สามแพร่ง ย่านการค้า 6 แผ่นดิน
เกาะรัตนโกสินทร์ ไม่เคยสร้างความผิดหวังให้กับใครก็ตามที่ต้องการสืบค้นรากความเป็นมาเมืองกรุง เสาะหาร้านของกินอร่อยๆ
โดยกุ๊กฝีมือระดับตำนาน หรือเดิมซึมซับบรรยากาศที่แวดล้อมไปด้วยบ้านโบราณที่ยังมีผู้คนอาศัยจนดูราวกับพิพิธภัณฑ์ที่มีชีวิต ยิ่งไปเดินในย่านที่มีทำเลอยู่ใกล้แนวกำแพงพระบรมหาราชวังมากเท่าไหร่ ก็จะได้สัมผัสถึงความเป็นออริจินัลของเมืองกรุงมากยิ่งขึ้นเท่านั้น
ย่านเก่าที่เคยเป็นที่ตั้งของร้านค้าที่เรียกกันว่า ห้าง มีสินค้านำเข้าจากต่างประเทศเข้ามาวางขายเป็นรุ่นแรกๆ ของเมืองกรุงนั้น จำนวนไม่น้อยอยู่ในละแวกถนนอัษฎางค์ฝั่งตรงกันข้ามกับกระทรวงกลาโหมในปัจจุบันไล่ไปทางแม่น้ำเจ้าพระยา เช่น ในปีพ.ศ. 2419 มีห้างแรมเซเวกฟิลด์ แอนด์ กำปะนี และห้างเอช.อับดุลราฮิม เปิดขึ้นแถวๆ ย่านปากคลองตลาด อีกสามปีถัดมาก็มีห้างแบร์น ฮาร์ต กริมม์ เภสัชกรเยอรมันเปิดตามมาในย่านเดียวกัน
ในราวปี พ.ศ.2422 ระหว่างสมัยรัชกาลที่ 5 เคยมีห้างชื่อเรียกติดปากกันว่า แบดแมน (แฮร์รี เอ. แบดแมน แอนด์ โก) มาเปิดกิจการอยู่แถวมุมกระทรวงมหาดไทย หากมีโอกาสไปเดินดูห้องแถวย่านริมคลองหลอดในวันนี้ แม้ว่าจะไม่มีห้างเก่าแก่เปิดกิจการให้เห็นแล้ว แต่ก็ยังคงปรากฏร่องรอยความรุ่งเรืองทางการค้าสมัยเมื่อร้อยกว่าปีก่อนบนตัวอาคารโบราณให้เห็นกันอยู่บ้าง
ยังมีอีกย่านการค้าที่เคยเจริญรุ่งเรืองมากในสยามยุคแรกๆ เรียกกันว่า ย่านสามแพร่งอยู่ไม่ไกลห่างจากกันนัก เป็นอาณาบริเวณที่ประกอบไปด้วยถนน 3 สาย ซึ่งได้ชื่อตามเจ้านายผู้ครองวังในย่านนี้ 3 วัง คือ วังพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ (แพร่งนรา) วังพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นภูธเรศธำรงศักดิ์ (แพร่งภูธร) วังพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงสรรพสาตรศุภกิจ (แพร่งสรรพศาสตร์)
ย่านสามแพร่งกลายเป็นย่านการค้าที่คึกคักมากที่สุดในระหว่างสมัยรัชกาลที่ 5 ถึงสมัยรัชกาลที่ 6 มีรูปแบบคล้ายๆ กับย่านสยามสแควร์ในยุคนี้ คือเป็นแหล่งรวมห้างร้านมากมาย ทั้งร้านค้าของชาวจีน ร้านทอง ร้านอาหาร ห้างขายสินค้านำเข้าจากโลกตะวันตก รวมไปถึงสถานบันเทิง
แม้ว่าวันนี้ สามแพร่ง จะไม่ได้เป็นศูนย์กลางการค้าหลักของเมืองกรุงเหมือนในอดีต และมีบ้านอาศัยแต่ดั้งเดิมจำนวนมากถูกเพลิงเผาพลาญไปถึง 2 คราในปีพ.ศ.2501 และพ.ศ.2510 แต่ที่นี่ก็ยังเป็นย่านที่แวะเวียนไปเดินเล่นและหาของอร่อยกินได้เรื่อยๆ ไม่มีเบื่อ สถานที่น่าสนใจในบริเวณสามแพร่งนั้นมีหลงเหลือให้ดูไม่มากแล้ว นอกเหนือจากเรือนห้องแถวสองชั้นขนาดเล็กอายุกว่าร้อยปีของผู้คนในย่านนั้นแล้ว อาคารเก่าหลังหนึ่งที่มีความน่าสนใจเป็นพิเศษ ก็คงจะเป็นอาคารสีเขียวหลังคาทรงปั้นหยาประดับด้วยไม้ฉลุลายตามชายคาและเท้าแขนค้ำยันเฉลียงริมถนนแพร่งนรา ซึ่งครั้งหนึ่งเคยเป็นที่ตั้งของวังวรวรรณ ของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ ผู้ทรงมีความสนใจในเรื่องของการนิพนธ์และศิลปะการละครยิ่งนัก และได้ทรงแต่งบทละครร้อง สาวเครือฟ้า ขึ้นโดยใช้เค้าโครงจากละครโอเปร่าเรื่องมาดามบัตเตอร์ฟลาย ก่อนจะนำไปสู่การก่อตั้งโรงละครร้องแห่งแรกในสยามขึ้นในเขตตำหนักของพระองค์โดยใช้ชื่อว่า โรงละครปรีดาลัย (หลังจากกรมพระนราธิปฯ ได้สิ้นพระชนม์แล้วตำหนักที่เคยเป็นโรงละครได้ตกเป็นของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ และมีผู้เช่าต่อไปทำเป็นโรงเรียนตะละภัฏศึกษาอยู่นานจนกระทั่งเลิกกิจการไปตั้งแต่พ.ศ.2538 ปัจจุบันพื้นที่บางส่วนของตัวอาคารได้ใช้ทำเป็นสำนักงานทนายความของคนในสกุลตะละภัฏ)
อาคารเก่าหลังนี้นับเป็นอีกหนึ่งสถาปัตยกรรมอันโดดเด่นในเมืองกรุง ในรูปแบบของ บ้านขนมปังขิง ประดับด้วยลวดลายไม้ลายฉลุและแกะสลัก ซึ่งได้รับอิทธิพลมาจากบ้านสไตล์วิคตอเรียนในประเทศอังกฤษ ซึ่งเคยได้รับความนิยมอย่างมากในหมู่คนมีฐานะในสยามประเทศ ช่วงระหว่างสมัยรัชกาลที่ 4 ถึงรัชกาลที่ 6 นับวันหาดูได้ยากยิ่งขึ้นแล้ว เพราะทำด้วยไม้ จึงพร้อมจะผุพังไปตามกาลเวลาถ้าไม่ได้บำรุงรักษา
อีกมุมหนึ่งในย่านสามแพร่งที่มีบรรยากาศผ่อนคลายเหมาะแก่การกินดื่มเป็นพิเศษ ก็น่าจะเป็นย่านแพร่งภูธรโดยเฉพาะตรงส่วนลานกว้างที่รายรอบด้วยห้องแถวเก่าแก่ยุครัชกาลที่ 5 เรียกได้ว่าในย่านเกาะรัตนโกสินทร์ยุคปัจจุบัน มุมนั่งกลางแจ้งในบรรยากาศสงบเงียบย้อนยุคยามเย็นอย่างแพร่งภูธรนั้นน่าจะหาไม่ได้แล้ว แถมที่นี่ยังเป็นแหล่งรวมร้านอร่อยๆ ฝีมือระดับตำนานอยู่มากมาย อาทิ โชติจิตร โภชนา, ก๋วยเตี๋ยวเนื้อกิมทอง, อุดมโภชนา และไทยทำ เกาเหลามันสมองหมู
สามแพร่งนั้นอยู่ใกล้สถานที่ท่องเที่ยวสำคัญๆ บนเกาะรัตนโกสินทร์ อย่างเช่น เสาชิงช้า ปากคลองตลาด กระทรวงกลาโหม ศาลหลักเมือง และอารามหลวงอีกมากมาย ตามตรอกซอยที่เชื่อมถึงกันล้วนเป็นชุมชนเก่าแก่ระดับร้อยปีขึ้นทั้งนั้น ถ้าชอบเดินซอกแซกก็จะได้สัมผัสได้เห็นวิถีไทยที่น่าสนใจมากมาย ให้เที่ยวชมกันอย่างเพลินใจได้ทั้งวันเลยทีเดียว
สำหรับคนตื่นเช้า ในซอยเทศา ไม่ไกลจากย่านสามแพร่งนัก จะมีตลาดเช้าเล็กๆ เรียกว่า ตลาดตรอกหม้อ (ชุมชนราชบพิธพัฒนา) เป็นตลาดสดที่เปิดขายมานานกว่าครึ่งศตวรรษแล้ว (เปิดประมาณตี 4 และจะวายประมาณ 10-11 โมงเช้า) หากวางแผนมาหาอาหารเช้ากินที่นี่ก่อนออกเดินท่องเกาะรัตนโกสินทร์ ก็นับว่าเป็นไอเดียที่เข้าท่าทีเดียว จะเลือกกินของจุบจิบตามใจชอบ หรือรองท้องด้วยมื้อหนักๆ ที่นี่ก็มีให้เลือกทานอย่างหลากหลาย ร้านอร่อยที่น่าแนะนำกัน ก็ได้แก่ ย้ง กระเพาะปลา, ข้าวหมูแดง สนามหลวง และเชฟก๊อง ข้าวหน้าไก่
ตรงช่วงก่อนออกปากซอยตลาดฝั่งถนนบำรุงเมือง จะมีตรอกเล็กๆ ทางขวามือ เดินลัดไปเจอกับ บำรุงชาติสาสนายาไทย บ้านตึกสไตล์โคโลเนียลที่สร้างในช่วงปลายรัชกาลที่ 6 ซึ่งเคยเป็นบ้านของนายหวาน รอดม่วง แพทย์แผนโบราณผู้มีชีวิตอยู่ในช่วงปีพ.ศ. 2413-2489 เจ้าของตำรับยาหอมสุรามฤทธิ์ บำรุงหัวใจที่เคยได้รับความนิยมอย่างมากในอดีต ปัจจุบันทายาทรุ่นที่ 4 ยังคงเปิดบ้านเป็นร้านจำหน่ายและปรุงยาหอมในรูปแบบกึ่งพิพิธภัณฑ์แสดงข้าวของเครื่องใช้โบราณ เปิดทำการทุกวัน เวลา 9.00 -17.00 น.