คนไทยมือเติบ 11 เดือนปีนี้ยอดใช้น้ำมันเชื้อเพลิงพุ่ง 14.7%
สถานการณ์การใช้น้ำมันเชื้อเพลิงรอบ 11 เดือนของปี 2565 (ม.ค.-พ.ย.)
นางสาวนันธิกา ทังสุพานิช อธิบดีกรมธุรกิจพลังงาน เปิดเผยภาพรวมการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงเฉลี่ยเดือนม.ค. – พ.ย. 2565 อยู่ที่ 150.35 ล้านลิตร/วัน เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน 14.7% โดยการใช้กลุ่มดีเซลเพิ่มขึ้น 17.4% น้ำมันอากาศยานเชิงพาณิชย์ (Jet A1) เพิ่มขึ้น 90.0% น้ำมันเตาเพิ่มขึ้น 17.6% LPG เพิ่มขึ้น 7.1% และการใช้ NGV เพิ่มขึ้น 9.3% การใช้กลุ่มเบนซินเพิ่มขึ้น 4.6% ขณะที่การใช้น้ำมันก๊าดลดลง 12.9% ทั้งนี้ ภาพรวมความต้องการใช้น้ำมันเพิ่มขึ้นเป็นผลมาจากที่หลายองค์กรทั้งภาครัฐและเอกชนกลับมาทำงานตามปกติที่สำนักงาน รวมถึงการเปิดการเรียนการสอนที่สถานศึกษาตามปกติ รวมทั้งการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวที่มีจำนวนนักท่องเที่ยวเดินทางเข้าไทยอย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะในช่วงฤดูกาลท่องเที่ยว ส่งผลให้ปริมาณความต้องการใช้น้ำมันมีแนวโน้มดีขึ้น
การใช้น้ำมันกลุ่มเบนซินเดือนม.ค. – พ.ย. 2565 เฉลี่ยอยู่ที่ 29.92 ล้านลิตร/วัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 4.6% สำหรับการใช้แก๊สโซฮอล์ 91 แก๊สโซฮอล์ 95 และแก๊สโซฮอล์ อี85 เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 6.98 ล้านลิตร/วัน 16.08 ล้านลิตร/วัน และ 0.86 ล้านลิตร/วัน ตามลำดับ ขณะที่การใช้แก๊สโซฮอล์ อี20 และเบนซินลดลงมาอยู่ที่ 5.47 ล้านลิตร/วัน และ 0.53 ล้านลิตร/วัน ตามลำดับ
การใช้น้ำมันกลุ่มดีเซลเดือนม.ค. – พ.ย. 2565 เฉลี่ยอยู่ที่ 72.60 ล้านลิตร/วัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 17.4% เป็นผลจากมาตรการช่วยเหลือโดยตรึงราคาให้ไม่เกิน 35 บาท/ลิตร ของมาตรการลดอัตราภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลจนถึงวันที่ 20 ม.ค. 2566 และการใช้กลไกกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง เพื่อช่วยบรรเทาความเดือดร้อนให้แก่ประชาชนและภาคธุรกิจ ภายใต้สถานการณ์ราคาพลังงานที่ยังคงผันผวนทั่วโลก สำหรับน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว บี7 การใช้เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 63.51 ล้านลิตร/วัน และน้ำมันดีเซลพื้นฐานเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 6.21 ล้านลิตร/วัน ขณะที่น้ำมันดีเซลหมุนเร็วธรรมดาปริมาณการใช้ลดลงมาอยู่ที่ 2.37 ล้านลิตร/วัน และน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว บี20 มีปริมาณการใช้ 0.19 ล้านลิตร/วัน
สำหรับการใช้น้ำมันกลุ่มดีเซลเดือนพ.ย. 2565 เฉลี่ยอยู่ที่ 76.67 ล้านลิตร/วัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 6.7% โดยการใช้น้ำมันดีเซลในภาคไฟฟ้ามีปริมาณการใช้อยู่ที่ 6.45 ล้านลิตร/วัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 55.8% เป็นผลจากการนำไปผลิตไฟฟ้าทดแทนก๊าซธรรมชาติที่มีราคาสูง
การใช้น้ำมันอากาศยานเชิงพาณิชย์ (Jet A1) เดือนม.ค. – พ.ย. 2565 เฉลี่ยอยู่ที่ 8.51 ล้านลิตร/วัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 90.0% เนื่องจากการมาตรการผ่อนคลายการควบคุมการเดินทางระหว่างประเทศ รวมถึงมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยวของภาครัฐ และการเปิดประเทศแบบเต็มรูปแบบตั้งแต่ 1 ก.ค. 2565 ส่งผลให้ภาคการท่องเที่ยวฟื้นตัวอย่างชัดเจนจากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
การใช้ LPG เดือนม.ค. – พ.ย. 2565 เฉลี่ยอยู่ที่ 17.68 ล้านกก./วัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 7.1% เนื่องจากการใช้ในทุกภาคเพิ่มขึ้น โดยภาคขนส่งอยู่ที่ 2.17 ล้านกก./วัน เพิ่มขึ้น 26.9% ภาคอุตสาหกรรมอยู่ที่ 2.04 ล้านกก./วัน เพิ่มขึ้น 9.6% ภาคปิโตรเคมีอยู่ที่ 7.74 ล้านกก./วัน เพิ่มขึ้น 5.7% และภาคครัวเรือนอยู่ที่ 5.72 ล้านกก./วัน เพิ่มขึ้น 2.0%
การใช้ NGV เดือนม.ค. – พ.ย. 2565 เฉลี่ยอยู่ที่ 3.39 ล้านกก./วัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 9.3%
การนำเข้าน้ำมันเชื้อเพลิงเดือนม.ค. – พ.ย. 2565 เฉลี่ยอยู่ที่ 991,238 บาร์เรล/วัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 12.9% โดยการนำเข้าน้ำมันดิบอยู่ที่ 921,028 บาร์เรล/วัน เพิ่มขึ้น 9.0% โดยมูลค่าการนำเข้าน้ำมันดิบอยู่ที่ 106,316 ล้านบาท/เดือน เพิ่มขึ้น 83.2% สำหรับการนำเข้าน้ำมันสำเร็จรูป (น้ำมันเบนซินพื้นฐาน น้ำมันดีเซลพื้นฐาน น้ำมันเตา น้ำมันอากาศยาน และ LPG) เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 70,210 บาร์เรล/วัน คิดเป็นมูลค่าการนำเข้ารวม 6,381 ล้านบาท/เดือน
การส่งออกน้ำมันสำเร็จรูปเดือนม.ค. – พ.ย. 2565 เฉลี่ยอยู่ที่ 158,417 บาร์เรล/วัน ลดลง 22.7% โดยเป็นการส่งออกน้ำมันเบนซิน น้ำมันดีเซล น้ำมันเตา น้ำมันอากาศยาน น้ำมันก๊าด และ LPG คิดเป็นมูลค่าส่งออกรวม 20,352 ล้านบาท/เดือน เพิ่มขึ้น 34.9%