BCP ขาดทุนน้ำมันร่วง คาดธุรกิจผ่านจุดต่ำสุดแล้ว
BCP เผย ผลการดำเนินงาน ครึ่งแรกปีนี้ ธุรกิจน่าจะผ่านจุดต่ำสุดไปแล้ว หลังจากได้รับผลกระทบจากโควิด19 และราคาน้ำมันโลกที่ปรับลดลง ส่งผลให้ขาดทุนสุทธิ 6,571 ล้านบาท
นายชัยวัฒน์ โควาวิสารัช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.บางจาก คอร์ปอเรชั่น (BCP) เปิดเผยว่า ผลการดำเนินงานในช่วงครึ่งแรกปีนี้ ธุรกิจของกลุ่มบริษัทฯ น่าจะผ่านจุดต่ำสุดไปแล้ว ในการได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 และราคาน้ำมันโลกที่ปรับลดลงหลังจากหลายประเทศทั่วโลกเริ่มมีการผ่อนคลายมาตรการปิดเมือง และผ่อนปรนมาตรการการเดินทางมากขึ้น ประกอบกับภาครัฐมีนโยบายการกระตุ้นเศรษฐกิจ คาดว่าจะส่งผลให้ความต้องการใช้น้ำมันในภาคอุตสาหกรรมและภาคการขนส่งเพิ่มขึ้น
นอกจากนี้ อุปทานน้ำมันดิบส่วนเกินมีแนวโน้มปรับลดลง หลังจากกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปก) และพันธมิตรร่วมมือกันลดกำลังการผลิตได้ตามข้อตกลง คาดว่าจะทำให้ราคาน้ำมันปรับตัวดีขึ้น ซึ่งจะเป็นแรงหนุนให้ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับน้ำมันในช่วงครึ่งปีหลังเริ่มฟื้นตัว โดยในไตรมาส 2 ธุรกิจปรับตัวดีขึ้นจากไตรมาสแรกของปี 2563 แต่ธุรกิจโรงกลั่นยังคงได้รับผลกระทบจากราคาน้ำมันดิบและราคาน้ำมันสำเร็จรูปที่ยังอยู่ในระดับต่ำ
นอกจากนี้ในช่วงไตรมาสที่ 2 ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว เช่น สายการบิน ที่ได้รับผลกระทบหนักที่สุด ทำให้ในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2563 มีรายได้จากการขายและการให้บริการ 69,665 ล้านบาท ลดลง 26% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน มีกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ,ภาษี,ค่าเสื่อม และค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) ติดลบ 1,415 ล้านบาท ลดลง 134% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน มีผลขาดทุนสุทธิส่วนของบริษัทใหญ่ 6,571 ล้านบาท ลดลง 986% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน คิดเป็นขาดทุนต่อหุ้น 5.02 บาท
สำหรับผลประกอบการไตรมาส 2 ของปี 2563 บริษัทฯ และบริษัทย่อย มีรายได้จากการขายและการให้บริการ 26,594 ล้านบาท ลดลง 38% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า มี EBITDA 1,131 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 144% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า มี Operating EBITDA 2,645 ล้านบาท โดยกลุ่มบริษัทฯ มี Inventory Loss 1,725 ล้านบาท (รวมกลับรายการขาดทุนจากการปรับมูลค่าสินค้าคงเหลือ (NRV) 1,635 ล้านบาท)
และเมื่อรวมการบันทึกขาดทุนจากการด้อยค่าลูกหนี้การค้ารายใหญ่ และการตั้งด้อยค่าสินทรัพย์จากการปรับเปลี่ยนรูปแบบธุรกิจค้าปลีกของธุรกิจในกลุ่ม ส่งผลให้ไตรมาสนี้ขาดทุนสุทธิส่วนของบริษัทใหญ่ 1,911 ล้านบาท ปรับตัวดีขึ้น 59% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า และปรับตัวลดลง 462% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน คิดเป็นขาดทุนต่อหุ้น 1.50 บาท
ในส่วนของผลการดำเนินงานของกลุ่มธุรกิจต่างๆ นั้นได้ผ่านจุดต่ำสุดในเดือนเมษายน โดยกลุ่มธุรกิจโรงกลั่นและการค้าน้ำมัน ที่แม้ยังคงได้รับผลกระทบจากค่าการกลั่นที่ยังอยู่ในระดับต่ำตามความต้องการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงทั่วโลกที่ลดลง ได้ปิดซ่อมหน่วยกลั่นที่ 2 เป็นเวลา 2 เดือนในเดือนเมษายนและพฤษภาคม ทำให้การผลิตลดลงเหลือ 74% ของกำลังการผลิตรวมของโรงกลั่น เฉลี่ยอยู่ที่ 89,300 บาร์เรลต่อวัน เหมาะสมกับความต้องการใช้น้ำมันในประเทศ
“ครึ่งปีหลังของปี 2563 แม้จะมีสัญญาณว่าธุรกิจได้เริ่มฟื้นตัวจากครึ่งปีแรก แต่เราจะยังคงไม่ประมาท คุมเข้มมาตรการควบคุมค่าใช้จ่ายและการใช้เงินลงทุนเพื่อลดผลกระทบที่เกิดขึ้น รวมถึงการบริหารจัดการเงินทุนหมุนเวียนให้เพียงพอ และเร่งหา New S-Curve จากธุรกิจใหม่ๆ เพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืน” นายชัยวัฒน์ กล่าว