เยือนอาณาจักรพันปี เมืองศรีเทพแห่งเพชรบูรณ์
เพชรบูรณ์หรือ? ใช่เมืองไก่ย่างวิเชียรบุรีหรือเปล่า? หรือจะไปภูทับเบิก แล้วต่อด้วยเขาค้อ วัดผาซ่อนแก้วก็น่าสนใจนะ…
ช่วงนี้หากเอ่ยชื่อจังหวัดเพชรบุรีขึ้นมา สิ่งที่คนสนใจคงไม่พ้นที่ยกตัวอย่างมาข้างต้น แต่เพชรบูรณ์มีทีเด็ดกว่านั้น นั่นก็คือ “ อุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ ” อาณาจักรโบราณที่เต็มไปด้วยอารยธรรม และปริศนาที่ชวนให้ค้นหา
อุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ เป็นโบราณสถานที่มีความสำคัญในแง่ของแหล่งโบราณคดีแห่งลุ่มแม่น้ำป่าสัก – ลพบุรี ตั้งอยู่ในเขตอำเภอศรีเทพ จังหวัดเพชรบูรณ์ ห่างจากตัวเมืองประมาณ 130 กิโลเมตร มีพื้นที่ประมาณ 2,889 ไร่ เดิมมีชื่อเรียกว่า “ เมืองอภัยสาลี ” โบราณสถานแห่งนี้เป็นเมืองโบราณที่ปรากฏร่องรอยการอยู่อาศัยและมีอายุไม่ต่ำกว่า 1,000 ปี เนื่องจากลักษณะเป็นเมืองขนาดใหญ่ ประกอบกับทำเลที่ตั้ง ทำให้นักโบราณคดีสันนิษฐานว่าเมืองแห่งนี้น่าจะเป็นชุมทางที่ติดต่อกับอาณาจักรอื่น ๆ ได้สะดวก ทำให้ได้รับอิทธิพลทางด้านศิลปวัฒนธรรม และรูปแบบสถาปัตยกรรมจากอาณาจักรใกล้เคียงมาผสมผสาน อาทิ ศิลปะขอม และศิลปะแบบทวารวดี เป็นต้น โดยคาดว่าเมืองแห่งนี้สร้างขึ้นในยุคที่ขอมเรืองอำนาจ ราวพุทธศตวรรษที่ 11 – 16 จากนั้นถูกทิ้งร้างในช่วงปลายพุทธศตวรรษที่ 18 ซึ่งมีข้อสันนิษฐานว่า อาจเกิดจากปัญหาภัยแร้ง หรือโรคระบาดร้ายแรง ซึ่งยังคงปริศนาอยู่ในปัจจุบัน
อาณาจักรศรีเทพมีลักษณะเป็นคูน้ำและคันดินล้อมรอบ แบ่งออกเป็น 2 ส่วน ประกอบด้วย “ เมืองส่วนใน ” มีพื้นที่ประมาณ 1,300 ไร่ ซึ่งเป็นเมืองที่สร้างขึ้นก่อน มีลักษณะเป็นรูปเกือบกลม ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 1.5 กิโลเมตร ภายในมีสระน้ำ และซากโบราณสถานกระจายอยู่ทั่วบริเวณ และ “ เมืองส่วนนอก ” ซึ่งถูกขยายออกมาภายหลัง มีพื้นที่ 1,589 ไร่ มีลักษณะเป็นสี่เหลี่ยมผืนผ้าเชื่อมต่อกับเมืองส่วนใน ภายในมีซากโบราณสถาน และสระน้ำเช่นเดียวกัน
ภายในอาณาจักรศรีเทพแห่งนี้ปรากฏซากของสถาปัตยกรรมโบราณในหลายจุด ซึ่งได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานตามพระราชกิจจานุเบกษา ในปีพ.ศ. 2506 ประกอบด้วย ปรางค์ศรีเทพ สถาปัตยกรรมในแบบขอม ลักษณะเป็นปรางค์ที่สร้างด้วยศิลาแลงและอิฐ ฐานล่างเป็นบัวลูกฟักก่อด้วยศิลาแลง หันหน้าไปทางทิศตะวันตก ปรางค์สองพี่น้อง มีลักษณะเป็นปรางค์ 2 องค์ตั้งอยู่บนศิลาแลงขนาดใหญ่ หันหน้าไปทางทิศตะวันตก มีประตูทางเข้าเดียว มีทับหลังซึ่งมีจำหลักเป็นรูปพระอิศวรอุ้มนางปารพตี ประทับนั่งเหนือโคอศุภราช แสดงให้เห็นถึงความเชื่อถึงศาสนาพราหมณ์-ฮินดู สันนิษฐานว่าน่าจะสร้างขึ้นในพุทธศตวรรษที่ 16 – 17 ด้วยศิลปะขอมแบบปาปวนต่อนครวัด เขาคลังใน โบราณสถานแบบศิลปะทวารวดี เป็นสิ่งปลูกสร้างรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าและใช้ศิลาแลงเป็นวัสดุหลักในการก่อสร้าง บริเวณฐานมีรูปปั้นของบุคคลและสัตว์ประดับหันหน้าไปทางทิศตะวันออก คาดว่าน่าจะสร้างขึ้นในช่วงพุทธศตวรรษที่ 12 – 13 รวมถึงโบราณสถานที่ตั้งอยู่นอกเมืองอย่างปรางค์ฤๅษี ปรางค์ที่อยู่นอกเมือง ล้อมรอบด้วยป่า และเขาคลังนอก อันมีลักษณะเป็นสถูปขนาดใหญ่ ซึ่งได้รับการสันนิษฐานว่าเป็นมหาสถูปที่มีความสำคัญเทียบเคียงกับเขาคลังใน
นอกเหนือจากโบราณสถานแล้ว ภายในอาณาจักรโบราณนี้ยังมีสถานที่สำคัญที่ผูกพันกับวิถีชีวิตและความเชื่อ นั่นคือ ศาลเจ้าพ่อศรีเทพ ซึ่งอยู่ห่างจากประตูทางเข้าของอุทยานเล็กน้อย เป็นที่เคารพสักการะของชาวบ้านและคนทั่วไป โดยศาลแห่งนี้จะมีการจัดงานบวงสรวงเป็นประจำทุกปีในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ รวมถึงสระแก้วสระขวัญ ซึ่งเป็นสระที่มีน้ำขังตลอดปี และเป็นสระที่เชื่อว่ามีความศักดิ์สิทธิ์ นอกจากนี้ น้ำภายในสระทั้งสองยังได้ถูกนำไปใช้เพื่อทำน้ำพิพัฒน์สัตยามาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ส่วนสถานที่ตั้งของสระนั้น สระแก้วจะอยู่บริเวณนอกเมืองไปทางทิศเหนือ ขณะที่สระขวัญจะอยู่บริเวณเมืองส่วนนอก
เมืองศรีเทพ ได้ถูกสำรวจและบูรณปฏิสังขรณ์สิ่งก่อสร้างต่าง ๆ ให้มีความมั่นคงถาวรโดยกรมศิลปากร ตั้งแต่ปีพ.ศ. 2521 และได้ถูกรับรองให้เป็นอุทยานประวัติศาสตร์มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2527 โดยไม่มีการเปิดอุทยานแห่งนี้อย่างเป็นทางการเป็นระยะเวลาเกือบ ๓๐ ปี กระทั่งในปี พ.ศ. 2555 จึงได้มีการประกาศเปิดอุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพอย่างเป็นทางการ โดยอุทยานแห่งนี้ได้รับรางวัล Thailand Tourism Award ในปี 2543 ถึง 2 รางวัล ได้แก่ รางวัลประเภทแหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมโบราณสถานยอดเยี่ยม และรางวัลสื่อเผยแพร่ทางอินเทอร์เน็ตดีเด่น
การเดินทางมายังอุทยานแห่งชาติศรีเทพ จากกรุงเทพฯ มาตามทางหลวงหมายเลข 21 เมื่อถึงสี่แยกตัดกับทางหลวงหมายเลข 2211 ให้เลี้ยวขวาไปตามถนนหมายเลข 2211 จากนั้นจะเจอป้ายบอกทางเข้าอุทยานและทางไปสถานที่ต่างๆ กรณีที่เดินทางโดยบริการขนส่งสาธารณะ สามารถมาได้โดยรถประจำทาง ทั้งรถธรรมดาและรถปรับอากาศ จากสถานีขนส่งหมอชิต มาลงที่ตลาดอำเภอศรีเทพ จากนั้นต่อรถรับจ้างเพื่อมายังอุทยาน สำหรับการเข้าชม อุทยานเปิดให้เข้าชมทุกวัน ตั้งแต่เวลา 08.00 – 16.30 น. โดยมีอัตราค่าเข้าชม คนไทย 20 บาท ชาวต่างชาติ 100 บาท หากนำรถยนต์เข้าในอุทยานคิด 50 บาทต่อคัน และนักท่องเที่ยวที่เข้าชมเป็นหมู่คณะ สามารถติดต่อเพื่อขอวิทยากรบรรยายได้โดยตรงที่อุทยาน
อาณาจักรโบราณแห่งนี้นอกจากสถานที่สำคัญต่าง ๆ แล้ว ยังเต็มไปด้วยโบราณวัตถุมากมาย รวมถึงจารึก ซึ่งสามารถพบได้ทั้งภาษาบาลี ภาษาสันสกฤต และภาษาปัลลวะ ที่แสดงให้เห็นถึงความเป็นไปในประวัติศาสตร์ของแต่ละช่วงเวลา ซึ่งในปี 2555 กรมศิลปากรได้เสนอชื่อสถานที่แห่งนี้ให้เป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรม แต่เป็นที่น่าเสียดายที่คณะกรรมการมรดกโลก มีมติไม่เห็นชอบ ไม่อย่างนั้นแล้วเราคงได้มีอุทยานแห่งชาติศรีเทพเป็นมรดกโลกลำดับที่ 6 ของประเทศไทย