อีอีซี จับมือ ETDA ยกระดับธุรกิจสู่อิเล็กทรอนิกส์
อีอีซี จับมือ ETDA MOU ยกระดับการทำธุรกรรมดิจิทัล พัฒนากลไกบริการ EEC OSS ลดขั้นตอน เพิ่มแรงจูงใจดึงผู้ประกอบการลงทุนพื้นที่อีอีซีต่อเนื่อง
นายจุฬา สุขมานพ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) หรือ อีอีซี และดร.ชัยชนะ มิตรพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ หรือ ETDA ได้ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) เพื่อการขับเคลื่อนพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก โดยมี นายก่อกิจ ด่านชัยวิจิตร รองเลขาธิการ อีอีซี และนางสาวจิตสถา ศรีประเสริฐกุล รองผู้อำนวยการ ETDA เป็นพยาน พร้อมด้วยผู้บริหารจากทั้งสองฝ่ายเข้าร่วม
นายก่อกิจ ด่านชัยวิจิตร รองเลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) กล่าวว่า ความร่วมมือกับ ETDA ครั้งนี้ ถือเป็นการสร้างเครือข่ายความร่วมมือสำคัญของ อีอีซี ที่จะผลักดันการพัฒนาให้บริการด้านดิจิทัล สนับสนุนการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ และอำนวยความสะดวกแก่ผู้ประกอบกิจการในอุตสาหกรรมเป้าหมายพิเศษในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก เพื่อส่งเสริมให้บริการภาครัฐแบบเบ็ดเสร็จครบวงจร หรือ EEC – OSS ที่จะช่วยให้ผู้ประกอบการลดขั้นตอนและลดต้นทุนในการประกอบกิจการ เกิดการทำธุรกรรมผ่านอิเล็กทรอนิกส์ที่จะมีประสิทธิภาพ สะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น รองรับกระบวนการอนุมัติ อนุญาต ออกใบอนุญาตให้ความเห็นชอบ รับจดทะเบียน หรือรับแจ้งตามกฎหมายต่างๆ ที่กำหนดไว้ เช่น กฎหมายว่าด้วยการขุดดิน ถมดิน กฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคาร กฎหมายว่าด้วยการสาธารณสุข กฎหมายว่าด้วยทะเบียนพาณิชย์ กฎหมายว่าด้วยโรงงานและกฎหมายว่าด้วยการจัดสรรที่ดิน เป็นต้น
ทั้งนี้ ภายใต้ MOU นี้ อีอีซี และ ETDA จะได้บูรณาการความร่วมมือทั้งระดับนโยบาย ผู้บริหาร การแลกเปลี่ยนข้อมูล ความร่วมมือด้านบุคลากรระหว่างหน่วยงาน ความร่วมมือด้านการศึกษาวิจัยเพื่อกำหนดแนวทางการสนับสนุนระบบนิเวศน์ด้านการลงทุนที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจแพลตฟอร์มดิจิทัล การพัฒนาระบบการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัล และการพัฒนาระบบใบอนุญาตแบบดิจิทัล เพื่อยกระดับการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ จูงใจผู้ประกอบการให้เกิดการลงทุนในพื้นที่อีอีซีได้อย่างต่อเนื่อง
ด้าน นายชัยชนะ มิตรพันธ์ ผู้อำนวยการ ETDA กล่าวว่า การมุ่งส่งเสริมและสนับสนุนให้ทุกภาคส่วน โดยเฉพาะกลุ่มผู้ประกอบการ SMEs เกิดการยกระดับการทำงานและการทำธุรกิจด้วยการผนวกกระบวนการทางอิเล็กทรอนิกส์ ที่มีการส่งเสริม Digital Ecosystem ที่มั่นคงปลอดภัยและน่าเชื่อถือ เป็นที่ยอมรับของนานาประเทศ ที่จะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันและเพิ่มมูลค่าของ Digital GDP ไทย คือ หนึ่งในภารกิจที่ ETDA เดินหน้าผลักดันมาอย่างต่อเนื่อง ร่วมกับพาร์ทเนอร์ทั้งภาครัฐและเอกชน ซึ่งความร่วมมือในครั้งนี้ นับเป็นอีกก้าวสำคัญระหว่าง ETDA และ สกพอ. จะได้เข้ามาช่วยส่งเสริมให้เกิดการใช้เทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องเพื่อสนับสนุนการทำธุรกรรมฯ เพื่อช่วยอำนวยความสะดวก ลดอุปสรรคและต้นทุนในการให้บริการแก่ผู้ประกอบการที่เข้ามาลงทุนในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ที่ถือเป็นอีกหนึ่งแลนมาร์คทางเศรษฐกิจที่สำคัญของไทย โดยมีขอบเขตของความร่วมมือที่สำคัญๆ ไม่ว่าจะเป็น การส่งเสริมและร่วมพัฒนาระบบให้เกิดการใช้งานระบบพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัล (Digital ID) ในการพิสูจน์ตัวตนผู้ประกอบธุรกิจ นักลงทุน ที่เข้ามาติดต่อ ขออนุมัติ อนุญาตและลงทุนในพื้นที่
อีอีซี ให้มีความสะดวก ลดต้นทุนมากยิ่งขึ้น ผ่านบริการ Digital ID ของหน่วยงานภาครัฐที่จะเข้าไปเป็นทางเลือกของการใช้งานในพื้นที่อีอีซี ให้มีความหลากหลายขึ้น ตัวอย่าง บริการแอปพลิเคชัน ThaID ของกรมการปกครอง ที่วันนี้มีคนไทยใช้งานแล้วกว่า 12.7 ล้านคน เป็นต้น
และเนื่องจากอีอีซี เป็นพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษที่มีความพร้อม ที่จะสะท้อนให้เราได้เห็นระบบนิเวศน์และสภาพแวดล้อมของการใช้งาน Digital ID ทั้งในมุมของคนต่างชาติที่เข้ามาทำงานและที่ลงทุนในพื้นที่นี้ได้อย่างเป็นรูปธรรม จึงเป็นโอกาสที่ดีที่ ETDA และพาร์ทเนอร์จะได้มีการดำเนินงานที่จะนำไปสู่การต่อยอดการพัฒนาและเสนอแนะมาตรฐานเพื่อสนับสนุนบริการ Digital ID สำหรับคนต่างชาติ รวมถึงมาตรฐานการมอบอำนาจกรณีนิติบุคคลในระยะต่อไป ในขณะเดียวกัน ETDA ยังจะเข้าไปช่วยพัฒนาระบบใบอนุญาตแบบดิจิทัล (e-Licensing) ทั้งในมุมของการกำหนดมาตรฐานระบบ e-Licensing ในการใช้งานเอกสารรับรอง (Verifiable Credential) และเอกสารสำแดง (Verifiable Presentation) ที่สำคัญ ซึ่งปัจจุบันมีอยู่กว่า 40 รายการ เพื่อให้สามารถดำเนินการในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ พร้อมๆ กับบูรณาการการดำเนินงานที่สำคัญ เช่น ความร่วมมือในระดับนโยบาย การแลกเปลี่ยนข้อมูล ตลอดจนความร่วมมือด้านบุคลากรระหว่างหน่วยงาน ความร่วมมือด้านการศึกษาวิจัยเพื่อกำหนดแนวทางการสนับสนุนระบบนิเวศด้านการลงทุนที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจแพลตฟอร์มดิจิทัล เป็นต้น ซึ่งจะช่วยกระตุ้นให้เกิดการลงทุนในพื้นที่อีอีซี เพิ่มมากขึ้น