นางเลิ้ง จุดเปลี่ยนวิถีการค้าชาวกรุงฯ
กรุงเทพฯ ในอดีตสร้างเคยได้ฉายาว่า เวนิสตะวันออก เพราะมีลำน้ำคูคลองเป็นเส้นทางสัญจรหลัก การตัดขยายเส้นทางคมนาคมในสมัยนั้น คือการขุดคลองเพิ่ม ซึ่งก็เปรียบเสมือนการตัดถนนในปัจจุบันนี้นั่นเอง
ทุกวันนี้มองไปมุมไหนก็จะเห็นรถราวิ่งติดๆ ขัดๆ แออัดไปทั่วจนไม่มีวันจะย้อนคืนกลับไปมีบรรยากาศแห่งความเป็นเวนิสตะวันออกอีกต่อไปแล้ว ฉายาปัจจุบันของกรุงเทพฯ คือเมืองที่รถราติดขัดสาหัสที่สุดในโลกเป็นอันดับ 2 รองจาก เม็กซิโก ซิตี้
ถ้าอยากจะเดินเที่ยวตะลอนๆ ย่านกลางกรุงฯ ไปสำรวจดูจุดเริ่มทางประวัติศาสตร์ที่ทำให้เราค่อยๆ พลิกโฉมมาเป็นเช่นในปัจจุบัน ก็คงต้องไปแถวๆ ตลาดนางเลิ้ง เพราะหน้าประวัติศาสตร์บันทึกไว้ว่า ที่นั่นคือ ตลาดบกแห่งแรกของประเทศไทย ซึ่งเปิดให้มีการค้าขายครั้งแรกเมื่อวันที่ 29 มีนาคม พ.ศ. 2442 ระหว่างสมัยรัชกาลที่ 5 ปัจจุบันตลาดนางเลิ้งมีอายุกว่า 118 ปีแล้ว
พื้นที่ย่านนางเลิ้งนั้นแต่ดั้งเดิมนั้นเรียกกันว่า บ้านสนามควาย เป็นถิ่นพำนักชาวมอญ(รามัญ) ริมคลองผดุงกรุงเกษมฝั่งทิศใต้ ซึ่งส่วนใหญ่มีอาชีพค้าขายตุ่ม ที่เรียกกันตามศัพท์พื้นเมืองว่า อีเลิ้ง
เมื่อมีการขุด คลองผดุงกรุงเกษม เพื่อขยายอาณาเขตของราชธานี ในระหว่างสมัยรัชกาลที่ 4 ก่อนจะมีการตัดถนนเลียบคลองที่เรียกกันว่า ถนนกรุงเกษม ในเวลาต่อมา ก็ได้นำความเจริญมาสู่พื้นที่ริมสองฝั่งคลองขุดใหม่อย่างมากมาย โดยเฉพาะพื้นที่แถบ อีเลิ้ง ซึ่งในยุคที่บ้านเมืองปกครองด้วยนายกชื่อ จอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้มีการปรับชื่อเรียกให้ฟังสุภาพขึ้นเป็น นางเลิ้ง อย่างที่รู้จักกันมาจวบจนวันนี้
การพัฒนาครั้งสำคัญของย่านนางเลิ้งเกิดขึ้นในระหว่างสมัยรัชกาลที่ 5 หลังจากมีการตัดถนนเข้ามาผ่านย่านนางเลิ้งเพิ่มขึ้นอีกหลายสาย พร้อมกับการบูรณะถนนกรุงเกษมเดิมให้มีสภาพดีขึ้น ทำให้การเดินทางมานางเลิ้งสะดวกขึ้นเยอะ จนดึงดูดให้เหล่าบรรดาเจ้านายและข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ นิยมมาสร้างวังและสร้างที่อยู่อาศัยตามแนวคลองผดุงกรุงเกษมกันเพิ่มขึ้น ขณะเดียวกันก็ทำให้ชุมชนและการค้าขายในลำน้ำทยอยย้ายขึ้นมาปักหลักทำกินกันบนบกตามไปด้วย ครั้นกรุงเทพฯ เริ่มมีรถราใช้กันอย่างแพร่หลายยิ่งขึ้น ในที่สุดตลาดค้าขายบนบกแห่งแรกของกรุงเทพฯ ก็ถือกำเนิด ขณะที่ภาพชาวบ้านพายเรือนำของสวนมาขายตามสองฝั่งคลอง ก็ค่อยๆ จางหายไปจากย่านนางเลิ้ง
ช่วงระหว่างพ.ศ.2448-2511 ในยุคที่กรุงเทพฯ ยังมีรถรางใช้ มีรถรางสายรอบเมือง(รถรางสายแดง)
วิ่งให้บริการผ่านตลาดนางเลิ้งด้วย ซึ่งเป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ช่วยยืนยันถึงความรุ่งเรืองของย่านเก่าแห่งนี้ได้เป็นอย่างดี
ถ้ามีโอกาสมาเดินซอกแซกย่านนางเลิ้งในปัจจุบัน ก็ยังพอปรากฏร่องรอยความเฟื่องฟูในอดีตให้ได้สัมผัสอยู่ไม่น้อย แม้ว่าช่วงหลังๆ มานี้จะมีการเปลี่ยนแปลงมากมายที่เข้ามากัดเซาะทำลายความเป็นชุมชนเก่าแก่อย่างไม่หยุดยั้ง ซึ่งลดทอนเสน่ห์และบรรยากาศดีๆ ที่เคยมีไปพอสมควร อย่างไรก็ดีจุดน่าสนอันดับต้นๆ สำหรับการไปเดินเที่ยวชมกัน ก็ยังคงอยู่ในละแวกตลาดเก่า ตั้งแต่อาคารห้องแถวริมถนน ของกินหลากรสในตลาด โรงหนังเก่าแก่ก่อด้วยไม้ ไปจนถึงสถานที่เก็บอัฐิมิตร ชัยบัญชา พระเอกหนังไทยผู้ยิ่งใหญ่ตลอดกาลที่วัดแคนางเลิ้ง(วัดสุนทรธรรมทาน)
สำหรับเส้นทางเดินเที่ยวนั้น ก็เลือกเดินเอาได้ตามใจชอบ แต่ควรเตรียมความรู้พื้นฐานไปแต่พอสังเขปว่า นับตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นต้นมา ได้มีการก่อสร้างอาคารพาณิชย์บริเวณสองฝั่งถนนนครสวรรค์อย่างหนาตามากขึ้น จนนำไปสู่การสร้างตลาดนางเลิ้ง และอาคารพาณิชย์ค้าเครื่องอุปโภคบริโภคที่บางส่วนยังค้าขายมาจวบปัจจุบัน ขณะที่ด้านหลังแนวอาคารพาณิชย์ก็กลายเป็นชุมชนคนหลากเชื้อชาติ และสถานบันเทิง ที่มีทั้งโรงภาพยนตร์ ศาลาเฉลิมธานี (เปิดฉายภาพยนตร์ครั้งแรกในปี พ.ศ. 2461 ก่อนปิดตัวในปีพ.ศ. 2536 รวมระยะเวลาที่ฉายหนังยาวนานถึง 75 ปี) ไปจนถึงซ่องโสเภณีแถวๆ ตรอกสะพานยาววัดแคนางเลิ้ง
ในบริเวณที่รายรอบไม่ไกลจากตัวตลาดมากนัก มุ่งไปทางถนนพิษณุโลก เป็นที่ตั้งของสถานที่เก่าแก่น่าสนใจมากมาย อาทิ โรงพยาบาลมิชชั่น โรงพยาบาลที่เปิดให้บริการมานานนับ 80 ปี , วังนางเลิ้ง ซึ่งภายหลังไปมีการปรับพื้นที่เป็นโรงเรียนพณิชยการพระนคร และคงเหลือไว้แค่เพียง เรือนหมอพร ให้ได้สัมผัสร่องรอยวังเดิมในอดีต
เยื้องๆ กันตรงสามแยกใหญ่อีกฟากฝั่งถนน จะเป็นที่ตั้ง ราชตฤณมัยสมาคม (สนามม้านางเลิ้ง) สโมสรสนามม้าแข่งเพื่อบำรุงพันธุ์ม้า อีกแหล่งบันเทิงเก่าแก่ของชาวกรุงฯ ที่เริ่มเปิดครั้งแรกในสมัยรัชกาลที่ 6
ย้ำกันอีกครั้งว่า ถ้าต้องการมาเดินเที่ยวย่านนางเลิ้งให้ได้รถชาติได้บรรยากาศผ่อนคลาย ก็ควรตั้งต้นด้วยการเติมเสบียงด้วยของอร่อยๆ โดยร้านระดับตำนานในตลาดกันก่อน ไม่ว่าจะเป็น สุวิมล ก๋วยเตี๋ยวลูกชิ้นแคะ, รุ่งเรืองบะหมี่ สูตรจีนฮกเกี้ยน, ข้าวแกงรัตนา, แม่แช่ม ขนมเบื้องไทยเดิม, ป้าหงส์ ขนมไทย, ขนมไทย แม่สมจิตต์, นันทาขนมไทย, ขนมหวานแม่กวา, ก๋วยเตี๋ยวเป็ดพะโล้ ส.สำราญ, ไส้กรอกปลาแนม, แม่ย้ง ขนมเบื้องญวนเจ้าเก่า และ ส.รุ่งโรจน์ เป็ดพะโล้ เป็ดตุ๋น
เลือกเอาสัก 2-3 ร้านที่ถูกปาก จากนั้นก็นั้นก็ค่อยๆ ซอกแซกไปตามตรอกซอยหลังตลาดแบบไม่มีต้องมีสูตรสำเร็จ เดินเล่นชิลล์ๆ แบบไม่มีจุดหมายตายตัว ไม่ว่าจะไปทะลุออกตรงไหน ก็หาทางเดินวนย้อนกลับมาที่เดิมได้ไม่ยาก ถ้าไม่ไปออกทางฝั่งคลองผดุงฯ-ถนนพิษณุโลกให้ซอกแซกไปดูสถานที่สำคัญต่างๆ ที่ว่ามาแล้วนั้น ก็น่าจะต้องไปวนออกทางด้านฝั่งวัดแคนางเลิ้ง-ถนนหลานหลวง ซึ่งก็มีมุมเล็กมุมน้อยให้แวะชมอีกเยอะแยะ อาทิ ตรอกละคร ชุมชนคณะละครชาตรี ลิเก โขน นางรำ และ บ้านนราศิลป์ แหล่งเรียนรู้ศิลปะการรำฟ้อน จากคณะละครที่ก่อตั้งขึ้นมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 6
ย่านเก่านางเลิ้งที่หลงเหลือในปัจจุบัน อาจไม่ได้กว้าง ไม่ได้ใหญ่นัก แต่ก็มีอะไรให้ได้เดินซอกแซกชมกันไปเรื่อยแบบเพลินใจสบายท้อง ได้นานหลายชั่วโมงเลยขอรับ(ประกัน).