เวียดนามเปิดศึกการค้าเสรี
ประธานาธิบดีเวียดนาม พร้อมเปิดการค้าเต็มรูปแบบ เพื่อพัฒนาประเทศให้ก้าวสู่เศรษฐกิจยุคใหม่รองรับการค้าเสรีกับทุกๆ ประเทศ พร้อมชูนโยบาย “เพิ่มเพื่อน ลดศัตรู เก็บอดีตไว้เบื้องหลัง และมองหาอนาคต”
ถือเป็นเรื่องธรรมดาที่บรรดาเหล่าผู้นำของแต่ละประเทศจะใช้โอกาสเทศกาลแห่งความสุขวันขึ้นปีใหม่ในการส่งสารมอบความสุขให้ประชาชน หรือแจกแจงแนวโน้มความเป็นไปของอนาคตประเทศเพื่อให้พอมองเห็นว่ารัฐบาลจะบริหารบ้านเมืองไปในทิศทางใดบ้าง เช่นเดียวกับประธานาธิบดีเจือง เติ่น ซางของเวียดนาม ประเทศเพื่อนบ้านอาเซียนของพวกเราซึ่งเพิ่งเปิดศักราชสู่ความเป็นประชาคมอาเซียนเต็มรูปแบบร่วมกันเมื่อปลายปี 2558 ที่ผ่านมา ได้ส่งการ์ดอวยพรปีใหม่ให้ชาวเวียดนามมีความสุขสวัสดี พร้อมกับที่ได้เรียกร้องให้เพิ่มความพยายามมากขึ้นในปีใหม่ 2559 และในอีก 5 ปีข้างหน้า เพื่อที่จะฉวยเอาประโยชน์จากโอกาสของการที่เวียดนามได้เข้าร่วม หรือลงนามข้อตกลงทางเศรษฐกิจต่างๆ ไว้ในรอบปี 2558 เพื่อให้เป็นผลดีต่อการพัฒนาประเทศให้มากที่สุด
ขณะเดียวกันผู้นำเวียดนาม ยังได้เปิดให้สื่อสัมภาษณ์ถึงทิศทางการบริหารประเทศ และปัญหาท้าทายที่คอยท่าเวียดนามในปีใหม่ที่เพิ่งคืบคลานเข้ามา ส่วนจะมีเรื่องอะไรน่าสนใจบ้าง เว็บไซต์นสพ.ฉบับภาษาอังกฤษของเวียดนาม “เวียดนาม นิวส์” ได้นำมาเผยแพร่เมื่อวันที่ 2 ม.ค.ว่า ประธานาธิบดีเวียดนามเผยระหว่างเปิดให้สื่อสัมภาษณ์ช่วงเทศกาลปีใหม่ 2559 โดยบอกอย่างมั่นใจว่า บรรดาข้อตกลงเขตการค้าเสรี (เอฟทีเอ) ทั้งแบบทวิภาคี และพหุภาคีที่เวียดนามได้ทำไว้ในปี 2558 จะช่วยขยายตลาด รวบรวมแหล่งทรัพยากรเพิ่มขึ้น และส่งเสริมการถ่ายโอนเทคโนโลยีล้ำหน้าเข้าสู่ประเทศ อย่างไรก็ดีเอฟทีเอเหล่านี้ยังถือเป็นปัญหาท้าทายสำคัญกับชุมชนเศรษฐกิจ และธุรกิจในท้องถิ่นด้วยเช่นกัน
“แม้ว่าในรอบปี2558จะเป็นปีที่ยุ่งยากทั้งต่อภายในประเทศ และภูมิภาค แต่เวียดนามยังมีพัฒนาการด้านบวกทั้งทางสังคม และเศรษฐกิจ ไม่ว่าตัวเลขการเติบโตทางเศรษฐกิจที่เพิ่มสูงขึ้น และความมีเสถียรภาพของเศรษฐกิจระดับมหภาค” นายซาง กล่าวเสริม และยังเชื่อด้วยว่า ด้วยความแข็งแกร่งของประเทศ ความเป็นผู้นำของพรรคคอมมิวนิสต์ และรัฐ รวมทั้งการเติบโตของชุมชนผู้ประกอบการ การเข้าร่วมเอฟทีเอของเวียดนามในช่วงเวลาใหม่นี้จะประสบความสำเร็จแน่นอน
เมื่อถูกถามว่าทางการมีระบบ หรือเครื่องไม้เครื่องมือที่เป็นมืออาชีพไว้รองรับความจำเป็นต่อการควบรวมหรือเข้าร่วมเขตการค้าเสรีต่างๆ ที่เวียดนามได้ทำไว้หรือไม่ ประธานาธิบดีเจือง เติ่น ซาง ได้เน้นย้ำถึงความจำเป็นที่จะต้องเพิ่มความถูกต้องแม่นยำ และประสิทธิภาพของการบริหารจัดการของภาครัฐ “การพัฒนาประเทศระหว่างมีกระบวนการควบรวม หรือเข้าร่วมข้อตกลงเขตการค้าเสรีต่างๆ จำเป็นต้องมีการสอดประสานอย่างใกล้ชิดระหว่างแหล่งทรัพยากรภายในและต่างประเทศ” ผู้นำเวียดนาม กล่าวเสริม แต่อย่างไรก็ดีเวียดนามควรสร้างเศรษฐกิจที่เป็นอิสระ และพึ่งพาตนเองควบคู่กันไปด้วย
ทั้งนี้ตามข้อมูลที่ได้จากประธานาธิบดีเจือง เติ่น ซาง ในอนาคตที่กำลังจะมาถึงนี้ กองทุนเงินช่วยเหลือเพื่อการพัฒนาอย่างเป็นทางการ (จากต่างชาติ) หรือโอดีเอ และการลงทุนโดยตรงจากต่างชาติ หรือเอฟดีไอ ที่ไหลเข้าเวียดนามอาจมีเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่เวียดนามไม่ควรพึ่งแหล่งเงินทุน หรือการช่วยเหลือ 2 แหล่งนี้มากเกินไป เพราะหลังปี 2560 และ 2561 ดอกเบี้ยของโอดีเอที่ใช้กับเวียดนามที่เป็นประเทศรายได้ปานกลาง จะสูงกว่าระดับอัตราภาษีโอดีเอที่เก็บกับเวียดนามเมื่อ 30 ปีก่อน นอกจากนี้ยังต้องหามาตรการดึงดูดการลงทุนจากต่างชาติเพิ่มขึ้น ขณะเดียวกันก็ต้องเลือกให้ดีให้ละเอียดเพื่อว่าจะนำเข้ามาส่งเสริมการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจของประเทศได้
ผู้นำเวียดนาม ระบุต่อไปว่าระหว่างกระบวนการระดมหาทรัพยากรเพื่อพัฒนาประเทศ ภาครัฐต้องมีนโยบายที่จริงจังในการป้องกันการทุจริตคอรัปชั่น และต้องร่วมมือกันทุกภาคส่วน เมื่อเกิดปัญหาด้านลบขึ้นมา ทั้งเจ้าหน้าที่ และองค์กรรัฐที่เกี่ยวข้องต้องรับผิดชอบด้วยกัน
เมื่อกล่าวถึงปัจจัยที่จะช่วยเวียดนามเอาชนะปัญหาท้าทายในเรื่องบูรณภาพเขตแดน และอำนาจอธิปไตย ประธานาธิบดีเวียดนาม กล่าวว่าในบริบทของกระแสโลกาภิวัต เวียดนามปรารถนาที่จะเป็นมิตรกับทุกประเทศในประชาคมโลกเพื่อสันติภาพ ความร่วมมือ และการพัฒนา และด้วยการเดินหน้าใช้นโยบาย “เพิ่มเพื่อน ลดศัตรู เก็บอดีตไว้เบื้องหลัง และมองหาอนาคต” ก็ให้มั่นใจได้เลยว่าเวียดนามจะได้รับการสนับสนุนมากขึ้นในเวทีโลก และบรรลุเป้าหมายการเติบโตที่มีเสถียรภาพ และยังช่วยประเทศเอาชนะทุกปัญหาท้าทาย และรักษาอำนาจอธิปไตย และบูรณภาพเขตแดนของชาติได้อย่างมั่นคง
เป็นที่รู้กันดีว่าเวียดนาม นอกจากเป็นประเทศเนื้อหอมของนักลงทุนต่างชาติ และมักถูกยกขึ้นมาเทียบกับการพัฒนาของไทยอยู่เนืองๆ แต่เวียดนามก็ยังมีปัญหาขัดแย้งดินแดนทางน้ำในทะเลจีนใต้กับประเทศจีนซึ่งอีกทางก็เป็นหนึ่งในหุ้นส่วนคู่ค้า และผู้ลงทุนต่างชาติอันดับต้นๆของเวียดนาม จึงเป็นที่น่าสังเกต เวียดนามจะมาตรการอะไรมารับมือกับจีนในเรื่องนี้เพื่อว่าจะไม่เสียประโยชน์ทางเศรษฐกิจ จะพุ่งชนกับจีนตรงๆ เหมือนอย่างกรณีของฟิลิปปินส์ที่มีสหรัฐฯ หนุนหลังชัดเจนก็ไม่น่าจะเหมาะสำหรับเวียดนาม จึงต้องคอยติดตามความคืบหน้ากันต่อไป