เช็คชีพจรท่องเที่ยวไทย ลุ้นรัฐเติมเงินเกือบหมื่นล้านกระตุ้น
สถานการณ์ท่องเที่ยวไทยพ้นปากเหว เป็นที่เรียบร้อยแล้ว หลังจากซมพิษโควิดมานานกว่า 3 ปีเต็ม ล่าสุดตัวเลขการท่องเที่ยวทั้งในประเทศ และต่างประเทศ กลับมาฟื้นตัวต่อเนื่อง นับเป็นข่าวดีสำหรับบรรดาเอกชน ผู้ประกอบการชาวบ้าน จะกลับมามีรายได้กันอีกครั้ง
การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เมื่อไม่นานมานี้ ประกาศตัวเลขนักท่องเที่ยวในช่วง 10 เดือน คือ มกราคม – ตุลาคม 2565 พบข้อมูลเบื้องต้นว่าการท่องเที่ยวของไทยเริ่มกลับคึกคักใกล้เคียงช่วงก่อนเกิดวิกฤตโควิด-19 หรือกลับมาได้แล้วเกือบ 80% โดยมีข้อมูลดังนี้
ในช่วง 10 เดือนปีนี้ มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามาในประเทศไทยสะสม 7,613,301 คน ส่วนใหญ่เป็นประเทศเพื่อนบ้าน โดยตลาดอันดับ 1 คือ มาเลเซีย จำนวน 1,290,863 คน รองลงมาอันดับ 2 อินเดีย จำนวน 682,911 คน อันดับ 3 สปป.ลาว จำนวน 559,383 คน อันดับ 4 กัมพูชา จำนวน 387,260 คน และอันดับ 5 สิงคโปร์ จำนวน 377,282 คน
ตัวเลขนี้สะท้อนอะไรให้เห็นหลายอย่าง ถือว่า โดยเฉพาะ “โมเมนตัม” ของการท่องเที่ยว ที่เริ่มกลับมาดีต่อเนื่อง เทียบชัด ๆ เดือนต่อเดือน จะเห็นชัด นั่นคือ เดือน ม.ค. มีนักท่องเที่ยวเข้ามา 140,621 คน เดือนต่อ ๆ มา คือ ก.พ. 154,813 คน มี.ค. 211,092 คน เม.ย. 297,365 คน พ.ค. 532,177 คน มิ.ย. 788,258 คน
จากนั้นในช่วง 4 เดือนหลัง จะพบว่านักท่องเที่ยวต่างชาติเดินไทยก้าวกระโดดมาเป็นหลักล้านคน นั่นคือเดือน ก.ค. พบว่ามีจำนวน 1,210,000 คน เดือน ส.ค. 1,301,092 คน เดือน ก.ย. 1,383,525 คน และเดือน ต.ค. 1,546,092 คน
ททท.ประเมินว่าหากสถานการณ์เป็นไปตามเป้าหมายทั้งปีนักท่องเที่ยวต่างชาติน่าจะเข้ามาเที่ยวไทยอย่างน้อยก็ 10 ล้านคน เชื่อขนมกินได้!!!
แต่อย่างไรก็ตามเป้าตัวเลขนักท่องเที่ยวต่างชาติ 10 ล้านคนในปีนี้ ก็ยังไม่เป็นที่พอใจมากนัก เพราะเดิมที “พิพัฒน์ รัชกิจประการ” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา หมายมั่นปั้นมือว่าเป้าหมายทำงานจะต้องทำให้เกิน 10 ล้านคนให้ได้ เนื่องจากตอนนี้ “น้ำขึ้นต้องรีบตัก” เพราะกลัวว่าถ้าช้าจะไม่ทันการ
นั่นจึงทำให้กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา และ ททท. จัดทำข้อเสนอฟื้นการท่องเที่ยวชุดใหญ่ ชงให้รัฐบาลไฟเขียวขอให้เงินกว่า 8,700 ล้านบาท ฟื้นฟู กระตุ้น และกระตุกการท่องเที่ยวไทย
ตามแผนของฟื้นท่องเที่ยวไทยปลายปีต่อเนื่องถึงช่วงต้นปีหน้า วงเงินเฉียดหมื่นล้านนี้ ส่วนหนึ่งจะนำไปทำโครงการขวัญใจมหาชนอย่าง “เราเที่ยวด้วยกัน” เฟส 5 หลังจากในช่วงที่ผ่านมา โครงการนี้ได้ใจนักเดินทางหลายคน เพราะรัฐบาลจะช่วยออกเงินค่าที่พัก ช่วยดึงดูดให้คนเดินทางไปเที่ยวทั่วประเทศ ตามแผนรอบนี้ จะทำเป็นหนึ่งในของขวัญปีใหม่ให้กับคนไทย โดยขอรัฐใช้เงินไปทำสูงถึง 7,200 ล้านบาท
รายละเอียดเบื้องต้นได้รับการยืนยันจาก ททท. ว่า จะเปิดให้จองสิทธิที่พักอย่างน้อย 2 ล้านสิทธิโดยคนที่เข้าร่วมจะได้ส่วนลดค่าที่พัก 40% สูงสุดไม่เกิน 3,000 บาทต่อห้องต่อคืน และคูปองอาหารและท่องเที่ยว สูงสุดไม่เกิน 600 บาทต่อห้องต่อคืน ส่วนตั๋วเครื่องบินรอบนี้ถูกตัดออกไป เนื่องจากเคยเปิดไปแล้วคนมาใช้สิทธิน้อย และมีขั้นตอนที่ยุ่งยาก
ขณะที่เงินอีกก้อน วงเงิน 1,500 ล้านบาท นับเป็นอีกไฮไลท์ เพราะจะเป็นงบเอามาทำการตลาดจัดเต็ม โดยจะทำให้ครอบคลุมไปถึงช่วงเทศกาลสงกรานต์ปีหน้ากันไปเลย รูปแบบของมาตรการกระตุ้นรอบนี้ กำหนดึงยอดคนเดินทางท่องเที่ยวในประเทศ ลดต้นทุนการเดินทางของนักท่องเที่ยว เพื่อเพิ่มความถี่ในการเดินทาง เพิ่มวันพักค้าง และกระจายการใช้จ่ายลงไปในพื้นที่ และชุมชนท่องเที่ยว
เบื้องต้น กำหนดแนวทางเอาไว้ 3 แนวทาง ดังนี้
แนวทางที่ 1 Local to Global จากซอฟต์พาวเวอร์ สู่ประสบการณ์เดินทางที่มีความหมาย (Meaningful Travel)
แนวทางที่ 2 Go Local New Chapters ส่งเสริมการท่องเที่ยวชุมชนและสร้างสินค้าเชิงประสบการณ์ท้องถิ่นใหม่ เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มและความยั่งยืน (High Value and Sustainable Tourism)
แนวทางที่ 3 New Demand Booster กิจกรรมส่งเสริมการขาย กระตุ้นตลาดทั้งในและต่างประเทศ ลดต้นทุนการเดินทาง เพิ่มโอกาสในการท่องเที่ยวในประเทศ สนับสนุนปีท่องเที่ยวไทย (Visit Thailand Year 2022-2023) อย่างเป็นรูปธรรม
ประเมินว่า หากมาตรการนี้ทำออกมาสำเร็จ จะช่วยการสร้างรายได้รวมจากการท่องเที่ยว ไม่น้อยกว่า 2.4 ล้านล้านบาทในปี 2566 และทำให้การท่องเที่ยวของไทยเริ่มกลับมาฟื้นตัวเป็นปกติได้โดยเร็ว
ล่าสุดการขอเงินมาทำสารพัดมาตรการนี้ “พิพัฒน์ รัชกิจประการ” ยืนยันว่า จะเสนอเข้าคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบได้ภายใน 1-2 สัปดาห์นี้ เพื่อจะใช้ได้ทันในช่วงปลายปี
นอกจากมาตรการกระตุ้นท่องเที่ยวให้ตัวเลขเป็นไปตามเป้าหมายแล้ว อีกเรื่องหนึ่งที่ยังค้างอยู่ที่กระทรวงการท่องเที่ยวฯ ยังไม่ได้นำเสนอครม. นั่นคือ การกระตุ้นเศรษฐกิจยามราตรี หรือ การส่งเสริมการขยายเวลาเปิดผับ บาร์ ไปถึงตี 4 ในโซนนิ่ง เมือง หรือย่านสำคัญการท่องเที่ยวหลายแห่งในประเทศไทย
แนวทางนี้ที่ผ่านมามีทั้งเสียงหนุน-เสียงค้าน เพราะมีทั้งข้อดี-ข้อเสีย เบื้องต้นกระทรวงการท่องเที่ยวฯ ยังขอดูช่วงเวลาที่เหมาะสม ชงให้นายกรัฐมนตรี พิจารณา หลังจากผลการศึกษาที่เป็น “พิมพ์เขียว” เสร็จสิ้นแล้ว กำหนดพื้นที่นำร่องรวม 8 แห่ง คือ ภูเก็ต กระบี่ พังงา สมุย พัทยา หัวหิน เชียงใหม่ และกรุงเทพฯ
ตามแผนหากทุกอย่างผ่านฉลุย กระทรวงการท่องเที่ยวฯ ตั้งใขว่าจะสตาร์ทจุดแรกที่ จังหวัดภูเก็ต เพราะเป็นเมืองท่องเที่ยว มีนักท่องเที่ยวต่างชาติอยู่ในพื้นที่จำนวนมาก และน่าจะเป้นโอกาสฟื้นฟูเศรษฐกิจ และรายได้ให้กับผู้ประกอบการในพื้นที่ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ก็ต้องดูความเหมาะสมประกอบกันไปด้วยว่าจะไม่สร้างความเดือดร้อนให้กับชาวบ้านในพื้นที่
แผนการทั้งหมดของการปั๊มชีพจรท่องเที่ยวของไทย จะหมู่หรือจ่า ไม่นานนี้คงได้รู้กัน