คปภ.เสริมแกร่ง SME ผ่านประกันภัย
คปภ. จัดติวเข้มสร้างเกราะบริหารความเสี่ยงให้ธุรกิจ SME ผ่านระบบประกันภัย เผยพร้อมดีไซน์สินค้าประกันภัยเป็นการเฉพาะ มุ่งตอบโจทย์ความต้องการของธุรกิจทุกขนาด
ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) กล่าวเปิดสัมมนา “ประกันภัยถูกทางสร้างเกราะให้SME” ที่ร.ร.คลาสสิคคามิโอจ.อยุธยาโดยย้ำตอนหนึ่งว่าสำนักงาน คปภ.ออกผลิตภัณฑ์ประกันภัยแบบใหม่ๆในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของผู้เอาประกันภัยอย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะกลุ่มเศรษฐกิจฐานรากที่สามารถเข้าถึงและใช้ประโยชน์จากระบบประกันภัย เพื่อใช้เป็นเครื่องมือบริหารความเสี่ยง รวมทั้งส่งเสริมและสร้างความตระหนักถึงความสำคัญของการทำประกันภัยผ่านผลิตภัณฑ์ไมโครอินชัวรันส์ สำหรับการประกันภัยพืชผลทางการเกษตรเช่นการประกันภัยข้าวนาปี การประกันภัยข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ การประกันภัยลำไย การประกันภัยโคนม การประกันภัยประมง
นอกจากนี้ ยังได้ออกกรมธรรม์ที่เหมาะสมกับสภาพความเสี่ยงของผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางที่มีมูลค่าไม่เกิน 50 ล้านบาท และไม่เกิน 200 ล้านบาท หรือที่เรียกว่า กรมธรรม์ประกันภัยสำหรับผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (SME Package) ซึ่งเป็นกรมธรรม์ที่รวมความคุ้มครองไว้อย่างครอบคลุมกับความต้องการของผู้ประกอบการ โดยมีความคุ้มครองหลักสำหรับการประกันภัยเงินทดแทนการสูญเสียรายได้ การประกันโจรกรรม การประกันภัยสำหรับเงินภายในสถานที่เอาประกัน การประกันภัยสำหรับกระจก การประกันภัยความรับผิดต่อบุคคลภายนอก และการประกันภัยอุบัติเหตุส่วนบุคคลเป็นต้น
ทั้งนี้ ความเสี่ยงต่อการดำเนินธุรกิจสามารถเกิดขึ้นได้ตลอดเวลาและมีความเสี่ยงหลากหลายรูปแบบ ที่อาจเกิดขึ้นและส่งผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจของผู้ประกอบการ SME โดยเฉพาะผู้ประกอบการ SME ที่เกี่ยวกับการให้บริการท่องเที่ยว ดังนั้น นายทะเบียนจึงได้ให้ความเห็นชอบแบบกรมธรรม์ประกันภัย และสำนักงาน คปภ. ได้ส่งเสริมผลิตภัณฑ์ประกันภัยเพื่อรองรับการปฏิบัติตาม พ.ร.บ.นำเที่ยวและมัคคุเทศก์ พ.ศ. 2551 มาตรา 34 เพื่อให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์ประกาศ ณ วันที่ 20 ก.ย.61
กล่าวคือกฎหมายบังคับให้ผู้ประกอบธุรกิจนำเที่ยวทุกรายต้องจัดให้มีประกันภัยสำหรับอุบัติเหตุให้แก่นักท่องเที่ยวมัคคุเทศก์ และผู้นำเที่ยวในระหว่างเดินทางท่องเที่ยว โดยมีเงินเอาประกันภัยกรณีเสียชีวิตสูญเสียอวัยวะ หรือทุพพลภาพไม่ต่ำกว่า 1,000,000 บาทต่อคนและกรณีบาดเจ็บไม่ต่ำกว่า 500,000 บาทต่อคน และหากผู้ประกอบการธุรกิจนำเที่ยวไม่จัดให้มีประกันตามที่กฎหมายกำหนด ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 500,000 บาท เพื่อลดความเสี่ยงในการประกอบธุรกิจ หากมีอุบัติเหตุเกิดขึ้นในระหว่างการให้บริการแก่นักท่องเที่ยว
นอกจากนี้ ยังได้ส่งเสริมผลิตภัณฑ์เพื่อปฏิบัติตาม พ.ร.บ.หอพัก พ.ศ.2558 มาตรา 57 ซึ่งกำหนดให้ผู้ประกอบกิจการหอพักต้องจัดให้มีการประกันภัย เพื่อคุ้มครองชีวิตร่างกายและทรัพย์สินของผู้พัก ซึ่งเป็นไปตามประกาศคณะกรรมการส่งเสริมกิจการหอพักเรื่องหลักเกณฑ์การจัดให้มีการประกันภัยเพื่อคุ้มครองชีวิตร่างกายและทรัพย์สินของผู้พักตาม พ.ร.บ.หอพัก พ.ศ. 2558
โดยมีความคุ้มครองการเสียชีวิตทุพพลภาพถาวรสิ้นเชิงและค่ารักษาพยาบาลของผู้พัก อันเป็นผลมาจากหอพักเกิดไฟไหม้ หรือระเบิด หรือผู้พักถูกฆาตกรรมถูกทำร้ายร่างกาย โดยอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นในหอพัก รวมทั้งคุ้มครองทรัพย์สินส่วนตัวของผู้พัก อันเป็นผลมาจากสถานที่ประกันภัยเกิดไฟไหม้ และหากผู้ประกอบกิจการหอพักผู้ใดไม่ปฏิบัติต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 50,000 บาท
ดร.สุทธิพล ย้ำว่า “สำนักงานคปภ. มีหน้าที่สร้างความเข้าใจเกี่ยวกับการประกันภัยให้กับผู้เอาประกันภัยทุกกลุ่ม ดังนั้น จึงขึ้นอยู่กับผู้ประกอบการ SME ว่าจะจัดการบริหารความเสี่ยงนั้นอย่างไร และหากภาคธุรกิจใดประสงค์จะให้พัฒนาผลิตภัณฑ์ประกันภัย เพื่อตอบโจทย์ความต้องการในการประกอบธุรกิจขนาดต่างๆ ก็สามารถให้ข้อแนะนำต่อสำนักงาน คปภ.ได้ หรือหากจัดทำประกันภัยไว้แล้วและไม่ได้รับความเป็นธรรมเกี่ยวกับการเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนจากบริษัทประกันภัย ก็สามารถเข้าร้องเรียนได้ ซึ่งสำนักงาน คปภ. มีกระบวนการระงับข้อพิพาทด้านประกันภัยด้วยความเป็นธรรม เช่น กระบวนการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทด้านประกันภัย ผ่านผู้ไกล่เกลี่ยที่เป็นบุคคลภายนอกที่มีความรู้ความสามารถในการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทด้านประกันภัยโดยไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆ รวมถึงการระงับข้อพิพาทโดยอนุญาโตตุลาการ ที่ขึ้นทะเบียนกับสำนักงาน คปภ. ซึ่งเป็นทางเลือกแก่ผู้บริโภคด้านประกันภัย ในการใช้กระบวนการระงับข้อพิพาททางเลือกที่มีความรวดเร็วและเป็นธรรม”
อนึ่ง หากผู้ประกอบการ SME มีข้อสงสัยเกี่ยวกับการทำประกันภัยสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้สายด่วน 1168.