“A+Food” สร้างธุรกิจจากความชำนาญ
ประสบการณ์และความเชี่ยวชาญในสายงานที่ทำสามารถสร้างธุรกิจให้กับผู้ประกอบการหน้าใหม่มามากมาย ด้วยการมองเห็นโอกาส และช่องทางในการเข้าทำตลาดจากข้อได้เปรียบที่ได้คลุกคลีอยู่วงใน อีกทั้งยังมีเครือข่ายลูกค้าที่มีความสัมพันธ์อันดี
“ทิพย์วรรณ ไกรเพ็ชร์” คืออีกหนึ่งหญิงเก่งที่สร้างธุรกิจของตนเองขึ้นมา โดยใช้ความได้เปรียบดังกล่าวข้างต้นมาเป็นปัจจัยที่ช่วยส่งเสริม จนสามารถ Start up ธุรกิจอาหารแช่แข็งขึ้นมาภายใต้แบรนด์ “A+Food” (เอฟู้ดส์) โดยที่ปัจจุบันกำลังดำเนินกลยุทธ์ทางการตลาดอย่างเป็นขั้นเป็นตอนตามยุทธศาสตร์ที่วางเอาไว้
–จากงานประจำสู่ธุรกิจ
ทิพย์วรรณ ในฐานะประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เฟรซโกรเซอร์ จำกัด บอกถึงที่มาที่ไปของไอเดียในการสร้างธุรกิจ ว่า มาจากการที่ตัวเธอทำงานทางด้านสายค้าปลีกและค้าส่งให้กับห้างโมเดิร์นเทรดมากว่า 20 ปี และในระยะหลังได้มาเป็นผู้บริหารโครงการขายส่งให้กับร้านอาหารต่างๆ โดยในช่วงที่ทำงานประจำนั้นได้มีโอกาสเข้าไปเป็นที่ปรึกษาให้กับโรงงานอาหารแช่แข็ง และทำหน้าร้านด้วย
ทั้งนี้ จึงทำให้ตัวเธอได้ทราบถึงรายละเอียดของการให้บริการทางด้านอาหารแช่แข็งว่าเป็นอย่างไร พร้อมกันนี้ก็ยังเรียนรู้อย่างจริงจังเกี่ยวกับกระบวนการผลิต การคัดเลือกสินค้าเพื่อการส่งออก ตัวเธอจึงตัดสินใจไปติดต่อกับโรงงานที่ทำอาหารแช่แข็ง โดยที่ตัวเธอจะเป็นผู้คัดเลือกวัตถุดิบมาให้ เพื่อนำไปผ่านกระบวนการแช่แข็ง และทำการส่งออกไปต่างประเทศให้กับลูกค้า แบรนด์ “A+Food” จึงเกิดขึ้นในที่สุด
สำหรับการทำตลาดของแบรนด์ปีนี้ ตัวเธอบอกว่าจะดำเนินการอย่างเต็มรูปแบบมากขึ้นทั้งตลาดในประเทศ ซึ่งตัวเธอได้มีการเปิดหน้าร้านจำหน่ายอย่างเป็นทางการ 2 สาขาที่มุกดาหาร และตลาดไท (กรุงเทพมหานคร) โดยใช้กลยุทธ์หลักมุ่งเน้นการทำธุรกิจในรูปแบบธุรกิจกับธุรกิจ (B2B)
อย่างไรก็ดี ล่าสุดบริษัทได้ดำเนินการส่งทีมการตลาดเข้าหาลูกค้าโดยตรง ซึ่งเป็นผู้ประกอบการที่ทำธุรกิจเกี่ยวกับร้านอาหาร,โรงแรม และผู้ประกอบที่ต้องการอาหารแช่แข็งเพื่อไปจำหน่ายต่อ โดยในระยะแรกจะเน้นลูกค้าในโซนรอบนอกกรุงเทพฯ เช่น ปทุมธานี,อยุธยา และสระบุรี
หลังจากนั้นในลำดับถัดไปจะเข้าทำตลาดกับลูกค้าในกรุงเทพชั้นใน ซึ่งมีร้านอาหารอยู่เป็นจำนวนมาก เช่น ทองหล่อ และสุขุมวิท เป็นต้น โดยมองว่าผู้ประกอบการดังกล่าวเหล่านี้มีความต้องการอาหารแช่แข็งมากขึ้น เนื่องจากสามารถควบคุมคุณภาพองอาหาร รวมถึงมีอายุในการเก็บได้ยาวนาน และไม่มีต้นทุนแอบแฝง
ขณะที่กลยุทธ์การจำหน่ายหน้าร้านนั้น บริษัทจะมีโปรโมชั่นพิเศษสำหรับลูกค้ารายย่อยเดือนละครั้ง พร้อมทั้งการประชาสัมพันธ์ให้ร้านเป็นที่รู้จักของผู้บริโภค โดยตั้งเป้าให้มีสัดส่วนลูกค้าแบบ B2B ประมาณ 70% และเป็นลูกค้าหน้าร้านประมาณ 30% จากปัจจุบันที่มีสัดส่วน B2B อยู่ที่ 95% และลูกค้าหน้าร้านอยู่ที่ 5% ซึ่งเชื่อว่าสัดส่วนจะทยอยปรับขึ้นจึงถึงระดับที่วางเป้าหมายเอาไว้ตามกลยุทธ์ในการทำตลาดอย่างเป็นขั้นตอน
–ขยายตลาดต่างประเทศ
ทิพย์วรรณบอกอีกว่า การทำตลาดส่งออกต่างประเทศนั้น ปัจจุบันบริษัทมีการดำเนินการอยู่แล้วที่ประเทศเกาหลี โดยการขยายตลาดเพื่อเพิ่มฐานลูกค้าส่งออก ล่าสุดกำลังอยู่ในขั้นตอนของการเจรจาทางธุรกิจ และการขอใบอนุญาตรับรองผลิตภัณฑ์กับประเทศสหรัฐอเมริกาและกลุ่มประเทศในสหราชอาณาจักร (UK) นอกจากนี้ บริษัทยังจะดำเนินการทำตลาดผ่านเว็บไซด์ไทยเทรดดอทคอม (www.Thaitrade.com) ซึ่งบริษัทเป็นสมาชิกอยู่แต่ยังไม่ได้มีการทำตลาดบนเว็บไซด์ดังกล่าวอย่างจริงจัง
ในส่วนของรูปแบบออนไลน์บริษัทยังมีการทำตลาดผ่านเว็บไซด์ตลาดสดดอทคอม (www.taradsodd.com) ซึ่งจากกลยุทธ์ในการทำตลาดดังกล่าวเชื่อว่าจะสามารถทำให้บริษัทมีรายได้อยู่ที่ประมาณ 3-5 ล้านบาทต่อเดือน หรือประมาณ 50 ล้านบาทในปีนี้ โดยมองว่าแนวโน้มของการทำธุรกิจอาหารแช่แข็งยังมีโอกาสเติบโตได้อีกมากในระยะยาว เนื่องจากผู้บริโภคต่างประเทศมีความนิยมอาหารแช่แข็งมานานไม่ว่าจะเป็นที่สหรัฐฯ หรือประเทศในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อย่างจีน และอินเดีย เป็นต้น เพียงแต่ตลาดในประเทศเพิ่มเริ่มจะได้รับความนิยม โดยตนมีความเชื่อว่าอาหารในรูปแบบดังกล่าวจะเป็นอนาคตของอาหารสำหรับผู้บริโภค
-กระบวนการผลิตได้มาตรฐานทิพย์วรรณบอกต่อไปอีกว่า จุดเด่นของผลิตภัณฑ์ภายใต้แบรนด์ “A+Food” อยู่ที่การเป็นอาหารแช่แข็งจากโรงงานที่ได้มาตรฐาน พร้อมทั้งสามารถทำตามออเดอร์สินค้าในแบบที่ลูกค้าต้องการจะใช้ในธุรกิจได้ ซึ่งมาจากความได้เปรียบของบริษัทที่ทำธุรกิจร่วมกับโรงงานผู้ผลิตมานาน อีกทั้งยังมีการให้บริการจัดส่งสินค้า ซึ่งตามปกติร้านส่วนใหญ่ในตลาดไทจะไม่มีให้บริการ
“กระบวนการผลิตของอาหารแช่แข็งมีมาตรฐานมากกว่าอาหารสดที่จำหน่าย ด้วยการเข้าไปที่โรงงานแช่แข็งหลังจากกระบวนการตัดแต่ง โดยผ่านอุปกรณ์ทำความเย็นที่อุณหภูมิติดลบ 40 องศาเซลเซียส เพื่อให้สามารถเก็บรักษาอาหารได้นาน 18-24 เดือน ซึ่งหากมองตามภาพแล้วต้นทุนอาจจะดูสูงกว่าอาหารสด แต่อาหารแช่แข็งจะมีการระบุชัดเจนว่าเมื่อละลายน้ำแข็งออกน้ำหนักของอาหารจะเหลืออยู่ที่เท่าไหร่ และเก็บรักษาไว้ใช้งานต่อได้ แตกต่างจากอาหารสดที่เก็บต่อได้ไม่นาน เพราะฉะนั้นจึงมองว่านี่คืออนาคตของอาหารที่มีโอกาสเติบโตได้อีกมาก”
ด้านผู้บริโภคยุคใหม่เองก็มีการรับรู้เรื่องของกระบวนการผลิต และเทคโนโลยีทางด้านอาหารมากมายจากหลากหลายช่องทาง ทำให้พอจะทราบว่าอาหารแต่ละประเภทมีต้นทุนอย่างไร โดยพฤติกรรมของผู้บริโภคยุคใหม่จะมองเรื่องของคุณภาพและราคาที่สมเหตุสมผลสอดคล้องกัน โดนราคาที่จำหน่ายของแบรนด์นั้น เรียกว่า ซื้อในปริมาณน้อยว่าถูกแล้ว แต่หากซื้อปริมาณมากจะยิ่งถูกมากขึ้น.