นายกฯ สั่งมหาดไทย-ตำรวจแก้หนี้นอกระบบ
• ลงพื้นที่ร่วมกันปราบเจ้าหนี้โขกดอกเบี้ยโหด
• คลังรับลูกสั่งออมสิน-ธ.ส.ก.ซับน้ำประชาชน
• ดึงเจ้าหน้านอกระบบแปลงเป็นพิโกไฟแนนซ์
รัฐบาลเสนอการแก้หนี้นอกระบบ เป็นวาระแห่งชาติ เนื่องจากปัญหาหนี้นอกระบบ กดดันเศรษฐกิจให้ถอยหลัง ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา โดยลูกหนี้ต้องหาเงินมาใช้หนี้เงินต้นและดอกเบี้ยอย่างไม่เป็นธรรม
วันนี้ (28 พ.ย.) นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและ รมว.คลัง พร้อมด้วย นายอนุทิน ชาญวีระกุล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.มหาดไทย และนายกฤษฎา จีนะวิจารณะ รมช.คลัง ร่วมแถลงข่าวพร้อมกัน โดย นายกรัฐมนตรี ระบุว่า การแก้ไขหนี้นอกระบบในครั้งนี้ จะดำเนินการอย่างเป็นชนรูปธรรม และยังเป็นครั้งแรกที่กระทรวงมหาดไทยรวมมือกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติลงพื้นที่ร่วมกันในระดับอำเภอโดยนายอำเภอต้องทำงานร่วมกับผู้กำกับ (ตำรวจ) และมีการลงทะเบียนทั้งเจ้าหนี้และลูกหนี้ เพื่อตรวจสอบความถูกต้องหลังจากให้กระทรวงการคลัง ที่มีธนาคารเฉพาะกิจ 2 แห่งคือ ธ.ก.ส.และออมสิน รับผิดชอบ
“ปัญหาหนี้นอกระบบ กัดกร่อนสังคมไทยมายาวนาน และเป็นจุดเริ่มต้นของปัญหาสังคมอีกหลายประการ รัฐบาลได้ประเมินจำนวนหนี้ครัวเรือน ที่เป็นปัญหาหนี้นอกระบบไว้เป็นมูลค่ากว่า 50,000 ล้านบาท ซึ่งตัวเลขนี้อาจจะประเมินไว้ต่ำกว่าความเป็นจริง” นายกรัฐมนตรี กล่าวและกล่าวว่า
“ปัญหาหนี้นอกระบบ ส่งผลโดมิโน เอฟเฟค ไปทุกภาคส่วน หนี้นอกระบบ นับเป็นการค้าทาสยุคใหม่ ที่พรากอิสรภาพ ความฝัน ไปจากผู้คนในยุคสมัยนี้”
นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ปัญหาหนี้นอกระบบ เรื้อรังและใหญ่เกินกว่าที่จะแก้ไขได้โดยไม่มีภาครัฐเข้ามาเป็นตัวกลางให้ความช่วยเหลือ รัฐบาลจึงต้องบูรณาการหลายภาคส่วนเพื่อเข้ามาช่วยแก้ปัญหา ทั้งฝ่ายปกครอง ตำรวจ และกระทรวงการคลัง เพื่อไม่ให้ประชาชนกลับไปอยู่ในวงจรหนี้นอกระบบอีก ซึ่งภาครัฐจะทำหน้าที่เป็นตัวกลางในการไกล่เกลี่ยปัญหาทั้งหมด ดูแลทั้งฝ่ายเจ้าหนี้ และลูกหนี้อย่างเป็นธรรม ตั้งแต่ต้นกระบวนการไปจนถึงการปิดหนี้
นายเศรษฐา กล่าวว่า “การทำสัญญา ที่หลายครั้งไม่เป็นไปตามกฎหมาย คิดดอกเบี้ยสูงเกิน 15% เกินกว่าที่กฎหมายกำหนด นอกจากนี้ ยังทวงหนี้ ที่ใช้ความรุนแรง ภาครัฐจึงต้องขัดจัดการทำสัญญาที่ไม่เป็นธรรม ดังนั้น การแก้ปัญหาหนี้นอกระบบนี้ ต้องแก้ปัญหาร่วมกันหลายหน่วยงาน และทำให้ลูกหนี้ได้มีโอกาสหายใจ มีกำลังที่จะดำเนินชีวิต และหาเงินมาปิดหนี้ให้ได้”
นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรี ยังกล่าวถึง การแก้ไขหนี้ว่า คงไม่ใช่ยาปาฏิหาริย์ที่จะทำให้หนี้นอกระบบไม่เกิด ขึ้นอีก แต่มั่นใจว่าด้วยเศรษฐกิจที่ดีขึ้นจะทำให้ประชาชนมีรายได้ดีขึ้น จนไม่จำเป็นต้องก่อหนี้อีกในอนาคต และจะเพิ่มโอกาสให้รายเล็ก รายย่อย เข้าถึงแหล่งทุนในระบบมากขึ้น โดยในวันที่ 12 ธ.ค.นี้ จะมีการแถลงภาพรวมหนี้ครบวงจร ครอบคุลมหนี้ในระบบ และนอกระบบอีกครั้ง
นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรมว.มหาดไทย กล่าวว่า กระทรวงมหาดไทย จะเริ่มเปิดให้ประชาชนที่เป็นลูกหนี้นอกระบบ หรือถูกคุกคามจากการทวงหนี้นอกระบบ ไปลงทะเบียนหนี้นอกระบบได้ที่ศาลากลางจังหวัด ศูนย์ดำรงธรรม ประจำอำเภอ หรือจังหวัด ส่วนในกรุงเทพฯ ให้ไปลงทะเบียนได้ที่สำนักงานเขตทุกเขต ซึ่งกระทรวงมหาดไทย จะเริ่มเปิดระบบให้ลงทะเบียนดังกล่าวได้ตั้งแต่วันที่ 1 ธ.ค.นี้ เป็นต้นไป
“กระทรวงมหาดไทย จะทำงานประสานกับเจ้าหน้าที่ตำรวจอย่างใกล้ชิด เพื่อดำเนินการตามคำสั่งของนายกรัฐมนตรีในการแก้หนี้นอกระบบ”
นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ รมช.คลัง กล่าวว่า กระทรวงการคลัง จะเข้ามาดูแลลูกหนี้นอกระบบภายหลังจากที่ได้เข้ากระบวนการไกล่เกลี่ย เพื่อปรับโครงสร้างหนี้แล้ว โดยธนาคารเฉพาะกิจของรัฐจะเข้ามาให้ความช่วย เหลือทางการเงิน เช่น ธนาคารออมสินให้กู้ฉุกเฉินไม่เกิน 50,000 บาท/ราย ระยะเวลา 5 ปี รวมทั้งการให้สินเชื่อเพื่อการประกอบอาชีพอิสระ ไม่เกิน 100,000 บาท/ราย ระยะเวลา 8 ปี คิดอัตราดอกเบี้ยตามความสามารถของลูกหนี้แต่ละราย
ขณะที่ ธ.ก.ส.จะเข้ามาช่วยรองรับในกรณีที่ลูกหนี้นำที่ดินไปขายฝาก หรือจำนองไว้กับเจ้าหนี้นอกระบบ ธ.ก.ส.ก็จะมีวงเงินให้ไม่เกิน 2.5 ล้านบาท/ราย เพื่อเข้าไปช่วยไม่ให้ที่ดินถูกยึด และยังแก้ปัญหาที่ดินทำกินอีกด้วย อย่างไรก็ดี หากผู้ปล่อยกู้ที่ต้องการจะทำให้ถูกกฎหมาย ก็สามารถมาขออนุญาตจัดตั้งเป็นบริษัทพิโกไฟแนนซ์ได้ ซึ่งปัจจุบัน มีผู้มาขออนุญาตแล้วกว่า 1,132 ราย ยอดปล่อยกู้สะสม 35,000 ล้านบาท
มาตรการธนาคารเฉพาะกิจ
1.โครงการสินเชื่อธนาคารประชาชนเพื่อแก้ไขหนี้นอกระบบโดยธนาคารออมสิน วงเงินสินเชื่อรายละไม่เกิน 50,000 บาท อัตราดอกเบี้ยคงที่ (Flat Rate) 1% ต่อเดือน ระยะเวลากู้ไม่เกิน 5 ปี
2.สินเชื่อเพื่อผู้ประกอบอาชีพอิสระรายย่อยเพื่อเป็นเงินทุนหรือเสริมสภาพคล่องในการประกอบอาชีพโดยธนาคารออมสิน วงเงินสินเชื่อไม่เกินรายละ 100,000 บาท อัตราดอกเบี้ยคงที่ (Flat Rate) 1% ต่อเดือน ระยะเวลาชำระคืนเงินกู้สูงสุดไม่เกิน 8 ปี หรือ 96 งวด
3.สินเชื่อกองทุนหมุนเวียนเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรและผู้ยากจนโดย ธ.ก.ส. เพื่อสงวนรักษาที่ดินจากการจำนอง ขายฝาก หรือใช้ที่ดินเป็นประกัน วงเงินสูงสุด 2.5 ล้านบาทต่อราย อัตราดอกเบี้ย 5% ต่อปี ระยะเวลาชำระหนี้ไม่เกิน 20 ปี
4.กรณีเจ้าหนี้นอกระบบ สามารถยื่นขออนุญาตประกอบธุรกิจสินเชื่อพิโกไฟแนนซ์กับกระทรวงการคลังได้ โดยใบอนุญาตประเภทพิโกไฟแนนซ์มีเงื่อนไขสำคัญเบื้องต้น คือ ต้องมีทุนจดทะเบียนที่ชำระแล้วไม่ต่ำกว่า 5 ล้านบาท สามารถปล่อยสินเชื่อให้ลูกหนี้รายละไม่เกิน 50,000 บาท และเรียกเก็บดอกเบี้ยแบบมีหลักประกันได้ไม่เกิน 33% ต่อปี และแบบไม่มีหลักประกันได้ไม่เกินอัตรา 36% ต่อปี แบบลดต้นลดดอก
5.ใบอนุญาตประเภทพิโกพลัสต้องมีทุนจดทะเบียนที่ชำระแล้วไม่ต่ำกว่า 10 ล้านบาท สามารถปล่อยสินเชื่อให้ลูกหนี้รายละไม่เกิน 100,000 บาท โดยสินเชื่อในส่วนที่เกิน 50,000 บาทขึ้นไป เก็บอัตราดอกเบี้ยสูงสุดได้ไม่เกิน 28% ต่อปี แบบลดต้นลดดอก
ทั้งนี้ ณ เดือนต.ค.2566 มีผู้ได้รับอนุญาตให้ประกอบธุรกิจสินเชื่อพิโกไฟแนนซ์และเปิดดำเนินการแล้ว 1,132 ราย ใน 75 จังหวัด และ ณ เดือนก.ย. 2566 มีการอนุมัติสินเชื่อพิโกไฟแนนซ์ให้กับประชาชนรายย่อยไปแล้วสะสม 3,797,385 ล้านบัญชี รวมเป็นวงเงิน 36,431.83 ล้านบาท