SCB CIO คาดเฟคขึ้นดอกเบี้ยอีกครั้งในเดือนก.ค.นี้
SCB CIO คาดเฟดจะขึ้นดอกเบี้ยอีกแค่ครั้งเดียวในกรกฎาคมนี้ แนะเน้นลงทุนพันธบัตรรัฐบาล ระวังMega tech สหรัฐฯและหุ้นยุโรป
SCB CIO ประเมินเฟดหยุดขึ้นดอกเบี้ยรอบนี้ แต่ส่งสัญญาณขึ้นต่อ และไม่ลดดอกเบี้ยในปีนี้ คาดเฟดจะขึ้นดอกเบี้ยต่ออีกแค่1ครั้งในการประชุมเดือนก.ค. แล้วไม่ขึ้นอีก เนื่องจากเงินเฟ้อพื้นฐานน่าจะชะลอลงชัดเจนในไตรมาส 4 ส่วนการลดดอกเบี้ยน่าจะเกิดขึ้นในปี 2567 ลดลง เหลือ 4.6% และ ในปี 2568 เหลือ 3.4% ขณะที่ ECB ขึ้นดอกเบี้ย 0.25% ในการประชุมรอบนี้และส่งสัญญาณขึ้นดอกเบี้ยต่อจากเงินเฟ้อที่ยังยืดเยื้อ แนะเน้นลงทุนพันธบัตรรัฐบาล และควระมัดระวังมากขึ้นกับการลงทุนในหุ้น Mega tech สหรัฐฯ รวมถึงหุ้นยุโรป
นาย กำพล อดิเรกสมบัติ ผู้อำนวยการอาวุโส และหัวหน้าทีม SCB Chief Investment Office (SCB CIO) ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด(มหาชน) เปิดเผยว่า ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (FOMC) ของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) เมื่อวันที่ 13-14 มิ.ย. ที่ผ่านมา มีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบาย Fed Fund Rate ไว้ที่ 5.00-5.25% แต่ยังส่งสัญญาณปรับขึ้นดอกเบี้ยต่อ และไม่ลดดอกเบี้ยในปีนี้ ซึ่งการหยุดขึ้นดอกเบี้ยรอบนี้ตรงกับมุมมองของ SCB CIO และตลาดที่คาดการณ์ไว้
อย่างไรก็ตาม การที่ผลสำรวจความเห็นของผู้แทนเฟดเกี่ยวกับประมาณการการปรับดอกเบี้ย หรือ Fed dot plots ส่งสัญญาณขึ้นดอกเบี้ยต่ออีก 2 ครั้ง ซึ่งเป็นสิ่งที่เหนือความคาดหมายมุมมองของเราและตลาด โดยในรายละเอียดคณะกรรมการ FOMC 12 ท่าน จาก 18 ท่าน มองว่า จะมีการขึ้นดอกเบี้ยอีกอย่างน้อย 2 ครั้งในปีนี้ (9 ท่าน มองว่าปรับขึ้นอีก 2 ครั้ง; 2 ท่านมอง 3 ครั้ง; 1 ท่านมอง 4 ครั้ง ขณะที่ มี 4 ท่านมองขึ้น 1 ครั้ง และ 2 ท่านมองคงดอกเบี้ย) ทำให้ค่ากลางของ dot plots เพิ่มขึ้นจาก 5.1% ที่ให้ไว้ในการประชุมเดือน มี.ค. เป็น 5.6% หรือเท่ากับส่งสัญญาณขึ้นดอกเบี้ยอีก 0.50% คือ 2 ครั้ง ครั้งละ 0.25%
ทั้งนี้ SCB CIO มองว่า สาเหตุหลักที่ FOMC ส่งสัญญาณขึ้นดอกเบี้ยต่อ มาจากปัจจัยดังนี้ 1) เงินเฟ้อพื้นฐานที่ชะลอลงช้า และมีแนวโน้มที่ Core PCE inflation ซึ่งเป็นเงินเฟ้อที่รวมอาหารและพลังงาน จะสูงกว่าประมาณการเดิม โดยเฟด ปรับคาดการณ์ Core PCE inflation ปีนี้ขึ้นจาก 3.6% เป็น 3.9% และ 2) ตลาดแรงงานยังแข็งแกร่ง ส่วนเศรษฐกิจสหรัฐฯ แม้ชะลอลงแต่ชะลอลงช้ากว่าที่คาดไว้ โดยเฟดปรับคาดการณ์อัตราการว่างงานปีนี้ ลดลงจากเดิม 4.5% เป็น 4.1% และปรับคาดการณ์อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (GDP) ปีนี้ ขึ้นจากเดิม 0.4% เป็น 1.0% โดยในการแถลงข่าว นายเจอโรม พาวเวลล์ ประธานคณะผู้ว่าการระบบธนาคารกลางสหรัฐ ( เฟด) กล่าวว่า ผลของการขึ้นดอกเบี้ยอย่างต่อเนื่องในช่วงที่ผ่านมาส่งผลให้การลงทุนและภาคอสังหาริมทรัพย์ชะลอลง แต่ผลต่อเงินเฟ้อยังไม่ชัดเจน
สำหรับ การขึ้นดอกเบี้ยระยะข้างหน้าอาจไม่ใช่การขึ้นในทุกการประชุมติดกัน แต่อาจเป็นแบบเว้นได้ เช่นในครั้งนี้ที่มีการหยุดขึ้นเพื่อรอปรับขึ้นต่อ (skip) โดยในการแถลงข่าว ประธานเฟดระบุว่า คณะกรรมการเฟด เกือบทั้งหมด มองว่า เป็นเรื่องเหมาะสมที่จะมีการขึ้นดอกเบี้ยต่อในช่วงที่เหลือของปี แต่ถ้าสถานการณ์เรื่องของการจ้างงาน เงินเฟ้อ และผลจากความตึงเครียดในภาคการเงิน (financial sector stress) เปลี่ยนไป เฟดก็พร้อมที่จะปรับการทำนโยบาย โดยจะพิจารณาเป็นครั้งๆ ไป และเน้นว่าเมื่อดอกเบี้ยเข้าใกล้จุดสูงสุด (terminal rate) การขึ้นดอกเบี้ยจะเป็นไปอย่างช้าๆ
ขณะที่เฟดไม่มีสัญญาณการลดดอกเบี้ยในปีนี้ โดยการลดดอกเบี้ยเป็นเรื่องของปี 2567-2568 เพราะไม่ว่าจะพิจารณาจาก dot plots ล่าสุดที่ไม่มีคณะกรรมการท่านไหนเลยที่ให้ประมาณการเรื่องการลดดอกเบี้ยในปีนี้ รวมถึงในการแถลงข่าวของประธานเฟด มีการพูดว่า ไม่น่าจะมีการลดดอกเบี้ยในปีนี้ ทั้งนี้ ค่ากลางของ dot plots ส่งสัญญาณว่าการลดดอกเบี้ยน่าจะเกิดในปี 2567 โดยลดลง 1 percentage points เป็น 4.6% และในปี 2568 ลดลงอีก 1.2 percentage points ลงเป็น 3.4%
นาย กำพล กล่าวว่า จากการประชุมเฟด ครั้งนี้ เราได้ปรับมุมมองว่า ช่วงที่เหลือของปีนี้เฟด จะขึ้นดอกเบี้ยอีก 1 ครั้ง โดยจะปรับขึ้น 0.25% ซึ่งน่าจะเกิดขึ้นในการประชุมวันที่ 25-26 ก.ค. นี้ ส่วนการประชุมหลังจากนั้น เราประเมินว่ามีโอกาส 30% ที่เฟดจะขึ้นดอกเบี้ยเพิ่มเติม เนื่องจาก สัญญาณการขึ้นดอกเบี้ยช้าลงของเฟด น่าจะทำให้เฟด เว้นการขึ้นดอกเบี้ยในการประชุม เดือน ก.ย. (วันที่ 19-20 ก.ย.) และเมื่อเข้าสู่การประชุมครั้งถัดไปในเดือน พ.ย. (31 ต.ค.- 1 พ.ย.) ช่วงเวลานั้น อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานของสหรัฐฯ น่าจะชะลอลงอย่างชัดเจน ทั้งในแง่เมื่อเทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน และเทียบกับเดือนก่อนหน้า จนทำให้เฟดหยุดขึ้นดอกเบี้ยได้ ดังที่เคยระบุว่าเฟด ไม่จำเป็นที่จะต้องเห็นเงินเฟ้อแตะ 2% ถึงจะหยุดขึ้นดอกเบี้ย
ส่วน ธนาคารกลางยุโรป (ECB) มีมติปรับขึ้นดอกเบี้ย 0.25% ในการประชุมวันที่ 15 มิ.ย. ที่ผ่านมา พร้อมส่งสัญญาณเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อเพื่อสกัดเงินเฟ้อ โดยในการแถลงข่าว ประธาน ECB ระบุว่า มีความเป็นไปได้สูงมากที่จะปรับขึ้นดอกเบี้ยต่อในเดือน ก.ค. ยกเว้นว่ามุมมองที่มีต่อแนวโน้มในระยะข้างหน้าเปลี่ยนไปอย่างมีนัย ขณะที่ ECB คาดการณ์เงินเฟ้อทั่วไปของยูโรโซนเฉลี่ยจะอยู่ที่ 5.4% ในปี 2566 อยู่ที่ 3% ในปี 2567 ก่อนจะลดลงเหลือ 2.2% ในปี 2568 ส่วนเงินเฟ้อพื้นฐาน คาดว่าเฉลี่ยอยู่ที่ 5.1% ในปี 2566 อยู่ที่ 3% ในปี 2567 และ 2.3% ในปี 2568 ซึ่งตัวเลขคาดการณ์นี้ยังอยู่เหนือระดับเงินเฟ้อเป้าหมายของ ECB ที่ 2% ส่วนอัตราการว่างงานในปัจจุบันอยู่ที่ 6.5% เป็นระดับต่ำสุดในประวัติการณ์ ซึ่ง ECB คาดการณ์ว่าจะปรับลดลงสู่ 6.3% ในปี 2568 ทั้งนี้ เราคาดว่า ECB จะปรับขึ้นดอกเบี้ยอีก 0.25% ในการประชุมเดือน ก.ค. และเริ่มมีโอกาสสูงขึ้นที่ ECB อาจจะปรับขึ้นดอกเบี้ยต่ออีกในการประชุมเดือน ก.ย. ดร. กำพล กล่าวต่อไปว่า SCB CIO ยังคงแนะนำให้ เน้นลงทุนพันธบัตรรัฐบาล เนื่องจากประเมินว่า แม้เฟดจะปรับประมาณการเศรษฐกิจปีนี้ดีขึ้น แต่การส่งสัญญาณขึ้นดอกเบี้ยต่อและไม่ลดดอกเบี้ยในปีนี้ จะทำให้ตลาดพันธบัตรมองว่ามีโอกาสที่เศรษฐกิจสหรัฐฯ จะชะลอลงหรือเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยสูงขึ้น ซึ่งจะทำให้ในปี 2567 เฟดต้องปรับลดดอกเบี้ยตั้งแต่ในช่วงครึ่งแรกของปี โดยการเน้นลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลระยะยาว จะเป็นการป้องกันความเสี่ยง (Hedge) จากเศรษฐกิจถดถอยได้ ซึ่งผู้ลงทุนอาจจะอาศัยจังหวะที่เฟดจะปรับขึ้นดอกเบี้ย และทำให้พันธบัตรเร่งตัวในระยะสั้น เป็นจุดทยอยสะสม นอกจากนี้ เรามีมุมมองว่า ควรระมัดระวังมากขึ้นกับการลงทุนในหุ้น Mega tech สหรัฐฯ รวมถึงยุโรป โดยในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมา มูลค่าของหุ้นสหรัฐฯ และยุโรป โดยเฉพาะในกลุ่ม Mega Tech ได้ปรับขึ้นมาสู่ระดับที่ค่อนข้างตึงตัว แม้ในระยะสั้นอาจได้อานิสงส์ของภาพเศรษฐกิจในปีนี้ที่ชะลอลงน้อยกว่าที่คาดการณ์ไว้ แต่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะยาว มีแนวโน้มไม่ลดลงเร็วหลังเฟดส่งสัญญาณไม่ลดดอกเบี้ยในปีนี้ ซึ่งน่าจะเป็นปัจจัยกระทบกับมูลค่า (valuation) ในอนาคต