กู้ภัยไทยช่วยทารกจากเขื่อนแตกที่ลาว
ปฏิบัติการช่วยเหลือเด็กทารกชาย ซึ่งมีอาการหวาดกลัวและหิวโหยหลังจากไม่มีอาหารมานานหลายวัน ถูกถ่ายทอดเป็นไวรัลวิดีโอแพร่กระจายไปทั่วโลก แสดงให้เห็นทารกผู้รอดชีวิตจากเหตุเขื่อนแตกทางตอนใต้ของลาวที่ถูกนำตัวออกมาอย่างระมัดระวังจากน้ำท่วมและโคลนที่สูงท่วมเอว
โดยภาพฟุตเทจจิตอาสากู้ภัยไทยที่กำลังช่วยเหลือชาวลาว 14 คน รวมทั้งเด็กทารกกลายเป็นไวรัลหลังจากมีการโพสต์บนโลกออนไลน์เมื่อวันที่ 27 ก.ค.โดยเจ้าหน้าที่กู้ภัยจากนานาชาติปฏิบัติภารกิจในการช่วยชีวิตในเหตุภัยพิบัติที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตและผู้สูญหายจำนวนมาก
มีผู้รอดชีวิตติดค้างอยู่ในพื้นที่น้ำท่วมจำนวนมากหลังจากพวกเขาอพยพหนีขึ้นไปบนเขาเมื่อวันที่ 23 ก.ค. ที่เขื่อนเซเปียน – เซน้ำน้อยแตก และทำให้หลายหมู่บ้านพังเสียหายจากน้ำท่วมฉับพลันจากมวลน้ำมหาศาล
ทีมกู้ภัยของไทย ซึ่งลุยน้ำท่วมแรงและซากต้นไม้เข้าไปในพื้นที่ประสบภัยเป็นระยะทางหลายก.ม.เพื่อเข้าไปช่วยเหลือผู้ประสบภัยจากเขื่อนแตกที่ลาวในครั้งนี้ ยังคงมีเรี่ยวแรงหลังจากเสร็จสิ้นภารกิจเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยเหลือปฏิบัติการกู้ภัยนักฟุตบอลเยาวชนทีมหมูป่าจากถ้ำหลวง ขุนน้ำนางนอน ใน อ.แม่สาย จ.เชียงรายเมื่อช่วงต้นเดือน โดยพวกเขารุดเข้าช่วยเหลือประเทศเพื่อนบ้านอย่างลาวในทันที เนื่องจากลาวขาดอุปกรณ์ในการรับมือกับภัยพิบัติในขนาดนี้
“ เด็กทารกคนนี้อายุแค่ 4 เดือน เด็กไม่มีไข้แต่ร้องไห้ตลอด บางที่อาจเป็นเพราะอากาศเย็น” หนึ่งในทีมกู้ภัย ซึ่งมาจากภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทยให้สัมภาษณ์กับสื่อ AFP
“ เด็กร้องไห้และดูกลัวมาก จริงๆแล้วพวกเขาทุกคนยังหวาดกลัวจากน้ำที่ไหลมาอย่างเร็วและแรง”
ภาพวิดีโอของปฏิบัติการช่วยเหลือเด็กทารกคนนี้มียอดรับชมเกินครึ่งล้านวิว เพียงไม่กี่ชั่วโมงหลังจากมีการโพสต์ในโลกออนไลน์เมื่อวันที่ 27 ก.ค.ที่ผ่านมา
ทางการลาวระบุว่า พบร่างผู้เสียชีวิตแล้ว 27 ราย และนายกรัฐมนตรีทองลุน สีสุลิดของลาวรายงานว่าจนถึงตอนนี้มีรายงานผู้สูญหาย 131 คน
แต่เมื่อวันที่ 27 ก.ค. Leth Xiayaphone ผู้ว่าการแขวงอัตตะปือปรับลดตัวเลขลงมาเหลือ 5 คน โดยระบุว่า จำนวนที่สูงมากก่อนหน้านี้ เป็นข้อมูลที่ยังไม่ได้รับการยืนยัน
ทางการของลาวซึ่งเป็นระบบคอมมิวนิสต์ มีระบบที่ไม่เข้ากับระบบการตรวจสอบของนานาชาติ และปิดกั้นการเข้าถึงของสื่อต่างชาติ ทำให้เป็นเรื่องซับซ้อนที่จะทราบจำนวนผู้เสียชีวิตที่แท้จริง
ความเสียหายจากเขื่อนแตกในครั้งนี้ ก่อให้เกิดการตั้งคำถามเกี่ยวกับการลงทุนจำนวนมากของลาวกับนโยบายการผลิตไฟฟ้าพลังน้ำเพื่อเป็นการแก้ปัญหาความยากจนของประเทศ และเพื่อเป้าหมายที่จะเป็น ‘แบตเตอรี่ของเอเชีย’
ล่าสุด ( 28 ก.ค.) รัฐบาลลาวประกาศตัวเลขผู้สูญหายทั้งหมดจากเหตุเขื่อนเซเปียน-เซน้ำน้อยแตกอยู่ที่ 1,126 คน.