Long COVID เชื้อจบ อาการไม่จบ : ทำความเข้าใจภาวะเรื้อรังหลังหายป่วยโควิด-19
Long COVID เชื้อจบ อาการไม่จบ : ทำความเข้าใจภาวะเรื้อรังหลังหายป่วยโควิด-19
กรุงเทพฯ- กรมการแพทย์ โดยสถาบันโรคทรวงอก ชี้แจงเกี่ยวกับภาวะลองโควิด (LONG COVID) อาการที่สามารถเกิดขึ้นกับผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 แม้จะหายจากการติดเชื้อแต่ยังมีผลข้างเคียงซึ่งส่งผลกระทบต่อสุขภาวะของผู้ป่วยในระยะยาว พร้อมแนะแนวทางปฏิบัติเพื่อฟื้นสุขภาพร่างกายเมื่อหายป่วย
พญ.เปี่ยมลาภ แสงสายัณห์ หัวหน้ากลุ่มงานอายุรศาสตร์ปอด สถาบันโรคทรวงอก อธิบายว่า Long COVID หรือ อาการหลงเหลือหลังติดเชื้อโควิด-19 พบในผู้ป่วยบางรายที่เป็น โควิด–19 และพ้นระยะการแพร่เชื้อ ( เชื้อ โควิดอยู่ในร่างกายประมาณ 10-14 วันมากสุด 21 วัน) แล้วแต่ยังแสดงอาการคล้ายคลึงกับอาการขณะที่ยังติดมีเชื้อโควิด–19 อยู่ ในภาวะปกติหลังติดเชื้อไวรัส ผู้ป่วยจะมีอาการฟื้นตัวได้ภายใน 2-3 สัปดาห์ ต่ในผู้ป่วย Long COVID กลับพบว่ามีอาการมากกว่า 2 เดือนขึ้นไป และสามารถมีอาการได้นานถึง 4-6 เดือน ลักษณะอาการที่สามารถสังเกตได้ในกรณีที่มี ภาวะ Long COVID คือจะมีอาการคั่นเนื้อคั่นตัว อาการไอเล็กน้อย อ่อนเพลีย ยังรู้สึกถึงการไม่ฟื้นตัวจากอาการป่วย เช่น ยังรู้สึกเหนื่อยหายใจไม่อิ่ม อาการ Long COVID ไม่มีผลต่อสุขภาพในระยะยาวกว่านั้น
อย่างไรก็ดี ภาวะ LONG Covid ใช่ว่าจะเกิดขึ้นกับผู้ป่วยที่หายจากอาการติดเชื้อทุกคน สาเหตุของภาวะ Long COVID นั้นเกิดจากภาวะอักเสบที่ยังหลงเหลือ หรือเกิดจากการใช้ยากดภูมิคุ้มกัน เช่น ยาในกลุ่มสเตียรอยด์ ปัจจัยที่มีผลต่อการเกิด LONG Covid ได้แก่ อายุ กล่าวคือผู้สูงอายุมีโอกาสเป็นไปได้สูงที่พบว่ามีภาวะ LONG Covid หรือโรคประจำตัวเช่น ภาวะอ้วน ระบบภูมิคุ้มกันต่ำ หรือ ผู้ป่วยที่ได้รับการรักษาด้วยยากดภูมิคุ้มกัน ทำให้ร่างกายทำงานได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ คนไข้จึงรู้สึกอ่อนเพลีย อีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่ส่งผลให้เกิด LONG Covid คือความเครียด ซึ่งอาจเกิดจากความวิตกกังวลอันเนื่องจากความเจ็บป่วย หรือความเครียดที่เกิดขึ้นเมื่อต้องถูกจำกัดบริเวณจากการกักตัวเป็นเวลานาน
แนวทางการรักษาภาวะ Long COVID นั้นจะเน้นที่การรักษาตามอาการเป็นหลัก ผู้ป่วยสามารถรอให้หายเองได้หากรู้สึกถึงอาการเพียงเล็กน้อย แต่หากอาการไม่ดีขึ้นหรือแย่ลง เช่น อยากมีอาการไอ เหนื่อย หอบมมากขึ้น หรือมีอาการทางระบบประสาทที่มีมากกว่าปกติ เช่น รู้สึกสับสน ผู้ป่วยควรพบแพทย์เพื่อทำการวินิจฉัยและหาแนวทางการรักษาต่อไป การออกกำลังกายเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้การกลับมาทำงานของร่างกายได้อย่างรวดเร็วและสมบูรณ์ นอกจากนี้ป่วยต้องอาศัยกำลังใจทั้งจากตนเองและคนรอบข้าง อย่างเช่นการพูดคุย สื่อสาร ทำกิจกรรมเชิงสร้างสรรค์เพื่อบรรเทาความเครียด ก็สามารถช่วยให้สุขภาพจิตที่ย่ำแย่อันเนื่องมาจากภาวะ Long COVID ดีขึ้นได้
“อีกหนึ่งข้อสงสัยที่ว่าการรับวัคซีนจะช่วยลดความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะ Long COVID ได้หรือไม่นั้น สามารถกล่าวได้ว่าวัคซีนจะเป็นตัวช่วยให้ผู้ป่วยเมื่อติดเชื้อ จะไม่มีอาการเจ็บป่วยรุนแรง กล่าวคือ เมื่อไม่มีอาการเจ็บป่วยรุนแรง ก็เท่ากับว่ามีโอกาสที่จะเกิดภาวะ Long COVID ได้น้อยลงแน่นอน”
มีข้อสงสัยว่าในผู้ป่วยที่ภาวะปอดอักเสบรุนแรงจากการติดเชื้อโควิด-19 หลังจากดีขึ้นแล้ว กลับมามีปัญหาหอบเหนื่อย และมีภาวะออกซิเจนต่ำนั้น คือภาวะ Long COVID หรือไม่ อาการดังที่กล่าวเกิดจากความเสียหายของปอดนั้น ไม่ได้เกี่ยวข้องกับภาวะ Long COVID โดยตรง หากแต่มีผลมาจากการทำลายเนื้อเยื่อโดยภูมิคุ้มกันทำให้ปอดมีความเสื่อม และยังไม่ฟื้นตัวพร้อมทำงานอย่างเต็มที่ เกิดภาวะพร่องออกซิเจนที่ทำให้เหนื่อยหอบ หรือเกิดจากการติดเชื้อ อื่นซ้ำเติมเช่น เชื้อราหรือ แบคทีเรีย อาการของ Long COVID ที่แท้จริงคืออาการที่ผู้ป่วยรู้สึกไม่สบายเนื้อสบายตัว รู้สึกมีอาการไข้ หรือไอมากกว่าปกติ แต่ไม่ได้ส่งผลให้เนื้อปอดอักเสบเพิ่มขึ้น