ญี่ปุ่นเผยชื่อรัชศกใหม่ ‘เรวะ’ สิ้นสุดยุคเฮเซ
ในประเทศญี่ปุ่น จะมีรัชสมัยของจักรพรรดิแต่ละพระองค์ โดยชื่อยุครัชสมัยจะปรากฎบนเหรียญกษาปณ์ เอกสารราชการ และหนังสือพิมพ์ รวมไปถึงการสละพระราชสมบัติในช่วงสิ้นเดือน เม.ย. โดยมีทฤษฎีความเป็นไปมากมายเกี่ยวกับอนาคตของเก็งโก หรือ รัชศกใหม่
ในวันที่ 1 เม.ย. ทางการได้ประกาศชื่อของรัชศกใหม่ โดยเรียกว่า ยุคเรวะ รัชศกใหม่ของญี่ปุ่นถือเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่ที่สุด ทั้งในทางปฏิบัติและในทางจิตวิทยา โดยประเทศญี่ปุ่นจะเริ่มยุครัชสมัยของเจ้าชายนารุฮิโตะ มกุฎราชกุมาร
ในวันที่ 1 พ.ค. โดยในวันที่ 30 เม.ย. สมเด็จพระจักรพรรดิอากิฮิโตะจะทรงสละราชสมบัติ ซึ่งจะเป็นการสิ้นสุดของรัชศกเฮเซ ซึ่งอยู่ในความคิดและความทรงจำของประชาชนชาวญี่ปุ่นมากมาย
สำนักงานและหน่วยงานราชการ ส่วนใหญ่แล้วใช้ระบบเวลาเก็งโกกับการทำงานทั้งในคอมพิวเตอร์และในเอกสาร โดยก่อนหน้านี้ได้ใช้ระยะเวลาหลายเดือนเพื่อเตรียมตัวสำหรับการเปลี่ยนแปลง และป้องกันไม่ให้เกิดข้อผิดพลาดใด ๆ
เพื่อให้การเปลี่ยนแปลงเป็นไปอย่างราบรื่น ทางการได้ประกาศชื่อประจำเก็งโกใหม่เมื่อเช้าวันที่ 1 เม.ย. โดยเป็นตัวอักษรจีน 2 ตัวที่ทางคณะรัฐมนตรีคัดเลือกจากรายชื่อที่เหล่านักวิชาการได้เสนอไว้
สึคาสะ ชิซุเมะ เจ้าหน้าที่จากย่านชานเมืองทางตะวันตกของกรุงโตเกียว ในเมืองมิตากะ ระบุว่า “พวกเราต้องเตรียมตัวสำหรับการเปลี่ยนแปลงในครั้งนี้เป็นปีเลยครับ” โดยการเปลี่ยนแปลงรัชศกทำให้เอกสารถึง 55 ประเภท จากหน่วยงานบริหาร 20 หน่วยต้องเปลี่ยนแปลงด้วยเช่นกัน เขาระบุว่า ระยะเวลา 1 เดือนก่อนจะมีการปรับเปลี่ยนครั้งใหญ่น่าจะเพียงพอ
ฟูจิตสึ และเอ็นอีซีคอร์ป บริษัทด้านเทคโนโลยี ออกมายืนยันสร้างความมั่นใจให้กับลูกค้าว่าการเปลี่ยนผ่านรัชสมัยจะไม่มีผลกระทบใด ๆ กับระบบ โดยโปรแกรมต่าง ๆ ได้รับการออกแบบมาให้ง่ายต่อการเปลี่ยนชื่อ
เจ้าหน้าที่ในเขตมินาโตะ กรุงโตเกียว จะขีดฆ่าข้อความแสดงรัชศกเฮเซออกจากเอกสารจำนวนมาก แล้วจึงประทับชื่อยุคเรวะไว้ด้านบน
ชื่อของรัชศกเป็นมากกว่าการนับปีของชาวญี่ปุ่น ชื่อรัชศกได้รวบรวมเอาความเป็นชาติญี่ปุ่นในแต่ละยุค คล้ายกันกับการเรียกตาม “ยุค ‘60” ที่ก่อให้เกิดอารมณ์หรือภาพเช่นเดียวกัน นอกจากนี้ยังคล้ายคลึงกับการเรียกยุคสมัยอิงประวัติศาสตร์ของชาวอังกฤษ อย่าง “ยุควิคตอเรียน” หรือ “ยุคเอ็ดเวิร์ดเดียน” ซึ่งได้เชื่อมการเมืองและวัฒนธรรมในรัชสมัยการครองราชย์ของจักรพรรดิในช่วงเวลานั้นไว้ด้วยกัน
จุน อีจิมะ ทนายความวัย 31 ปี เขาเกิดในปีสุดท้ายของยุคโชวะ ซึ่งเป็นยุคของสมเด็จพระจักรพรรดิฮิโรฮิโตะ พระราชบิดาของสมเด็จพระจักรพรรดิอากิฮิโตะ หรือจักรพรรดิโชวะ พระนามตามรัชสมัยนั่นเอง นายอีจิมะระบุว่า “ถ้าหากคุณนับเวลาเป็นปีด้วยระบบของตะวันตกก็คงพอใช้ได้ แต่การนับตามรัชศก มีความหมายในการระบุระยะเวลาตามประวัติศาสตร์อีกด้วยครับ”
ยุคโชวะ ที่มีระยะเวลายาวนานถึง 64 ปี และสิ้นสุดลงในปี พ.ศ. 2532 ได้กลายเป็นยุคที่เจาะจงถึงการฟื้นฟู และการเป็นที่รู้จักจนเติบโตในระดับโลก หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ของประเทศญี่ปุ่น
การใช้ระบบรัชศกกำลังลดลงอย่างเชื่องช้าในการใช้ชีวิตประจำวันของชาวญี่ปุ่น เนื่องจากประเทศญี่ปุ่นเองต้องการที่จะเข้าร่วมเป็นหนึ่งเดียวกับเศรษฐกิจโลก
ผลการตอบแบบสอบถามล่าสุดของหนังสือพิมพ์ไมนิจิ ชิมบุน เผยให้เห็นว่า ปัจจุบันมีผู้ใช้ระบบรัชศกอยู่ 34% อีก 25% ใช้ระบบปฏิทินแบบตะวันตก และอีก 34% ใช้ทั้งสองระบบ โดยเมื่อเทียบกับปี พ.ศ.2518 มีผู้ที่ใช้ระบบรัชศกเป็นส่วนใหญ่ในชีวิตประจำวันมีมากถึง 82%
นายอีจิมะระบุว่า การใช้รัชศกส่วนใหญ่พบในเอกสารทางกฎหมาย เพราะเป็นระบบเดียวกันกับที่ศาลใช้ แต่ในชีวิตประจำวัน เขาเองใช้ทั้งสองระบบควบคู่กัน สำหรับเหตุการณ์สำคัญระดับโลก เขาลงความเห็นว่าเหมาะสมกับการใช้ระบบปฏิทินตะวันตก เช่นเหตุการณ์ก่อการร้าย 9/11.