ธุรกิจ 2 ล้านล้านบาท ภารกิจท้าทาย CEO ปตท. คนใหม่
2 ปี…จากนี้ไปภาพของพี่ใหญ่ธุรกิจน้ำมัน กำลังจะเปลี่ยนไปตามนโยบาย “CHANGE for Future of Thailand 4.0” ภายใต้การบริหารของ “ชาญศิลป์ ตรีนุชกร” CEO คนใหม่ ที่จะมาพลิกบทบาทสำคัญของ ปตท.สู่ ธุรกิจที่มีมูลค่ากว่า 2 ล้านล้านบาทในอนาคต
แม้ว่า “ชาญศิลป์ ตรีนุชกร” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่คนใหม่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) จะชูนโยบาย “CHANGE for Future of Thailand 4.0” มุ่งสานต่อการดำเนินงานตามกลยุทธ์ของ ปตท.จากรุ่นสู่รุ่น ด้วยการปรับปรุงการทำงานให้สอดคล้องกับสถานการณ์และความท้าทายทั้งปัจจุบันและอนาคต เพื่อรองรับเทคโนโลยีพลังงานที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว และการสร้างฐานเรื่องนวัตกรรมให้กับประเทศ โดยมีองค์ประกอบ 6 ด้าน ได้แก่
1) Continuity สานต่อเพื่อความต่อเนื่อง เตรียมพร้อมรับการเปลี่ยนแปลงทางธุรกิจอย่างต่อเนื่อง โดยกำหนดยุทธศาสตร์สำหรับการดำเนินธุรกิจแบบ 3D คือ Do now, Decide now และ Design now 2) Honesty ผู้บริหารและพนักงานทุกคนต้องปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์ และดำเนินการอย่างมีจริยธรรมนำธุรกิจ 3) Alignment ขยายความร่วมมือ เพิ่มความมั่นคงและยั่งยืน สร้างพลังร่วมเพื่อบูรณาการความเชี่ยวชาญ กระจายโอกาสการเติบโตออกสู่สังคมภายนอก 4) New Innovation Solution สร้างสรรค์สิ่งดีและสิ่งใหม่ หาธุรกิจที่เป็นเส้นทางสู่ความสำเร็จใหม่ (New S-Curve) 5) Good Governance กำกับดู แลดี มีประสิทธิภาพ ยึดมั่นการดำเนินงานตามหลักธรรมาภิบาล เน้นความโปร่งใส และ 6) Excel- lence Team Work สร้างคนรุ่นใหม่พร้อมรับการเปลี่ยนแปลง
จากการเปลี่ยนแปลงของสภาวะแวดล้อมและความท้าทายในอนาคตที่ว่านี้ ปตท.จึงจำเป็นต้องมีวิสัยทัศน์และกลยุทธ์ เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันที่จะทำให้การดำเนินธุรกิจเติบโตต่อไปได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน ด้วยการดำเนินงานโดยยึดหลักหลักธรรมาภิบาล มุ่งเป็นองค์กรตัวอย่างของประเทศไทย ร่วมเป็นหนึ่งในฟันเฟืองขับเคลื่อนประเทศให้บรรลุแผนยุทธศาสตร์ 20 ปีที่วางไว้ และสอดรับกับกระบวนทัศน์ในการพัฒนาประเทศภายใต้ ประเทศไทย 4.0 โดยมีเป้าหมายว่า ปตท. ต้องเป็นองค์กรแห่งความภาคภูมิใจ เน้นความโปร่งใส สู่ความยั่งยืน
แต่หากลงลึกในรายละเอียดจะพบว่าช่วงเวลา 1 ปี 8 เดือน ที่ นายชาญศิลป์ ดำรงตำแหน่ง CEO บริษัท จะต้องผลักดันแผนการลงทุนที่สำคัญ 2 ส่วน คือ การลงทุนในระบบโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับการนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) และ การขยายท่อส่งก๊าซธรรมชาติ ซึ่งอยู่ในแผนการลงทุน 5 ปี (2561-2565) ของ ปตท.ให้บรรลุตามวัตถุประสงค์
เนื่องเพราะภารกิจของ ปตท.ในปัจจุบันคือการสร้างความมั่นคงด้านพลังงาน ซึ่งก็จะต้องดูแลและจัดหาเชื้อเพลิงเพื่อรองรับความต้องการใช้ โดยเฉพาะในภาคไฟฟ้าที่จะเพิ่มขึ้นตามการเติบโตของเศรษฐกิจประเทศ ปตท.ยังให้ความสำคัญกับการจัดหาก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) เพราะเป็นเชื้อเพลิงสะอาด รวมถึงการเดินหน้าสร้างคลัง LNG แห่งใหม่เพื่อรองรับการนำเข้า LNG ในอนาคต ตลอดจนการสร้างท่อส่งก๊าซธรรมชาติเส้นที่ 5 เพื่อเชื่อมโยงก๊าซฯจากฝั่งตะวันออกและฝั่งตะวันตกของประเทศให้เกิดความมั่นคงในการส่งก๊าซฯไปยังโรงไฟฟ้าและโรงงานอุตสาหกรรมต่าง ๆ ได้ครอบคลุมมากยิ่งขึ้น
นี่จึงเป็นที่มาของความตั้งใจยิ่ง ในการเข้าไปช่วงชิงความเป็นหนึ่ง ในโครงการประมูลรถไฟฟ้าความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ระยะทาง 220 กิโลเมตร มูลค่า 2 แสนล้านบาท ประกอบด้วย สนามบินดอนเมือง สนามบินสุวรรณภูมิ และสนามบินอู่ตะเภา ซึ่งเป็นโครงสร้างพื้นฐานในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) เนื่องจากจะสามารถต่อยอดธุรกิจที่มีอยู่แล้วในเครือของปตท.ดังที่กล่าวไว้ในเบื้องต้น โดยมอบหมายให้ บริษัท เอนเนอร์ยี่ คอมเพล็กซ์ จำกัด (ประเทศไทย) หรือเอ็นโก้ (ENCO) ซึ่งเป็นบริษัทในเครือ ปตท.เข้าไปดำเนินการ เนื่องจาก ปตท.เป็นรัฐวิสาหกิจ จึงไม่สิทธิเข้าร่วมประมูลตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ส่งเสริมการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน (พีพีพี)
และแม้ว่า ปตท. จะอยู่ระหว่างการตัดสินใจคัดเลือกพันธมิตรให้เหลือ 1 ราย ระหว่างผู้ประกอบการรถไฟฟ้าบนดิน และผู้ประกอบการรถไฟฟ้าใต้ดิน ซึ่งที่ผ่านมา กลุ่มผู้ประกอบการรถไฟฟ้าที่ให้ความสนใจเข้าลงทุนในโครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูง คือ บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือ BTS ผู้ประกอบการรถไฟฟ้าบนดินในนาม BTS และบริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM ผู้ประกอบการรถไฟฟ้าใต้ดินในนาม MRT ก็ตาม แต่ก็มีกระแสข่าวออกมาอย่างต่อเนื่องว่า ปตท.จะจับมือกับบริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือ BTS และบริษัท ชิโน-ไทย เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) แต่น่าจะชัดเจนก่อนยื่นประมูลในช่วงเดือนพ.ย. 2561
นอกจากนั้นในส่วนของโครงการการพัฒนาสถานีกลางบางซื่อของการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ทาง ปตท.ยังมีความสนใจในการลงทุนให้เป็นเมืองอัจฉริยะ(สมาร์ท ซิตี้) ด้านการใช้พลังงานในพื้นที่ ซึ่งจะเป็นการเปิดประมูลในรูปแบบรัฐร่วมกับเอกชน หรือพีพีพี (PPP) ให้เอกชนเข้ามาพัฒนาพื้นที่ ที่คาดว่าจะมีความชัดเจนในการดำเนินงานภายในปี 2562
อย่างไรก็ดี สถานีกลางบางซื่อในอนาคตนั้น จะเป็นศูนย์กลางการเดินทางระบบรางรองรับรถไฟ ส่วนการพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์ 2,300 ไร่ มูลค่ากว่า 1.5 แสนล้านบาทนั้น จะพัฒนาให้เป็นศูนย์กลางธุรกิจ โรงแรม ที่อยู่อาศัยฯลฯ โดยก่อนมีกลุ่มเซ็นทรัล และกลุ่มทุนจากต่างประเทศ เช่น ญี่ปุ่น, จีน ให้ความสนใจลงทุน
ส่วนธุรกิจผลิตไฟฟ้า แม้ว่า นายกรณ์ จาติกวณิช อดีตส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ จะคัดค้านการเข้าซื้อหุ้นในบริษัทโกลว์ พลังงาน จำกัด (มหาชน) ของบริษัทโกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือจีพีเอสซี ร่วมทั้งแผนขยายธุรกิจร้านกาแฟคาเฟ่ อเมซอน ของบริษัทในเครือ ปตท. เนื่องจากเกรงว่าอาจจะเข้าข่ายขัดรัฐธรรมนูญตามมาตรา 75 ที่ห้ามภาครัฐทำธุรกิจแข่งกับเอกชน
ซึ่ง นายชาญศิลป์ ยันยันว่า การผลิตไฟฟ้าถือเป็นการแข่งขันกันตามระบบธุรกิจปกติ กรณีนี้ปตท.ไม่ได้เป็นผู้เข้าไปซื้อเอง แต่ให้บริษัทลูกที่เป็นเอกชนที่ปตท.ถือหุ้นอยู่ร้อยละ 20 เข้าไปซื้อ และทุกอย่างดำเนินการเป็นไปตามกฎหมายและการเข้าซื้อหุ้นในครั้งนี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพด้านไฟฟ้าให้กับผู้ลงทุนในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด และพื้นที่โครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) และเพิ่มความมั่นใจให้กับนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศ ขณะเดียวกันช่วยลดค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานส่งผลดีทั้งต่อลูกค้าและจีพีเอสซี
แต่ทั้งนี้ก็เป็นหน้าที่ของ คณะกรรมการกํากับกิจการพลังงาน หรือ กกพ.ซึ่งจะเป็นผู้ชี้ขาดว่าขัดรัฐธรรมนูญ ดังที่ถูกกล่าวอ้างหรือไม่ หากไม่ขัด ธุรกิจไฟฟ้า ของ ปตท.จะยิ่งใหญ่ไม่แพ้ธุรกิจน้ำมัน