ท่าดินแดง ย่านเก่า ของกินอร่อย

หากย่านเยาวราชและท่าน้ำราชวงศ์ได้ชื่อว่าเป็นแหล่งการค้ารุ่งเรืองในยุคต้นๆ ของกรุงรัตนโกสินทร์ ณ อีกฟากฝั่งของลำน้ำเจ้าพระยาด้านตรงข้ามกันที่เรียกกันว่า ย่านท่าดินแดง
ก็ย่อมมีรากเหง้าความเป็นมาอันเก่าแก่ไม่แพ้กัน เพราะอยู่ในอาณาบริเวณที่มีเรือสำเภาเข้ามาเทียบท่ากันอย่างคับคั่งที่สุดในบางกอก
ปัจจุบันไม่มีเรือสำเภาเข้ามาเทียบท่าอีกแล้ว มีเพียงท่าเรือข้ามฟากและทางถนน ซึ่งตามบันทึกในอดีตให้ข้อมูลว่า ถนนท่าดินแดง เป็น “ถนนสายที่ 9” ในโครงการตัดและขยายถนน 11 สายในจังหวัดธนบุรีและจังหวัดพระนคร เริ่มก่อสร้างในปี พ.ศ. 2474 ซึ่งตรงกับรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เพื่อใช้เป็นเส้นทางคมนาคมเชื่อมไปมาระหว่างผู้คน 2 ฝั่งแม่น้ำ ผ่านทางสะพานพระพุทธยอดฟ้า
จุดเริ่มถนนสายที่ 9 นั้นต่อเชื่อมกับถนนสายที่ 4 (ถนนลาดหญ้า) ผ่านถนนสายที่ 3 (ถนนอิสรภาพ) และถนนสายที่ 2 (ถนนสมเด็จเจ้าพระยา) มุ่งตรงไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือจนสุดริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาฝั่งตรงข้ามท่าเรือราชวงศ์ ซึ่งเป็นที่รู้จักกันว่า ย่านท่าดินแดงในปัจจุบัน ซึ่งถ้าว่ากันตามอายุถนนแล้ว ย่านการค้าริมถนนแถวนี้น่าจะมีอายุเก่าแก่ไม่ต่ำกว่า 85 ปีในปัจจุบัน แต่ถ้าเป็นริมน้ำแล้ว ก็น่าจะเก่าแก่เกิน 2 ศตวรรษแน่นอน เพราะแม่น้ำนั้นคือเส้นทางคมนาคมสายหลักของผู้คนแถบนี้มาตั้งแต่สมัยกรุงธนบุรีโน่นเลย

ย่านถนนท่าดินแดงในปัจจุบันได้กิติศัพท์ว่าเป็นถนนแห่งของกินอร่อยๆ ที่มีราคาย่อมเยากว่าทางฝั่งเยาวราช ถ้าตั้งต้นเดินจากสี่แยกท่าดินแดงมุ่งหน้าไปยังท่าน้ำ ก็จะได้พบเจอร้านของกินทั้งหวานคาวตลอดสองฟากถนนให้เลือกกินกันจนพุงกาง ไม่ว่าจะเป็น ข้าวขาหมู, ร้านหมูสะเต๊ะ ร้านอาหารทะเล ร้านก๋วยเตี๋ยว ไปจนถึงร้านของหวานอย่าง ร้านโบ๊กเกี้ย ร้านนมสด ร้านเบเกอรี่ ฯลฯ
ถ้าหันหลังให้ท่าเรือเดินย้อนสี่แยกท่าดินแดงขึ้นไปทางถนนลาดหญ้า ก็ยังมีร้านอร่อยๆ ให้เลือกกินอีกไม่น้อย จะว่าไปแล้วก็มีให้เลือกกินทั้ง 4 ทิศนั่นแหล่ะ แต่ทางไปท่าน้ำจะมีร้านหนาแน่นที่สุด เกือบทั้งหมดฝีมือดีใช้ได้ทั้งนั้นและสนนราคาก็สมเหตุผล เลยไม่อยากระบุชื่อร้านกันชัดๆ เพื่อให้อิสระในการเลือกกินตามใจชอบ เอาเป็นว่า เจอร้านไหนน่ากิน แล้วโต๊ะว่างพอดี ก็จัดได้เลย แบบไม่ต้องลังเลเรื่องรสชาติ
เสร็จธุระสำคัญด้านปากท้องกันแล้วที่นี้ก็ได้เวลาซอกแซกสำรวจดูโน่นดูนี่ในย่านท่าดินแดงกันล่ะ จุดสนใจจุดแรกนั้นอยู่ริมถนนสมเด็จเจ้าพระยามุ่งไปทางคลองสาน ไม่ไกลห่างจากสี่แยกท่าดินแดงนัก เป็นบริเวณที่มีต้นไม้ใหญ่เขียวครึ้มที่สุดในบริเวณนั้นเลยก็ว่าได้ ซึ่งเป็นที่ตั้งของ สถาบันจิตเวชศาสตร์สมเด็จเจ้าพระยา แต่ก่อนเป็นที่คุ้นเคยกันตามภาษาชาวบ้านว่า โรงพยาบาลปากคลองสาน(แต่แรกเดิมสร้างอยู่ติดปากคลองสานในปัจจุบัน) หรือ หลังคาแดง จุดที่น่าสนใจนั้นอยู่ที่ตึกทรงยุโรปเก่าแก่สมัยรัชกาลที่ 5 ซึ่งครั้งหนึ่งเคยเป็นที่พำนักของเจ้าพระยาสุรวงศ์ไวยวัฒน์ (วร บุนนาค) หรือที่เรียกกันว่า เจ้าคุณทหาร ก่อนเสียชีวิตในปีพ.ศ.2431 (กาลต่อมาได้กลายเป็นชื่อเรียกสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง)
อาคารเก่าแก่หลังนี้ได้ถูกใช้เป็นพิพิธภัณฑ์โรงพยาบาลสมเด็จเจ้าพระยาอยู่นานหลายสิบปี เพื่อจัดแสดงเรื่องราวเกี่ยวกับกระบวนการรักษาทางจิตเวชของไทย แต่ปัจจุบันได้มีการปรับปรุงให้เป็นอาคารจัดแสดงนิทรรศการหมุนเวียนในชั้นล่าง โดยยังคงส่วนพิพิธภัณฑ์ไว้บนชั้น 2 โดยในอนาคตอันใกล้นี้อาจมีการเปิดพื้นที่ให้มีความเป็นสวนสาธารณะมากยิ่งขึ้น เพื่อให้ประชาชนทั่วไปสามารถเข้าไปสัมผัสบรรยากาศอันร่มรื่นข้างในได้
ส่วนอีกโซนหนึ่งในย่านท่าดินแดงที่มีบรรยากาศร่มเย็น น่าถวิลหาไม่แพ้กันเลย ก็คือบริเวณท่าเรือข้ามฟาก ริมถนนฝั่งซ้ายมือก่อนจะถึงท่าเรือ จะเป็นที่ตั้งของ ศาลเจ้าซำไนเก็ง ศาลเจ้าเก่าแก่ซึ่งสร้างขึ้นชาวจีนฮกเกี้ยนเมื่อ 170 ปีที่แล้ว(พ.ศ. 2390) หนึ่งในประจักษ์พยานที่บ่งบอกถึงความเก่าแก่ของย่านนี้ จริงๆ แล้วยังมีร่องรอยเก่าแก่ของท่าดินแดงให้สำรวจอีกมากมาย ถ้าเดินลัดเลาะไปตามเส้นทางเดินเลียบแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งทางเขตกทม. ได้สร้างไว้เป็นระยะทางยาวประมาณ 300 เมตรโดยมีจุดเริ่มอยู่ตรงฝั่งซ้ายมือของทางเข้าท่าเรือข้ามฟาก
ในทุกตรอกซอยสมเด็จเจ้าพระยาที่เชื่อมกับทางเดินเลียบแม่น้ำเส้นนี้ จะเป็นที่ตั้งของสิ่งก่อสร้างเก่าแก่และโบราณสถาน ไม่ว่าจะเป็นโกดังสินค้า มัสยิดโบราณ ศาลเจ้า และเก๋งจีนอายุกว่าร้อยปีให้ได้ซอกแซกสำรวจอยู่มากมาย และค่อนข้างปลอดภัยในการเดินเที่ยวชม เพราะข้างในตรอกจะมีร้านค้าเล็กๆ และสถานการศึกษาหลายแห่ง ที่ไม่ทำให้รู้สึกเปลี่ยววังเวงในการเดินเที่ยวชมนัก

ถ้าไม่อยากเดินซอกแซกลัดตรอกระหว่างทาง เลือกเดินเที่ยวตามเส้นทางเลียบแม่น้ำไปเรื่อยๆ ในไม่ช้าก็จะเจอกับกับโรงเกลือเก่าพร้อมกับทางบังคับให้เดินเลี้ยวซ้ายไป เมื่อเดินต่อไปเรื่อยๆ สัก 5-10 นาที ก็จะไปเจอะ สามแยกเล็กๆ ซึ่งถ้าเลี้ยวซ้ายก็สามารถเดินลัดตรอกวนกลับมายังตลาดท่าดินแดงได้ แต่ถ้าเลี้ยวขวาไปอีกแค่ 100 กว่าเมตรก็จะพบกับ อุทยานเฉลิมพระเกียรติสมเด็จประศรีนครินทราบรมราชชนนี พื้นที่สีเขียวจำนวน 4 ไร่ ตรงบริเวณชุมชนหลังวัดอนงคาราม(ซอยสมเด็จเจ้าพระยา 3) ซึ่งสร้างขึ้นสนองกระแสพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ตั้งแต่ พ.ศ.2536 ที่จะให้อนุรักษ์อาคารเก่าในย่านนิวาสสถานเดิมครั้งทรงพระเยาว์ของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ให้เป็น พิพิธภัณฑ์สวนสมเด็จย่า และสวนสาธารณะระดับชุมชน
ในอดีตนับตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 3 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ พื้นที่แห่งนี้เคยเป็นถิ่นพำนักอันสงบสุขของชุมชนหลากหลายเชื้อชาติ อันประกอบไปด้วยชาวไทย จีน มุสลิม และลาว ซึ่งปัจจุบันยังคงเป็นชุมชนเก่าแก่ที่ยังมีชีวิต ยังมีมัสยิดกูวติลอิสลาม (สุเหร่าตึกแดง) ศาลเจ้ากวนอู และเก๋งจีนโบราณให้ได้สัมผัสร่องรอยความเป็นมาในละแวกริมน้ำใกล้ๆ อุทยานฯ เปรียบไม่ต่างอะไรกับพิพิธภัณฑ์ที่ยังมีลมหายใจภายใต้ร่มไม้อันร่มรื่น
ในบริเวณชุมชน ยังคงหลงเหลืออาคารบ้านเรือนเก่าแก่อายุไม่น้อยกว่า 50-60 ปี ให้ดูอีกไม่น้อย และเกือบทั้งหมดยังมีผู้อาศัย ไม่ได้ถูกปล่อยทิ้งร้าง นับเป็นอีกย่านเก่าที่ควรค่าแก่การหาโอกาสแวะเวียนไปเดินต๊อกๆ สักครั้ง เพื่อดื่มด่ำกลิ่นอายบรรยากาศอันน่าถวิลหาย่านกลางกรุงฯ ซึ่งกำลังเลือนหายไปกับคลื่นความเจริญอย่างรวดเร็ว.