หมอศิริราชห่วง 3 กลุ่มเสี่ยง แนะ “4 ลดพฤติกรรม” สู้โควิดฯ
“หมอศิริราช” ห่วง 3 กลุ่มเสี่ยง หากถูกโควิดฯจู่โจมทำลายปอดอาจหนักถึงขั้นรุนแรง ชี้! หากร่างกายปกติ ภูมิจะปกป้องและหายได้เอง แนะลดพฤติกรรม 4 เสี่ยง สู้โควิดฯกลายพันธุ์
ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล แสดงความเป็นห่วงประชาชนกลุ่มเสี่ยงที่จะได้รับผลกระทบจากการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ระลอกใหม่รุนแรงกว่าและต่างจากรอบแรก โดยเฉพาะ กลุ่มผู้สูงอายุ กลุ่มคนที่มีโรคประจำตัวเกี่ยวกับปอด และกลุ่มคนที่มีน้ำหนักมาก มีไขมันใต้ผิวหนัง หรือใต้ช่องท้องมาก รวมถึงผู้ป่วยเบาหวาน เพราะเมื่อไวรัสจู่โจมระบบทางเดินหายใจ อาจทำลายปอด 10-20% จนปอดไม่พื้นกลับมา
ทั้งนี้ จากงานวิจัยพบว่า เมื่อไวรัสโควิด-19 เข้าไปในร่างกาย ภูมิคุ้มกันจะทำงานเต็มที่สัปดาห์ที่ 2 หรือวันที่ 8 หลังรับเชื้อ เพื่อยับยั้งหรือช่วยไม่ให้เกิดโรค ถ้าภูมิคุ้มกันปกติ 2-3 สัปดาห์แรกจะทำงานเต็มที่ จากนั้นค่อยๆ ลดลง จึงพบมีกลุ่มคนที่ได้รับเชื้อ แต่ไม่แสดงอาการและหายได้เอง
ทว่าหากภูมิคุ้มกับไม่ปกติ เพราะมีโรคประจำตัว ที่ต้องใช้ยารักษาที่ไปกดภูมิคุ้มกัน เช่น เบาหวานที่ควบคุมระดับน้ำตาลเองไม่ได้ เป็นโรคหลอดเลือด เม็ดเลือดขาวไม่สามารถจัดการเชื้อโรคได้ คนกลุ่มนี้เมื่อได้รับเชื้อโควิด-19 จะมีอาการรุนแรง ผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงไม่เพียงปอดถูกทำลาย แต่มีจำนวนไม่น้อยที่เสียชีวิต เพราะไตวาย เลือดไม่ไปเลี้ยงแขนขา ความรุนแรงของเชื้อไปกระทบกับอวัยวะอื่นด้วย ดังนั้น ผู้ที่มีโรคประจำตัวจึงเสี่ยงมากขึ้นไปอีก
ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ กล่าวว่า ธรรมชาติของไวรัสทุกชนิด ไม่เฉพาะโควิด-19 มันจะปรับตัวหรือที่เรียกว่ากลายพันธุ์อยู่เสมอ อย่างในอังกฤษพบว่า เชื้อโควิด-19 ติดต่อได้ง่ายขึ้น รวดเร็วขึ้น ดังนั้น ต้องช่วยกันลดปัจจัยเสี่ยงที่จะกลายเป็นวิกฤต คือ 1.พบกับบุคคลเสี่ยง 2.อยู่ในพื้นที่เสี่ยง 3.ร่วมกิจกรรมเสี่ยง และ 4.เข้าไปช่วงเวลาเสี่ยง
“เราคนไทยทุกคนต้องร่วมกันจัดการกับ 4 เสี่ยงนี้เท่าที่จะทำได้ตามปัจจัยและเงื่อนไขชีวิตตนเอง ไม่ต้องรอให้รัฐออกมาตรการ ไม่จำเป็นต้องให้มีการบังคับ นี่คือสิ่งที่เราจะช่วยปกป้องชีวิตของตัวเองและคนที่เรารัก” ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ ระบุ.