ยลวัดโบราณย่านจอมทอง ของดีบนฝั่งธนฯ

กรุงเทพฯ ในยุคที่อุดมไปด้วยตึกสูงระฟ้ามากมาย สิ่งที่คนส่วนใหญ่ยังจะพอสัมผัสได้ถึงความแตกต่างเวลาข้ามมายังฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา
คือบรรยากาศโล่งสบายตาในย่านฝั่งธนบุรี แม้ว่าจะมีตึกคอนโดใหม่ๆ ผุดขึ้นมาให้เห็นบ้าง แต่ก็ยังไม่ถึงกับทำลายบรรยากาศและจิตวิญญาณความเป็นฝั่งธนฯ ไปสักเท่าไรนัก เพราะยังคงมีอาคารพาณิชย์ 2 ชั้นและเรือนแถวไม้ให้เห็นอยู่มากมาย
คนรุ่นใหม่อาจจะไม่ค่อยรู้สึกถึงความต่างระหว่างฝั่งพระนคร-ฝั่งธนบุรีเหมือนอย่างคนสมัยเมื่อสัก 40-50 ปีก่อน เพราะนับตั้งแต่ปี พ.ศ.2514 เป็นต้นมา จังหวัดธนบุรีได้ถูกผนวกเข้ากับจังหวัดพระนคร กลายเป็น นครหลวงกรุงเทพธนบุรี ก่อนจะปรับเปลี่ยนชื่อเรียกเป็น กรุงเทพมหานคร ในอีกปีถัดมา ซึ่งก็ไม่ได้ทำให้พื้นที่ฝั่งธนฯ ดูกลมกลืนไปกับความเป็นกรุงเทพฯ ได้สักเท่าไหร่นัก เพราะวันนี้ยังคงมีย่านเก่าแก่อีกมากมายบนฝั่งธนฯ ที่ยังคงรากเหง้าความเป็นชุมชนดั้งเดิม สามารถสืบย้อนที่มากลับไปได้ถึงสมัยปลายกรุงศรีอยุธยา หรือช่วงก่อนหน้าพระเจ้าตากสินจะประกาศเอกราชแล้วสถาปนา กรุงธนบุรีศรีมหาสมุทร ขึ้นในปีพ.ศ.2310 กันเลยทีเดียว
ร่องรอยมากมายที่ยังหลงเหลือให้เห็นในวันนี้ ปรากฏอยู่ตามวัดวาอารามเก่าแก่ริมคูคลองที่โครงสร้างเดิมยังไม่ได้แปรเปลี่ยนไปตามยุคสมัยมากนัก เว้นเสียแต่บรรยากาศวิถีชีวิตบ้านสวนริมคลองแต่เก่าก่อนที่วันนี้ได้กลายสภาพไปเป็นตึกเป็นบ้านจัดสรรกันจนหมดสิ้นแล้ว
ย่านหนึ่งในฝั่งธนฯ ที่อยากแนะนำให้ลองไปเดินซอกแซกสูดกลิ่นอายกันในช่วงวันหยุดนี้นั้น เป็นส่วนหนึ่งของเขตจอมทองอันอุดมไปด้วยวัดเก่าแก่ 3-4 แห่งเกาะกลุ่มอยู่ใกล้ๆ กัน ท่ามกลางบรรยากาศชายน้ำอันร่มรื่น ใช้เวลาเดินเที่ยวชมกันแบบสบายๆ สักประมาณ 1-2 ชั่วโมงกำลังดี
จุดเริ่มต้นเส้นทางนั้นอยู่ตรงบริเวณปากซอยวุฒากาศ 42 ถนนวุฒากาศ แขวงบางค้อ ซึ่งเป็นปากทางเข้าวัดหนังราชวรวิหาร เมื่อเดินเข้าซอยไปราว 50 เมตร ก็จะพบกับแนวรั้ววัดนางนองวรวิหาร อยู่ทางฟากซ้ายมือ ขณะที่เบื้องหน้าเป็นสะพานข้ามคลองด่าน มองเห็นอุโบสถวัดหนังฯ อยู่อีกฟากฝั่งน้ำ แนะนำว่าให้เดินข้ามสะพานไปชมวัดหนังฯ กันก่อน แล้วค่อยวนกลับมาชมวัดนางนองฯ ซึ่งอยู่ปลายทางตอนขากลับ

วัดหนังฯ นั้นเคยเป็นวัดเก่าแก่ถึงสมัยอยุธยาก่อนจะถูกทิ้งร้างอยู่นาน กระทั่งสมเด็จพระศรีสุลาลัย พระบรมราชชนนีในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงสถาปนาวัดขึ้นใหม่ทั้งพระอาราม โดยคงแบบฉบับความเป็นวัดไทยเอาไว้หลายส่วนทั้งพระอุโบสถและพระปรางค์ จนดูแตกต่างออกไปจากวัดแบบไทยผสมจีนตามแบบพระราชนิยมของรัชกาลที่ 3 ความเป็นจีนที่พอเห็นเด่นชัดที่สุด จึงมีเพียงแค่ตุ๊กตาอับเฉาหรือหินแกะสลักรูปนักรบจีนประดับอยู่ 1 คู่ให้เห็นภายในบริเวณลานวัดเท่านั้นเอง
อีกจุดน่าสนใจที่น่าแวะเข้าไปเยี่ยมชม ได้แก่ พิพิธภัณฑ์เพื่อการศึกษาวัดหนังราชวรวิหาร ตรงท้ายวัด แหล่งจัดแสดงข้าวของเครื่องใช้โบราณมากมาย พร้อมด้วยบรรยากาศจำลองสภาพบ้านเรือนของคนพื้นถิ่นฝั่งธนฯ แต่ก่อนเดิม (ต้องติดต่อขออนุญาตล่วงหน้าผ่านทางเบอร์โทรศัพท์ 02-875-4405) เมื่อออกจากประตูพิพิธภัณฑ์แล้วเลี้ยวขวา ก็จะพบประตูเข้า-ออกวัดอีกด้านหนึ่ง เมื่อเดินตรงไปตามถนนในซอยวุฒากาศ 42 เบื้องหน้าสักราว 20 เมตร ก็จะพบกับบ่อเต่าและตะพาบน้ำเก่าแก่ของวัดอยู่ทางฟากซ้ายมือ มีลักษณะเป็นบ่อปูนทรงกลมเส้นผ่าศูนย์กลางราว 10 เมตร น้ำเขียวครึ้มเต็มไปด้วยตะไคร่ ดูไม่ค่อยสะอาดนัก แต่ก็ยังมีภาพน่ารักๆ ของลูกเต่าตัวน้อยให้เห็น โดยเฉพาะในเวลาที่มันนอนอย่างสบายอุราบนกระดองอันใหญ่โตโอฬารของแม่
เดินจากบ่อเต่าไปตามถนนในซอยเรื่อยๆ เพียงแค่ไม่กี่อึดใจ ก็จะพบกับประตูทางเข้า วัดศาลาครืน อดีตวัดร้างเก่าแก่ในสมัยกรุงศรีอยุธยาที่ได้รับการบูรณะปฏิสังขรณ์ในสมัยรัชกาลที่ 3 อีกแห่งในย่านนี้ ปัจจุบันเป็นที่ประดิษฐานขององค์ หลวงพ่อสี่เข่า ซึ่งที่เป็นที่รู้จักกันดีในแวดวงเซียนพระเครื่อง แต่ดูเหมือนว่าจุดที่น่าสนใจเป็นพิเศษของวัดนี้ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมานี้ น่าจะเป็น ที่ทำการตำรวจชุมชน หรือป้อมตำรวจหลังคาทรงจั่วทางด้านซ้ายหลังประตูทางเข้าวัด ซึ่งเลื่องลือกันว่าเป็นป้อมผีดุ เพราะดัดแปลงจากศาลาวัดเก่าแถมยังอยู่ในบริเวณที่เคยเป็นป่าช้า เลยเป็นที่มาของตำนานน่ากลัวสารพัด จนเจ้าหน้าที่ไม่กล้าเข้ามาใช้งานเพียงลำพังแม้กระทั่งในช่วงกลางวัน (แต่จากการสอบถามชาวบ้านใกล้เคียงในบริเวณนั้นด้วยตนเอง ก็ได้พบความจริงในอีกด้านว่า ปัจจุบันป้อมตำรวจแห่งนี้ไม่มีตำรวจประจำการ มีเพียงสายตรวจที่แวะเวียนเข้ามาบ้างในเวลากลางวันเท่านั้น ที่น่าสนใจก็คือ ยังคงมีตำรวจบางนายที่ใช้ป้อมแห่งนี้เป็นที่ค้างแรมอยู่เป็นประจำทุกคืน เหมือนไม่ได้หวาดกลัวผีหลอกตามคำร่ำลือเลย)

วัดศาลาครืนนั้นมีทำเลอยู่ริมคลองบางหว้า เมื่อเดินเข้าไปในบริเวณลานกว้างท้ายวัดก็จะเห็นสะพานเก่าแก่เล็กๆ ที่มีรถมอเตอร์ไซค์วิ่งผ่านไปมาเกือบตลอดเวลา เมื่อเดินชมวัดศาลาครืนจนหนำใจแล้ว ให้เดินข้ามสะพานไปยังอีกฝั่งแล้วเลี้ยวซ้ายตรงเชิงสะพาน เดินเลียบไปตามถนนเลียบคลองสักประมาณ 5-10 นาที ก็จะเริ่มมองเห็นกลุ่มอาคารเรียนของโรงเรียนวัดราชโอรสอยู่เบื้องหน้าไกลๆ ให้เดินตรงต่อไปเรื่อยๆ จนเกือบสุดทาง จะพบกับแยกซอยเล็กๆ ทางขวามือบังคับให้เดินเลี้ยวไปตามแนวกำแพงโรงเรียน เดินต๊อกๆ ต่อไปอีกเพียงแค่ไม่กี่อึดใจจนถึงบริเวณประตูทางเข้าโรงเรียน ก็จะพบกับ วัดราชโอรสารามราชวิหาร อยู่ตรงบริเวณด้านขวามือ ซึ่งนับว่าเป็นไฮไลท์ที่น่าสนใจที่สุดบนเส้นทางซอกแซกนี้
วัดราชโอรสฯ นั้น เคยเป็นวัดราษฎร์ที่มีชื่อว่า วัดจอมทอง ในสมัยกรุงศรีอยุธยา ต่อมาได้รับการปฏิสังขรณ์ขึ้นเป็นอารามหลวงในระหว่างสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยรัชกาลที่ 2 และได้รับนามพระราชทานใหม่ว่า วัดราชโอรส ซึ่งก็หมายถึง สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ (พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๓) นั่นเอง
ไม่ผิดนักถ้าจะกล่าวว่า วัดราชโอรสฯ นั้น เป็นวัดไทยที่ตกแต่งด้วยศิลปะจีนได้อย่างงดงามที่สุดแห่งหนึ่งในย่านฝั่งธนฯ พระอุโบสถที่นี่จึงดูแปลกตาเพราะปราศจากช่อฟ้าใบระกา และที่น่าสนใจเป็นพิเศษก็เห็นจะเป็นตุ๊กตานายทวารบาลที่ทำด้วยกระเบื้องเคลือบขนาดใหญ่ ลายประดับตกแต่ง และจิตรกรรมฝาผนังลายจีนข้างใน ซึ่งยังคงสภาพไว้อย่างชัดเจนสวยงาม
จากวัดราชโอรสฯ เราสามารถมองเห็นวัดนางนองฯ ตั้งอยู่อีกฟากฝั่งน้ำหลังแนวเรือนแถวริมคลองด่าน เมื่อเสร็จจากการเที่ยวชมศิลปะในวัดราชโอรสฯ แล้วอยากจะข้ามน้ำไปชมวัดอีกฝั่ง หนทางที่สะดวกและรวดเร็วที่สุด คือ เดินข้ามสะพานทางรถไฟที่เห็นโดดเด่นอยู่ทางฝั่งขวามือ เมื่อดูให้แน่ใจแล้วว่าไม่มีขบวนรถไฟกำลังวิ่งผ่านมา ก็ให้รีบข้ามแล้วเดินตามทางรถไฟไปอีกแค่ไม่ถึง 10 นาที ก็จะเจอกับจุดตัดตรงถนนวุฒากาศ เลี้ยวซ้ายแล้วเดินไปอีกนิดเดียวก็เจอประตูทางเข้าวัดนางนองฯ อีกสถานที่น่าสนใจ ปิดท้ายเส้นทางเดินซอกแซกย่านฝั่งธนฯ ในหนนี้.