สรุปสถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศ วันที่ 18 ก.ค. 67

1. สรุปสถานการณ์น้ำ และปริมาณฝนสะสม 24 ชม. สูงสุด ได้แก่ ภาคเหนือ : จ.พิษณุโลก (133 มม.) ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ : จ.อุบลราชธานี (161 มม.) ภาคกลาง : จ.ชัยนาท (65 มม.) ภาคตะวันออก : จ.นครนายก (107 มม.) ภาคตะวันตก : จ.ประจวบคีรีขันธ์ (26 มม.) ภาคใต้ : จ.พังงา (54 มม.)
สภาพอากาศวันนี้ : ร่องมรสุมกำลังแรงพาดผ่านตอนบนของภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เข้าสู่หย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณทะเลจีนใต้ตอนบน และมรสุมตะวันตกเฉียงใต้พัดปกคลุมภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้มีกำลังค่อนข้างแรง ทำให้ประเทศไทยมีฝนตกหนักหลายพื้นที่ โดยมีฝนตกหนักมากบางแห่งในบริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออก และภาคใต้ฝั่งตะวันตก
คาดการณ์ : 19 ก.ค. 67 ประเทศไทยมีฝนตกหนักหลายพื้นที่ โดยมีฝนตกหนักมากบางแห่งในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก และภาคใต้ฝั่งตะวันตก โดยวันที่ 20–23 ก.ค. 67 ร่องมรสุมจะเลื่อนขึ้นไปพาดผ่านตอนบนของภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทยจะมีกำลังอ่อนลง ทำให้ประเทศไทยมีฝนลดลง แต่ยังคงมีฝนตกหนักบางแห่ง
2. สถานการณ์น้ำอ่างเก็บน้ำในภาพรวม : ปริมาณน้ำรวม 50% ของความจุเก็บกัก (39,886 ล้าน ลบ.ม.) ปริมาณน้ำใช้การ 27% (15,/- ล้าน ลบ.ม.) การประเมินสถานการณ์แหล่งน้ำเฝ้าระวังน้ำน้อย 4 แห่งภาคเหนือ : ภูมิพลและสิริกิติ์ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ : จุฬาภรณ์ ภาคตะวันตก: ปราณบุรี
3. ประกาศ/แจ้งเตือนสถานการณ์น้ำ :
3.1 สทนช. ประกาศแจ้งเตือนเฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก ฉบับที่ 7/2567 ในช่วงวันที่ 15 – 20 ก.ค. 67 ดังนี้
ภาคเหนือ จ.แม่ฮ่องสอน ตาก สุโขทัย พะเยา น่าน แพร่ อุตรดิตถ์ พิษณุโลก และเพชรบูรณ์
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จ.เลย หนองคาย บึงกาฬ หนองบัวลำภู อุดรธานี สกลนคร นครพนม ชัยภูมิ ขอนแก่น นครราชสีมา กาฬสินธุ์ มุกดาหาร มหาสารคาม ร้อยเอ็ด ยโสธร อำนาจเจริญ สุรินทร์ ศรีสะเกษ และอุบลราชธานี
ภาคตะวันออก จ.นครนายก ปราจีนบุรี สระแก้ว ชลบุรี ระยอง จันทบุรี และตราด
ภาคใต้ จ.ระนอง พังงา กระบี่ สุราษฎร์ธานี ตรัง สตูล ยะลา และนราธิวาส
3.2 กรมชลประทาน จะดำเนินการปรับเพิ่มการระบายน้ำในแม่น้ำชีทั้ง 4 เขื่อน ได้แก่ เขื่อนชนบท เขื่อนมหาสารคาม เขื่อนวังยาง และเขื่อนร้อยเอ็ด จะทำการเปิดประตูระบายน้ำในอัตราที่เพิ่มขึ้นโดยจะทยอยปรับเป็นขั้นบันได ซึ่งอาจส่งผลให้ระดับน้ำท้ายเขื่อนมีปริมาณน้ำเพิ่มขึ้น จึงขอให้ให้ประชาชนที่อาศัยอยู่ตามลำน้ำชี เฝ้าระวัง เคลื่อนย้ายทรัพย์สินที่อยู่ในแม่น้ำเพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบ ต่อไป
4. แนวทางการบริหารจัดการน้ำ : เมื่อวันที่ 17 ก.ค. 67 นายไพฑูรย์ เก่งการช่าง รองเลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ลงพื้นที่อ่างเก็บน้ำห้วยเชียงคำ ต.โนนราศี อ.บรบือ จ.มหาสารคาม กำชับให้หน่วยงานเร่งดำเนินการให้ความช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่ ดังนี้
1. กรมชลประทานดำเนินการปิดทำนบดินที่ขาด โดยจะดำเนินการตอกผนังกั้นน้ำลงกล่องบรรจุหินเพื่อซ่อมแซมทางระบายน้ำเดิม และเปิดทางระบายน้ำแห่งใหม่เพื่อรองรับปริมาณฝนที่อาจตกลงมาเพิ่ม โดยให้เร่งดำเนินการซ่อมแซมเบื้องต้นให้แล้วเสร็จภายในเจ็ดวัน และปรับปรุงให้สามารถเก็บน้ำไว้ใช้ในช่วงฤดูแล้งอย่างพอเพียง
2. องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ร่วมกับกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พร้อมหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องเข้าสำรวจความเสียหายและให้ความช่วยเหลือในเบื้องต้นเพื่อชดเชยความเสียหายที่เกิดขึ้นใน จ.มหาสารคาม
3. กรมหลวงชนบทติดตั้งสะพานเบลีย์เชื่อมการสัญจรในจุดที่คอสะพานขาด นอกจากนี้ สทนช. ยังได้มอบหมายให้กรมชลประทาน กรมทรัพยากรน้ำ กรมโยธาธิการและผังเมือง เร่งดำเนินการสำรวจความมั่นคงของอาคารชลศาสตร์ทุกแห่งให้มีความแข็งแรงพร้อมรับมือสถานการณ์น้ำตามมาตรการรับมือฤดูฝน 2567
5. สถานการณ์อุทกภัย: สถานการณ์น้ำท่วมขังวันที่ 15-17 ก.ค.67 ในพื้นที่ 7 จังหวัดได้แก่ จ.เพชรบูรณ์ (อ.หล่มเก่า) จ.เลย (อ.ภูกระดึง) จ.ขอนแก่น (อ.บ้านไผ่ อ.มัญจาคีรี และ อ.เมืองฯ) จ.มหาสารคาม (อ.บรบือ อ.วาปีปทุม และ อ.เมืองฯ) จ.อุบลราชธานี (อ.เดชอุดม) จ.เพชรบุรี (อ.หนองหญ้าปล้อง) และจ.ระนอง (อ.กระบุรี)
ข่าวที่เกี่ยวข้อง : สรุปสถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศ วันที่ 17 ก.ค. 67