คากาโบราซี ยอดเขาหิมะที่สูงที่สุดในอาเซียน
คากาโบราซี ยอดเขาหิมะที่สูงที่สุดในอาเซียน
หากเอ่ยถึงยอดเขาที่มีหิมะปกคลุมตลอดทั้งปี หลายคนคงนึกไปถึงประเทศในแถบยุโรป หรือหลังคาโลกอย่างทิเบต น้อยคนนักที่จะนึกถึงเทือกเขาที่อยู่ในประเทศอย่างเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
เพราะจะติดภาพการมีภูมิอากาศแบบร้อนชื้นหรือเขตร้อน แต่แท้จริงแล้วประเทศในอาเซียนก็มียอดเขาแบบดังกล่าวเช่นกัน อย่าง “คากาโบราซี” ยอดเขาสูงทางตอนเหนือของประเทศพม่าที่มีดีกรีเป็นยอดเขาที่สูงที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งทุกวันนี้ยังคงเป็นสถานที่ Unseen สำหรับอีกหลาย ๆ คน
คากาโบราซี (Hkakabo Razi) เป็นยอดเขาสูงที่มีหิมะปกคลุมตลอดทั้งปี รวมถึงมีธารน้ำแข็งใกล้กับบริเวณดังกล่าว ด้วยความสูง 5,881 เมตร จากระดับน้ำทะเลปานกลาง ถือว่าเป็นยอดเขาที่มีความสูงมากที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เลยทีเดียว โดยยอดเขาแห่งนี้ตั้งอยู่ในเขตจังหวัดปูเตา (Putao) จังหวัดทางตอนเหนือของรัฐคะฉิ่น (Kachin) ในประเทศพม่า สำหรับยอดเขาคากาโบราซีนี้เป็นส่วนหนึ่งของเทือกเขาหิมาลัยทางด้านตะวันออก ที่กั้นพรมแดนระหว่างรัฐคะฉิ่นของประเทศพม่ากับมณฑลหยุนหนาน (Yunan) ของประเทศจีน เป็นเหตุให้นักภูมิศาสตร์บางส่วนไม่นับว่ายอดเขาแห่งนี้เป็นยอดเขาที่สูงที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เนื่องจากถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของเทือกเขาหิมาลัย ซึ่งมีพื้นที่ส่วนใหญ่อยู่ในเอเชียใต้ โดยแย้งว่ายอดเขาปุนจักจายา (Puncak Jaya) แห่งอินโดนีเซียควรจะได้ชื่อว่าเป็นยอดเขาที่สูงที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มากกว่า
สำหรับการจัดอันดับยอดเขาในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สามารถเรียงลำดับความสูงของยอดเขาได้ดังนี้ คากาโบราซี ประเทศพม่า 5,881 เมตร ถัดมาเป็นปุนจักจายา 5,030 เมตร ตรีโกรา 4,751 เมตร และมันดาลา 4,701 เมตร ที่อยู่ในเขตประเทศอินโดนีเซีย และสถานที่ปีนเขายอดนิยมอย่างคินาบาลู ประเทศมาเลเซียที่ 4,094 เมตร
ผู้ที่พิชิตยอดเขาคากาโบราซีเป็นคนแรกตามการบันทึกไว้ คือชาวญี่ปุ่นนามว่า ทาคาชิ โอซากิ (Takashi Ozaki) และชาวพม่านามว่า นูมา โจเสน (Nyima Gyaltsen) เมื่อวันที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2539 โดยใช้เวลาในการพิชิตยอดเขาแห่งนี้ประมาณ 30 วัน วัดความสูงได้ที่ 5,881 เมตร ซึ่งหลังจากนั้นได้มีนักปีนเขาอีกหลายกลุ่มที่พยายามขึ้นมาให้ถึงบริเวณยอดซึ่งส่วนใหญ่ไม่สามารถทำสำเร็จได้ เนื่องจากเส้นทางการเดินทางเต็มไปด้วยอันตรายและความยากลำบาก ที่จะต้องฝ่าป่าดงดิบที่อุดมไปด้วยพืช และสัตว์ป่าที่รอการสำรวจ รวมถึงต้องปีนป่ายยอดหินแหลมคมขึ้นไป ที่แม้แต่ทีมนักสำรวจที่เกิดจากความร่วมมือระหว่าง The North Face กับ National Geographic ยังต้องยอมแพ้ที่ระดับความสูงประมาณ 5,742 เมตร ทว่าในปี พ.ศ. 2557 นั้น มีรายงานว่า กลุ่มตะบะว่า ข่อตั่น ซึ่งเป็นกลุ่มนักศึกษาสมาคมปีนเขาจากมหาวิทยาลัยย่างกุ้ง ได้กลายเป็นนักปีนเขาพม่ากลุ่มแรกที่สามารถพิชิตยอดเขาคากาโบราซีได้ โดยใช้เวลา 30 วัน และได้นำธงชาติพม่าปักไว้บนยอดเขา พร้อมกับนำพระพุทธรูปประดิษฐานไว้บนยอดเขาด้วย
คากาโบราซี เป็นชื่อที่มาจากภาษาทะรอง (Taron) และภาษาราวัน (Rawan) โดยคำว่า “คากาโบ” เป็นภาษาทะรองมีความหมายว่า แม่ไก่ที่คอยปกป้องลูกน้อย ซึ่งเป็นการตั้งชื่อตามลักษณะการทอดตัวของเทือกเขาลูกนี้ ส่วนคำว่า “ราซี” เป็นภาษาราวันมีความหมายว่า “ภูเขา”
ในปีพ.ศ. 2541 รัฐบาลพม่าได้ประกาศให้บริเวณโดยรอบยอดเขาคากาโบราซี เป็นอุทยานแห่งชาติคากาโบราซี สำหรับโปรแกรมการท่องเที่ยวที่นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่นิยมเมื่อเดินทางมายังเมืองปูเตา ได้แก่ การชมผีเสื้อกล้วยไม้ หรือดูนก บริเวณเชิงเขา และเดินป่าเพื่อขึ้นไปชมทะเลสาบบนเทือกเขาหิมาลัย ซึ่งน้อยคนนักที่จะปีนพิชิตยอดเขาที่อยู่สูงสุดอย่างคากาโบราซี และเนื่องจากคากาโบราซี เป็นจุดพรมแดนระหว่างพม่าและจีน ซึ่งเป็นเขตพื้นที่ยุทธศาสตร์ ทำให้รัฐบาลพม่า จัดให้บริเวณยอดเขาดังกล่าวเป็นเขตการท่องเที่ยวประเภท P ซึ่งหมายถึง สถานที่ท่องเที่ยวพิเศษซึ่งอยู่ในเขตชายแดน โดยการมาท่องเที่ยวในพื้นที่นี้จะต้องมีบริษัททัวร์ทำหน้าที่จัดการขอวีซ่าแบบพิเศษ และต้องมีมัคคุเทศก์ติดตามในระหว่างการท่องเที่ยวด้วย
การเดินทางมายังยอดเขาแห่งนี้จัดว่าค่อนข้างทรหด เนื่องจากหากเดินทางจากย่างกุ้งจะต้องนั่งรถบัสโดยสารไปยังเมืองพุกาม และต่อเรือล่องไปตามแม่น้ำอิรวดีสู่เมืองมัณฑะเลย์ แต่หากเดินทางจากมัณฑะเลย์ต้องต่อรถไฟเพื่อไปยังเมืองปูเตา จากนั้นนั่งรถจักรยานยนต์ต่อไปจนไม่สามารถไปต่อได้ แล้วจึงเดินเท้าเข้าป่าดิบชื้นไปอีก 243 กิโลเมตรเพื่อไปถึงเชิงเขาคากาโบราซี ทำให้แม้วันนี้จะมีเครื่องไม้เครื่องมือที่ใช้เพื่อช่วยในการปีนเขามากมาย ทว่ากลับไม่มีใครที่จะสามารถปีนขึ้นไปพิชิตยอดเขาสูงแห่งพม่านี้เพิ่มได้เลย แต่ถึงอย่างนั้นเหล่านักท่องเที่ยว และนักปีนเขาจากทั่วทุกมุมโลกต่างก็อยากที่จะมาชื่นชมความสวยงามที่น่าพิศวง และสัมผัสเศษเสี้ยวของความทรหดในการพิชิตยอดเขาแห่งนี้ดูสักครั้ง แม้ขั้นตอนในการเดินทางและขออนุญาตจะยุ่งยาก ก็ไม่ใช่สาเหตุที่นักผจญภัยจะหยุดคิดเดินทางมายังดินแดน Unseen in Myanmar แห่งนี้