“เนปาล-เคนยา” โอกาสทอง ลงทุนไทย!
ภายหลังการหารือร่วมกันระหว่างสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ)
กับคณะผู้แทนหอการค้าเนปาล (Nepal Chamber of Commerce) นำโดย Mr. Deepak Kumar Malhotra รองประธานสภาหอการค้าเนปาล ถึงโอกาส และลู่ทางการลงทุนของนักธุรกิจไทยที่จะไปลงทุนในเนปาล
ซึ่งปัจจุบันรัฐบาลเนปาลเปิดกว้างต้อนรับการลงทุนจากต่างประเทศมากขึ้น รวมทั้งสนับสนุนให้เกิดการลงทุนในหลายอุตสาหกรรม อาทิ ด้านโครงสร้างพื้นฐาน โครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังน้ำ อุตสาหกรรมเกษตร ธุรกิจบริการ ธุรกิจโรงแรมและการท่องเที่ยว เป็นต้น นั้น
บีโอไอ พบว่า โอกาสทางธุรกิจที่น่าสนใจของไทยในเนปาล คือ ธุรกิจโรงพยาบาล โดยเฉพาะในพื้นที่ที่ติดกับประเทศอินเดียตอนเหนือ ซึ่งยังมีโรงพยาบาลที่มีมาตรฐานสูง (High end) ค่อนข้างน้อย ทำให้ผู้มีฐานะในพื้นที่ดังกล่าวต้องเดินทางไปรักษาตัวในประเทศใกล้เคียง เช่น ไทย สิงคโปร์ เป็นต้น หากโรงพยาบาลจากประเทศไทยไปลงทุนเปิดให้บริการ จะมีทั้งชาวอินเดียจากตอนเหนือและชาวเนปาลหันมารับบริการแทนการเดินทางไปรักษาที่อื่นๆ ซึ่งตั้งอยู่ห่างไกลออกไป
นายชูวงศ์ ตั้งคุณสมบัติ ผู้อำนวยการกองส่งเสริมการลงทุนไทยในต่างประเทศ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) กล่าวพร้อมกับบอกว่า นอกจากนี้ สภาหอการค้าเนปาลยังเชิญชวนให้บีโอไอสนับสนุนนักธุรกิจไทยเข้าไปลงทุนในบริการด้านการท่องเที่ยวในเนปาลด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งรัฐบาลเนปาลกำลังสนับสนุนการท่องเที่ยวเชิงพุทธ (Buddhist Tourism) ซึ่งเนปาล เป็นที่ตั้งของ ลุมพินีวัน อันเป็นสถานที่ประสูติของพระพุทธเจ้า ซึ่งเป็น 1ใน 4 สังเวชนียสถานของชาวพุทธ
ดังนั้นหากมีธุรกิจโรงแรมชั้นนำของไทยเข้ามาลงทุนเปิดให้บริการ ก็จะช่วยดึงดูดนักท่องเที่ยวมากขึ้นด้วย รวมทั้งต้องการเชิญชวนให้ผู้ประกอบการไทยที่มีศักยภาพในสายธุรกิจการให้บริการด้านการท่องเที่ยวเข้าไปลงทุนเปิดกิจการในกลุ่มงานที่เกี่ยวข้อง เช่น ศูนย์ฝึกอบรมมัคคุเทศก์ระดับนานาชาติ สถาบันพัฒนาบุคลากรด้านโรงแรม ศูนย์พัฒนาระบบไอทีรูปแบบต่างๆเพื่อสนับสนุนธุรกิจที่จะเกิดขึ้นใหม่
“วันนี้เราต้องไม่มองโอกาสของนักลงทุนไทยเฉพาะในประเทศหรือเมืองที่มีนักลงทุนจากชาติอื่นๆ เข้าไปลงทุนแล้ว แต่เราจะมองโอกาสใหม่ๆ เพื่อสนับสนุนให้นักธุรกิจไทยเข้าไปลงทุนเป็นลำดับแรกๆ เพื่อคว้าโอกาสดีๆ ก่อนคนอื่นบ้าง”
นอกเหนือจากประเทศเนปาลแล้ว “นายชูวงศ์” ยังกล่าวถึง ผลการประชุมหารือกับคณะข้าราชการระดับสูงจากประเทศเคนยา เพื่อส่งเสริมโอกาสทางการค้าและการลงทุนระหว่างไทยกับเคนยา โดยระบุว่า ที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน สินค้าไทยส่งออกไปยังเคนยามีอัตราการเติบโตอย่างต่อเนื่อง เพราะเคนย่ามีความพร้อมในเรื่องระบบเครือข่ายการขนส่งดีที่สุดในกลุ่มแอฟริกาภาคตะวันออก
ดังนั้นเคนยาจึงเป็นศูนย์กลางในการกระจายสินค้าผ่านไปยังกลุ่มประเทศที่มีตลาดขนาดใหญ่ที่อยู่ใกล้เคียง อาทิ ประเทศแทนซาเนีย ซูดานใต้ อูกันดา คองโก และเอธิโอเปีย ซึ่งรัฐบาลเคนยามีนโยบายส่งเสริมการลงทุนจากต่างประเทศ เช่น การอนุญาตให้ต่างชาติเข้ามาลงทุนโดยไม่ต้องมีหุ้นกับธุรกิจท้องถิ่น รวมทั้งมีการกำหนดเขตเศรษฐกิจพิเศษในรูปแบบเขตอุตสาหกรรมส่งออก อีกด้วย.