเสนอราคาต่ำกว่าราคากลางประมาณ 160 ล้านบาท กทท. สามารถลงนามในสัญญาได้ภายในต้นกรกฎาคม 2567 สำหรับงานส่วนที่ 3 งานก่อสร้างระบบรถไฟ มูลค่า 799 ล้านบาท และส่วนที่ 4 งานจัดหาประกอบและติดตั้งเครื่องจักรอุปกรณ์สำหรับขนย้ายสินค้า พร้อมออกแบบประกอบและติดตั้งระบบเทคโนโลยีสำหรับบริหารท่าเรือและโครงสร้างพื้นฐานมูลค่า 2,257 ล้านบาท ทั้งสองส่วนอยู่ระหว่างการสรรหาผู้รับจ้างจัดทำเอกสารประกวดราคา คาดว่าจะเปิดประมูลได้ในช่วงปลายปี 2567 นี้
“โครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 แสดงให้เห็นถึงศักยภาพในการรองรับปริมาณตู้สินค้าที่จะเพิ่มขึ้น หากโครงการแล้วเสร็จ และเปิดให้บริการจะสามารถรองรับปริมาณการขนส่งตู้สินค้าได้เพิ่มขึ้นอีก 7 ล้านทีอียูต่อปี ประกอบด้วยท่าเรือ F1 จำนวน 2 ล้านทีอียูต่อปี ท่าเรือ F2 จำนวน 2 ล้านทีอียูต่อปีท่าเรือ E จำนวน 3 ล้านทีอียูต่อปี ซึ่งเมื่อรวมกับขีดความสามารถเดิมของท่าเรือแหลมฉบังระยะที่ 1 และ 2 ที่ 11 ล้านทีอียูต่อปี จะทำให้ท่าเรือแหลมฉบังมีขีดความสามารถในการรองรับตู้สินค้าได้ถึง 18 ล้านทีอียูต่อปี ในส่วนนี้จะทำให้เพิ่มปริมาณการขนส่งตู้สินค้าทางรถไฟและท่าเรือชายฝั่ง รวมถึงการเชื่อมโยงการขนส่งทางรางกับท่าเรือบกให้เพิ่มมากขึ้นด้วย เป็นการเพิ่มศักยภาพและรองรับการขยายตัวสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจการลงทุนของประเทศอย่างมหาศาล จะช่วยสนับสนุนให้ท่าเรือแหลมฉบังเป็นศูนย์กลางการขนส่งของภูมิภาค อีกทั้งช่วยสนับสนุนการลดต้นทุนการขนส่งโดยรวมของประเทศจาก 14% ของ GDP เหลือ 12% ของ GDP สอดรับนโยบายของรัฐบาลที่ตั้งเป้าหมายลดต้นทุนด้านโลจิสติกส์มุ่งให้ไทย เป็นศูนย์กลางการขนส่งของภูมิภาคต่อไป” นางรัดเกล้า ย้ำ