สรุปสถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศ วันที่ 21 ธ.ค. 66
สภาพอากาศวันนี้ : มรสุมตะวันออกเฉียงเหนือกำลังปานกลางพัดปกคลุมอ่าวไทยและภาคใต้ ทำให้ภาคใต้ตอนล่าง มีฝนตกหนักบางแห่ง
คาดการณ์ : ในช่วงวันที่ 22–25 ธ.ค. 66 มรสุมตะวันออกเฉียงเหนือที่พัดปกคลุมอ่าวไทยและภาคใต้จะมีกำลังแรงขึ้น ทำให้ภาคใต้ตอนล่างมีฝนตกหนักถึงหนักมาก
ปริมาณน้ำรวมทั้งประเทศ ณ วันที่ 20 ธ.ค. 66 62,796 ล้าน ลบ.ม. (76%) น้อยกว่า ปี 65 จำนวน 3,992 ล้าน ลบ.ม. และมีปริมาณน้ำใช้การ 38,587 ล้าน ลบ.ม. (67%)
การประเมินสถานการณ์แหล่งน้ำ
เฝ้าระวังน้ำน้อย 3 แห่ง ภาคเหนือ: สิริกิติ์ ภาคกลาง : กระเสียว ภาคตะวันออก : คลองสียัด ต้องเฝ้าระวังในช่วงฤดูแล้ง
ติดตามอ่างเก็บน้ำขนาดกลาง ปริมาณน้ำ > 100% ภาคใต้ 5 แห่ง : คลองหยา คลองแห้ง คลองกระทูน คลองดินแดง คลองหัวช้าง
เมื่อวันที่ 20 ธ.ค. 2566 นายสุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เป็นประธานการประชุมติดตามและประเมินสถานการณ์น้ำ ร่วมกับผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ณ ห้องประชุมน้ำปิง ชั้น 4 อาคารจุฑามาศ ในที่ประชุมได้มีการหารือการเตรียมความพร้อมรองรับสถานการณ์ฝนตกหนัก ในช่วงวันที่ 22-26 ธ.ค. 2566 บริเวณภาคใต้ ซึ่งอาจจะเกิดน้ำป่าไหลหลาก โดยได้มีการปรับแผนการระบายน้ำเขื่อนบางลาง จ.ยะลา เพื่อรองรับปริมาณน้ำฝนที่จะไหลลงอ่างฯ และไม่ให้กระทบต่อพื้นที่ท้ายเขื่อนปัตตานี รวมทั้งให้เฝ้าระวังระดับน้ำในแม่น้ำต่างๆ ที่เพิ่มขึ้นอย่างฉับพลับและล้นตลิ่ง โดยนายสมศักดิ์ เทพสุทิน รองนายกรัฐมนตรี มีความเป็นห่วงต่อสถานการณ์ดังกล่าว จึงได้สั่งการให้ สทนช. บูรณาการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเฝ้าระวังติดตามสถานการณ์อย่างต่อเนื่องและเตรียมพร้อมรับมือหากเกิดภาวะวิกฤติ และในวันที่ 28 ธันวาคม 2566 รองนายกรัฐมนตรีจะลงพื้นที่ตรวจราชการ จ.ปัตตานีและยะลา เพื่อติดตามสถานการณ์น้ำ พร้อมมอบถุงยังชีพเยียวยาให้กับผู้ประสบอุทกภัย และให้กำลังใจเจ้าหน้าที่ในการปฏิบัติหน้าที่ด้วย
ประกาศ สทนช. ฉบับที่ 7/2566 เรื่อง เฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก ในพื้นที่ภาคใต้ ในช่วงวันที่ 18-26 ธ.ค. 66 ดังนี้
1. เฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก บริเวณ จ.นครศรีธรรมราช (อ.เมืองนครศรีธรรมราช ขนอม สิชล นบพิตำ ท่าศาลา พรหมคีรี ลานสกา พระพรหม ปากพนัง ร่อนพิบูลย์ เฉลิมพระเกียรติ เชียรใหญ่ ชะอวด และหัวไทร) จ.พัทลุง (อ.เมืองพัทลุง และควนขนุน) จ.สงขลา (อ.เมืองสงขลา กระแสสินธุ์ ระโนด สทิงพระ สิงหนคร ควนเนียง หาดใหญ่ บางกล่ำ นาหม่อม จะนะ และเทพา) จ.ปัตตานี (อ.เมืองปัตตานี ปะนาเระ มายอ แม่ลาน ไม้แก่น ยะรัง ยะหริ่ง ทุ่งยางแดง กะพ้อ สายบุรี และหนองจิก) จ.ยะลา (อ.เมืองยะลา บันนังสตา และรามัน) จ.นราธิวาส (อ.เมืองนราธิวาส เจาะไอร้อง ตากใบ บาเจาะ ยี่งอ ระแงะ รือเสาะ แว้ง จะแนะ สุคิริน สุไหงโก-ลก และสุไหงปาดี)
2. เฝ้าระวังอ่างเก็บน้ำขนาดกลางและเล็กที่มีปริมาณน้ำมากกว่า 80% บริเวณ จ.พัทลุง สงขลา ยะลา นราธิวาส และอ่างเก็บน้ำที่มีสถิติปริมาณน้ำไหลเข้าอ่างเก็บน้ำมากกว่าความจุเก็บกัก ที่มีความเสี่ยงน้ำล้นอ่างฯ และส่งผลกระทบให้น้ำท่วมบริเวณด้านท้ายน้ำ สำหรับอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่โดยเฉพาะเขื่อนบางลางจ.ยะลา ให้พิจารณาบริหารจัดการน้ำให้เหมาะสม ไม่ให้เกิดผลกระทบหรือเกิดผลกระทบบริเวณท้ายเขื่อนน้อยที่สุด
3. เฝ้าระวังระดับน้ำเพิ่มขึ้นอย่างฉับพลันและระดับน้ำล้นตลิ่ง บริเวณแม่น้ำสายหลักและลำน้ำสาขาของ คลองท่าแนะ แม่น้ำสายบุรี แม่น้ำปัตตานี แม่น้ำบางนรา แม่น้ำโก-ลก และคลองตันหยงมัส
พื้นที่เสี่ยงน้ำหลาก/ดินถล่ม พบพื้นที่เสี่ยงน้ำหลากและดินถล่ม จำนวน 3 จังหวัด 4 อำเภอ ได้แก่ 1) จ.นครศรีธรรมราช (อ.ทุ่งสง) 2) จ.ตรัง (อ.ห้วยยอด และอ.รัษฎา) และ 3) จ.พัทลุง (อ.ป่าพะยอม)
คุณภาพน้ำในแม่น้ำสายหลัก อยู่ในเกณฑ์ปกติ