“ไฟแนนซ์ไทย”เร่งขยายตลาดซีแอลเอ็มวี
กลุ่มไฟแนนซ์ปรับตัวเร่งขยายตลาดและหาพันธมิตรในซีแอลเอ็มวี เพื่อขยายฐานลูกค้า-ลดความเสี่ยงเอ็นพีแอลแอล-ช่วยบริหารต้นทุนในช่วงไตรมาส3 บริษัทกลุ่มสถาบันการเงิน เริ่มส่งสัญญาณคึกคักในการขยายธุรกิจไปยังกลุ่มประเทศซีแอลเอ็มวี
ซึ่งจะมีทั้ง ธนาคารพาณิชย์และนอนแบงก์ โดยส่วนใหญ่จะเป็นการตั้งบริษัทย่อยเพื่อต่อยอดในธุรกิจเดิมที่ทำอยู่ในปัจจุบัน บริษัท กรุ๊ปลีส (GL) ระบุว่า บริษัทขยายธุรกิจเข้าไปสู่ประเทศเมียนมาด้วยการที่ GL Holdings (GLH) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของกรุ๊ปลีส ลงนามในบันทึกช่วยจำ (MOU) เพื่อซื้อหุ้น 71.9% ของบริษัท BG Microfinance Myanmar Co., Ltd (BGMM) ซึ่งมีใบอนุญาตถาวรในการดำเนินธุรกิจไมโครไฟแนนซ์ในเมียนมาและได้ประกอบกิจการมาแล้ว 2 ปี
ทั้งนี้ GLH ซื้อหุ้นดังกล่าวจากบริษัท BG International Private Ltd., ซึ่งเป็นบริษัทในเครือของบริษัทไฟแนนซ์ชั้นนำยักษ์ใหญ่ธุรกิจไมโครแนนซ์ในประเทศศรีลังกาชื่อบริษัท Commercial Credit ซึ่งเป็นบริษัทมหาชนที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ศรีลังกา ซึ่งประสบความสำเร็จในการดำเนินธุรกิจและมีชื่อเสียงที่ดีมาก โดยบริษัทดังกล่าวยังคงเป็นผู้ถือหุ้นที่เหลืออีก 28.1% ใน BGMM ที่เมียนมาต่อไปและได้กลายเป็นหุ้นส่วนพันธมิตรกับกรุ๊ปลีส
การเทคโอเวอร์ครั้งนี้คาดว่าจะมีผลในอนาคตอันใกล้นี้ หลังจากที่บริษัทได้ดำเนินการตรวจสอบสถานะกิจการของ BGMM (Due Diligence) โดยคาดว่าจะสามารถเริ่มบุ๊คกำไรจากธุรกิจใหม่ในเมียนมาตั้งแต่ไตรมาส 4 ปี 2559 ซึ่งบริษัท กรุ๊ปลีส พร้อมอัดฉีดเม็ดเงินใหม่ 6.8 ล้านเหรียญสหรัฐในทันทีเพื่อขยายสาขา และคาดว่ายอดปล่อยสินเชื่อจะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วเป็น 30-40 ล้านดอลลาร์ ภายในปี 2560 และกำไรต่อเดือนคาดว่าจะพุ่งขึ้นถึง 10 เท่า หรือเพิ่มขึ้นเป็นประมาณ 200,000 ดอลลาร์ต่อเดือน
ขณะที่ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) หรือ BAY แจ้งว่าขณะนี้ได้ธนาคารได้ดำเนินการเข้าซื้อกิจการทั้งหมดของบริษัท Hattha Kaksekar Limited (HKL) ซึ่งเป็นสถาบันไมโครไฟแนนซ์รายใหญ่ในประเทศกัมพูชาเรียบร้อยแล้ว โดยการเข้าซื้อหุ้น 100% ของหุ้นที่จำหน่ายได้แล้วทั้งหมดหลังได้รับอนุญาตจากธนาคารแห่งประเทศกัมพูชา ธนาคารแห่งประเทศไทย และหน่วยงานกำกับดูแลอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องทั้งในประเทศกัมพูชา ประเทศไทย และประเทศอื่นๆ เป็นที่เรียบร้อยแล้ว เป็นผลให้ HKL มีฐานะเป็นบริษัทย่อยของธนาคารเพิ่มเติม
ทั้งนี้ HKL เป็นสถาบันไมโครไฟแนนซ์ที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 4 ของกัมพูชา นำเสนอผลิตภัณฑ์เงินฝากและสินเชื่อ โดย ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2559 HKL มีสินทรัพย์รวมอยู่ที่ 517 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 18,196 ล้านบาท มีสินเชื่อรวมอยู่ที่ 394 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 13,867 ล้านบาท HKL มีการเติบโตของเงินรับฝากอย่างต่อเนื่อง ซึ่ง ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2559 มียอดเงินรับฝากอยู่ที่ 296 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 10,418 ล้านบาท และมีเครือข่ายสาขากว่า 153 แห่ง และเอทีเอ็ม 102 เครื่องทั่วประเทศ(อัตราแลกเปลี่ยน: 1 เหรียญสหรัฐ เท่ากับ 35.1950 บาท ณ วันที่ 30 มิ.ย. 59)
บริษัท อิออน ธนสินทรัพย์ (ไทยแลนด์) จำกัด (มหาชน) (“AEONTS”) รายงานตลาดหลักทรัพย์ว่า บริษัท อิออน ไมโครไฟแนนซ์ (กัมพูชา) จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของบริษัทฯที่ประกอบธุรกิจสินเชื่อเช่าซื้อในประเทศกัมพูชา ได้รับใบอนุญาตธนาคารเฉพาะกิจ จากธนาคารแห่งชาติกัมพูชา ในวันที่ 26 ต.ค. 2558
บริษัท อิออน ไมโครไฟแนนซ์ (กัมพูชา) จำกัด จะจดทะเบียนเป็นธนาคารเฉพาะกิจ และเปลี่ยนชื่อบริษัทเป็น AEON SPECIALIZED BANK (CAMBODIA) PLC., และเริ่มประกอบธุรกิจบัตรเครดิตในเดือนม.ค. 2559 เป็นต้นไป
ขณะเดียวกัน “อภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ “รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ประกาศสนับสนุนให้ธุรกิจประกันภัยออกไปบุกตลาดCLMV เช่นกัน ซึ่งธุรกิจประกันถือว่าเป็นธุรกิจที่สำคัญของภาคการเงิน ในอดีตธุรกิจประกันภัยถือว่ามีมูลค่าตลาดที่น้อยกว่าธุรกิจแบงก์และตลาดทุน
โดยปัจจุบันมูลค่าตลาดของธุรกิจประกันอยู่ที่ 3 ล้านล้านบาท ขณะที่ธุรกิจแบงก์และตลาดทุนมีมูลค่าอยู่ที่ 10 ล้านล้านบาท จะเห็นได้ว่าธุรกิจประกันมีโอกาสเติบโตได้อีกมากในอนาคต และทางรัฐบาลอยากเห็นธุรกิจประกันมีขนาดเทียบเท่าหรือมากกว่าธุรกิจแบงก์ และตลาดทุน ดังนั้น ภาครัฐจึงได้ส่งเสริมให้ธุรกิจประกันชีวิตและวินาศภัยออกไปแข่งขันตลาด CLMV ให้มากขึ้น หากบริษัทประกันมีความพร้อมทั้งด้านฐานะทางการเงินและด้านผลิตภัณฑ์ที่แข็งแกร่ง
บล.ดีบีเอสวิคเคอร์สให้ความเห็นว่า กลุ่มไฟแนนซ์ในไทยมีความน่าสนใจมากขึ้น เนื่องจากผู้ประกอบการในไทยมีการเร่งขยายกิจการในภูมิภาคมากขึ้น หลังจากการปล่อยสินเชื่อส่วนบุคคลและบัตรเครดิตในไทยค่อนข้างอิ่มตัว เพราะมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่องมาเป็นเวลาหลายปีแล้ว และเศรษฐกิจเติบโตไม่มาก โดยมองว่าจะเติบโตประมาณ 3% ต่อปี
ขณะที่เศรษฐกิจของหลายประเทศในภูมิภาคยังมีโอกาสเติบโตได้อีกมาก โดยเฉพาะประเทศในกลุ่มซีแอลเอ็มวี (CLMV) ซึ่งไฟแนนซ์ที่มีการขยายธุรกิจไปแล้วและกำลังจะทำเพิ่มอีก ได้แก่ บริษัท อิออน ธนสินทรัพย์ (ไทยแลนด์) (AEONTS), บริษัท กรุ๊ปลีส (GL), บริษัท ศรีสวัสดิ์ พาวเวอร์ 1979 (SAWAD) และบริษัทย่อยของ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา (BAY) เป็นต้น
ฝ่ายวิจัยประเมินว่าเป็นเรื่องที่ดี และเป็นโอกาสเติบโตในระยะยาว อย่างไรก็ตาม การดำเนินธุรกิจก็ต้องมีพันธมิตรท้องถิ่นและ Platform ของธุรกิจที่ดีเพื่อลดความเสี่ยงจากการเป็น NPL และบริหารต้นทุนและค่าใช้จ่ายดำเนินงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ
บล.เคจีไอ ประเมินว่า การขยายธุรกิจไปอินโดนีเซียและลาวของบริษัท กรุ๊ปลีส จะช่วยหนุนการเติบโตระยะสั้น และจะขยายไปยังประเทศอื่นอีก หลังจากที่บริษัทประสบความสำเร็จจากการขยายกิจการไปที่กัมพูชา กรุ๊ปลีสก็ได้ทำโมเดลธุรกิจแบบเดียวกันนี้ไปใช้กับตลาดประเทศลาวในครึ่งปีหลัง ซึ่งกิจการของบริษัทในลาวได้ผ่านจุดคุ้มทุนไปเรียบร้อยแล้ว
ในการที่จะ leverage ความเชี่ยวชาญในธุรกิจนี้ของบริษัท กรุ๊ปลีสจึงตั้งเป้าที่จะขยายธุรกิจต่อไปที่ประเทศอินโดนีเซีย โดยผ่านการร่วมมือกับพันธมิตรจากญี่ปุ่น (J-Trust ซึ่งเป็นผู้ให้บริการสินเชื่อผู้บริโภคในอินโดนีเซีย และมีเครือข่ายสาขาอยู่แล้ว ซึ่งทำให้แพลทฟอร์มธุรกิจในอินโดนีเซียต่างออกไปจากธุรกิจในกัมพูชาเล็กน้อย
กรุ๊ปลีสจะปล่อยสินเชื่อให้กับฐานลูกค้าในเครือข่ายของ J-Trust โดยในรถมอเตอร์ไซค์ใช้แล้วเป็นหลักประกัน โดยจะแบ่งกันทั้งในส่วนของรายได้และต้นทุน ทั้งนี้บริษัทมีแผนจะเริ่มปล่อยกู้ในอินโดนีเซียในครึ่งปีหลัง และตั้งเป้าสินเชื่อที่ 30-50 ล้านดอลลาร์ ซึ่งฝ่ายวิจัยคาดว่าพอร์ตสินเชื่อของบริษัทน่าจะโตได้อีกถึงเกือบเท่าตัวใน1 ปี จาก9.3 พันบ้านบาท ในไตรมาส 1 ปี 2559