RATCH เล็งแตกไลน์ธุรกิจใหม่ใน สปป.ลาว
บริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) หรือ RATCH
เป็นอีกหนึ่งบริษัทชั้นนำของประเทศไทย ที่ได้ประกาศความพร้อมด้านการลงทุนในกลุ่มประเทศอาเซียน ล่าสุด เตรียมเดินเครื่องเชิงพาณิชย์ โรงไฟฟ้าพลังน้ำเซเปียน เซน้ำน้อย กำลังผลิตติดตั้ง 410 เมกะวัตต์ ตั้งอยู่ในแขวงจำปาสักและอัตตะปือ สปป. ลาว ในเดือน ก.พ. 2562
โดยมีสัญญาขายไฟฟ้า 354 เมกะวัตต์ให้แก่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ระยะเวลา 27 ปี (ตั้งแต่ปี 2562-2589) และอีก 40 เมกะวัตต์ จะผลิตและจำหน่ายให้แก่การไฟฟ้าลาว
สำหรับโครงการนี้มีมูลค่าประมาณ 32,460 ล้านบาท และเป็นโครงการโรงไฟฟ้าแห่งที่ 3 ของบริษัทฯ ที่ลงทุนใน สปป. ลาว นับจากโครงการโรงไฟฟ้าน้ำงึม 2 ขนาดกำลังผลิตติดตั้ง 615 เมกะวัตต์ และโครงการโรงไฟฟ้าหงสา กำลังผลิตติดตั้ง 1,878 เมกะวัตต์
นายกิจจา ศรีพัฑฒางกุระ กรรมการผู้จัดการใหญ่ RATCH เล่าว่า ปัจจุบัน บริษัทได้ลงทุนใน สปป.ลาว มูลค่ารวม 20,800 ล้านบาท โดยนอกจากโรงไฟฟ้าทั้ง 3 แห่งข้างต้นแล้ว ยังมีเงินลงทุนในหุ้นของบริษัท ผลิตไฟฟ้าลาว มหาชน (EDL Generation Public Company) และบริษัท ราช-ลาว เซอร์วิส จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทย่อยที่เป็นฐานธุรกิจใน สปป. ลาว
โครงการเซเปียน เซน้ำน้อย เป็นความร่วมมือระหว่างพันธมิตร 4 ราย ได้แก่ ราชบุรีโฮลดิ้ง ถือหุ้น 25%, SK Engineering and Construction 26%, Korea Western Power 25% และ Lao Holding State Enterprise 24% ซึ่งพัฒนาขึ้นภายใต้ความร่วมมือการพัฒนาพลังงานไฟฟ้าไทยและสปป.ลาว ฉบับที่ 4 ลงนามเมื่อปี 2550 โดยกำหนดกรอบรับซื้อไฟฟ้าจาก สปป.ลาว จำนวน 7,000 เมกะวัตต์
อย่างไรก็ดี โครงการเซเปียน เซน้ำน้อย นี้จะเข้ามาช่วยเสริมความมั่นคงระบบไฟฟ้าภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งความต้องการใช้ไฟฟ้ามีแนวโน้มสูงขึ้นจากการขยายตัวของชุมชนเมือง การเชื่อมโยงเศรษฐกิจทั้งการค้า และการลงทุนกับประเทศเพื่อนบ้าน บวกกับการรวมเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนหรือ AEC และนโยบาย Smart City ของรัฐบาล ซึ่งไฟฟ้าที่ใช้ในระบบของภาคอีสานส่วนใหญ่นำเข้าจาก สปป. ลาว ในปีนี้คาดการณ์ว่าความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุดในภาคอีสานจะเพิ่มขึ้น 1.46% อยู่ที่ประมาณ 3,700 เมกะวัตต์ ขณะที่กำลังผลิตตามสัญญาอยู่ที่ประมาณ 4,100 เมกะวัตต์
นายกิจจา ยังได้กล่าวอีกว่า สำหรับงานก่อสร้างโครงการเซเปียน เซน้ำน้อยจะใช้เวลารวม 64 เดือน กำหนดเดินเครื่องเชิงพาณิชย์วันที่ 6 ก.พ.2562 ปัจจุบันการก่อสร้างก้าวหน้าถึง 89% โดยเฉพาะงานก่อสร้างอ่างเก็บน้ำ 3 แห่งตั้งอยู่ในแขวงจำปาสัก ประกอบด้วย ฝายห้วยหมากจัน เขื่อนเซเปียน และเขื่อนเซน้ำน้อย ได้ก่อสร้างเสร็จสมบูรณ์และเริ่มเก็บน้ำแล้วเมื่อปี 60 จนถึงปัจจุบันมีปริมาณน้ำ 71% ส่วนงานก่อสร้างโรงไฟฟ้าที่ตั้งอยู่ในแขวงอัตตะปือ อยู่ระหว่างติดตั้งกังหันพลังน้ำและเครื่องกำเนิดไฟฟ้าจำนวน 4 ชุด
โครงการนี้ นับเป็นความท้าทายของงานออกแบบและก่อสร้างทางวิศวกรรมของโรงไฟฟ้าพลังน้ำแห่งหนึ่งของภูมิภาคนี้ เนื่องจากเป็นการออกแบบอ่างเก็บน้ำถึง 3 ระดับ โดยมีการขุดเจาะอุโมงค์ผันน้ำในแนวราบยาวรวม 13.59 กิโลเมตร ด้วยเทคโนโลยี (Tunnel Boring Machine: TBM) และแนวดิ่งสูง 458 เมตร ทำให้เพิ่มระดับความสูงมีความสูงของน้ำถึง 650 เมตร เพื่อสร้างแรงดันน้ำในการหมุนกังหันผลิตไฟฟ้าโดยใช้ปริมาณน้ำน้อยมาก
“ สปป. ลาว ถือเป็นฐานธุรกิจที่สำคัญของบริษัทฯ โดยกำลังผลิตในสปป. ลาว มีสัดส่วน 15% ของกำลังผลิตตามการลงทุนรวมของบริษัท (7,552.4 เมกะวัตต์) ในปี 60 ธุรกิจในสปป. ลาว สร้างรายได้เป็นเงินประมาณ 2,500 ล้านบาท คิดเป็น 5% ของรายได้รวม ทั้งนี้ บริษัทฯ มีเป้าหมายจะขยายการลงทุนในโครงการพลังงานน้ำ ซึ่งภายใต้กรอบความร่วมมือพัฒนาพลังงานไฟฟ้าของไทย-ลาว ฉบับที่ 5 ยังมีโอกาสอีก 3,000 เมกะวัตต์ ” นายกิจจา กล่าวพร้อมกับบอกว่า
ยังมีโครงการสาธารณูปโภคพื้นฐานอีกหลายโครงการที่น่าสนใจเข้าไปลงทุนใน สปป. ลาว อาทิ น้ำประปา และเชื้อเพลิงชีวมวลอัดเม็ด (Wood Pallet) ซึ่งรูปแบบการลงทุนของ บริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) โดยจะเน้นร่วมทุนกับพันธมิตรธุรกิจ โดยบริษัทจะลงทุนไม่น้อยกว่า 25 %
ปัจจุบัน บริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) มีกำลังผลิตไฟฟ้าตามสัดส่วนรวม 7,552.4 เมกะวัตต์ ประกอบด้วย กำลังผลิตที่เดินเครื่องเชิงพาณิชย์แล้ว 6,624.19 เมกะวัตต์ และอยู่ระหว่างการก่อสร้างและพัฒนารวม 928.21 เมกะวัตต์ จากฐานการลงทุนใน 5 ประเทศ ได้แก่ ประเทศไทย 5,187.21 เมกะวัตต์ สปป.ลาว 1,121.81 เมกะวัตต์ ออสเตรเลีย 866.35 เมกะวัตต์ จีน 236 เมกะวัตต์ และอินโดนีเซีย 141.03 เมกะวัตต์.