“เลม่อนโกล์ด” มะนาวแปรรูปเพิ่มมูลค่า
ประเทศไทยขึ้นชื่อเรื่องการเป็นดินแดนแห่งเกษตรกรรม ด้วยพื้นที่และปัจจัยแวดล้อมทุกอย่างที่เอื้ออำนวย ทำให้มีผลผลิตมากมายที่ออกมาสู่ตลาด จนบางครั้งก็มีมากจนล้นเกินความต้องการ แม้ว่าจะมีการส่งออกไปจำหน่ายยังต่างประเทศแล้วก็ตาม
แปรรูปมะนาวสร้างธุรกิจใหม่
วิวัฒน์ ในฐานะ กรรมการผู้จัดการ หจก. เลท่อนโกล์ด (แอล.เอ็ม.จี.) บอกถึงที่มาที่ไปของไอเดียในการสร้างธุรกิจว่า แบรนด์ เลม่อนโกลด์ คือการแปรรูปมะนาว ซึ่งเดิมทีตนเองเป็นผู้ที่ประกอบธุรกิจการค้ามะนาวมาก่อน แต่เมื่อถึงเวลาหนึ่งเมื่อผลผลิตมะนาวออกมาจำนวนมากจนเกินความต้องการของตลาด ทำให้ราคามะนาวตกต่ำตามอุปสงค์และอุปทานของตลาด ซึ่งเป็นกลไกลตามปกติของการค้าขาย
ทั้งนี้ จากเหตุการณ์ดังกล่าวที่เกิดขึ้นส่งผลให้เกษตรบางส่วนถึงกับนำผลผลิตมะนาวไปทิ้ง เพราะไม่มีความต้องการจากตลาดแม้จะเก็บไว้ก็คงจะต้องเน่าเสีย เมื่อเหตุการณ์เป็นเช่นนั้น ตนจึงพยายามหาวิธีเพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับมะนาว โดยวิธีที่น่าจะเหมาะสมที่สุดก็คือการแปรรูป ซึ่งสามารถทำให้ผลผลิตมะนาวสดแบบลูกมีมูลค่า และตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคได้
“ตนเริ่มจดทะเบียนก่อตั้งเป็นบริษัทเมื่อปี 2553 หลังจากที่การแปรรูปมะนาวเป็นไปได้ด้วยดี จากการพลิกวิกฤติในครั้งนั้นให้กลายเป็นโอกาส จากน้ำมะนาวสด ตนได้มีการต่อยอดผลิตภัณฑ์ออกไปเพื่อขยายตลาด และเพิ่มจำนวนฐานลูกค้า เช่น น้ำมะนาวพร้อมดื่ม เป็นต้น”
ต่อยอดสู่ถ่านชีวมวล
วิวัฒน์ บอกต่อไปว่า กลยุทธ์ในการเพิ่มรายได้ และขยายฐานลูกค้าของบริษัทปีนี้ จะมุ่งเน้นที่การดำเนินการแปรรูปมะนาวแบบครบวงจร เพื่อเป็นการฉีกหนีตลาดจากคู่แข่งขัน ซึ่งเดิมทีในช่วงที่เริ่มต้นทำธุรกิจดังกล่าวนี้ยังมีผู้ประกอบการไม่มากนักที่เข้ามาทำตลาด โดยผลิตภัณฑ์ในลำดับถัดไปของบริษัทคาดว่าจะเป็นการทำถ่านชีวมวลเพื่อส่งจำหน่ายให้กับโรงงานอุตสากกรรมที่ต้องการ
ทั้งนี้ ผลิตภัณฑ์ดังกล่าวนี้จะเป็นนำเปลือกมะนาวมาตากแห้ง ก่อนที่จะนำไปเข้าสู่กระบวนการเผาและอัดเป็นแท่งจนกลายเป็นถ่าน โดยขั้นตอนล่าสุดกำลังอยู่ระหว่างการวิจัยและพัฒนา (R&D) การให้พลังงานความร้อนจากถ่าน ซึ่งคาดว่าจะสามารถนำผลิตภัณฑ์เข้าทำตลาดได้ภายในปีนี้
นอกจากนี้ บริษัทยังมองไปถึงตลาดส่งออกไปยังต่างประเทศ โดยคาดว่าน่าจะเริ่มต้นที่ประเทศดูไบเป็นลำดับแรก เนื่องจากเดิมทีที่บริษัทยังดำเนินธุรกิจในรูปแบบของการส่งออกมะนาวรูปแบบลูก มีการทำตลาดอยู่แล้วที่ประเทศดังกล่าว ซึ่งขณะนี้บริษัทกำลังอยู่ระหว่างขั้นตอนการศึกษาข้อกฎหมาย และช่องทางในการเข้าไปทำตลาดที่เหมาะสมกับผลิตภัณฑ์มากที่สุด หลังจากนั้นก็จะขยายตลาดไปสู่ประเทศอื่นในลำดับต่อไป โดยมีดูไบเป็นโมเดลต้นแบบในการทำตลาดส่งออก
สร้างโรงงานขยายตลาด
วิวัฒน์ บอกต่อไปอีกว่า ปัจจุบันบริษัทกำลังดำเนินการลงทุนเพื่อก่อสร้างโรงงานเพื่อรองรับการขยายตลาดดังกล่าว ซึ่งคาดว่าจะต้องใช้ปริมาณน้ำมะนาวเพิ่มมากขึ้น และเครื่องจักรเพื่อให้ผลิตได้ทันตามออเดอร์ของลูกค้า โดยปัจจุบันบริษัทมีการรับซื้อมะนาวประมาณ 3-10 ตันต่อวัน หรือประมาณ 400-500 ตันต่อปี ซึ่งจะสามารถนำมาคั้นเป็นน้ำมะนาวสดได้ประมาณ 100-200 ตันต่อปี เพื่อจำหน่ายให้กับลูกค้า
“กลุ่มลูกค้าของบริษัทส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มของร้านอาหารที่กรุงเทพมหานคร และการรับจ้างผลิต (OEM) เพื่อให้ผู้ประกอบการรายอื่นนำไปสร้างแบรนด์ เพื่อทำตลาดต่อโดยในความคิดเห็นส่วนตัวเชื่อว่าตลาด ดังกล่าวนี้ยังสามารถเติบโตได้อีกมาก เพราะมีปริมาณความต้องการจากลูกค้าที่เพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่องทั้งในประเทศ และต่างประเทศ”
อย่างไรก็ดี จากกลยุทธ์ในการทำตลาดดังกล่าวเชื่อว่าจะทำให้ยอดรายได้ของบริษัทเพิ่มขึ้นประมาณ 10-20% จากปีที่ผ่านมา ซึ่งบริษัทมีรายได้อยู่ที่ประมาณ 10 กว่าล้านบาท โดยจุดเด่นของผลิตภัณฑ์ภายใต้การผลิตของบริษัทนั้น อยู่ที่การมีทำเลที่ตั้งของโรงงานผลิตอยู่ที่แหล่งปลูกมะนาวจากเกษตรกรโดยตรง ทำให้บริษัทสามารถควบคุมราคาในการผลิตไม่ให้เกิดการสวิงตัวได้ อีกทั้งยังเป็นน้ำมะนาวสดแท้แบบ 100% ที่ไม่มีการผสมสารเพื่อยืดอายุของผลิตภัณฑ์
วิวัฒน์ ปิดท้ายว่า ตนไม่เชี่ยวชาญเรื่องการทำตลาด เพราะฉะนั้นการขยายตลาดในแต่ละขั้นตอนจึงต้องใช้เวลาในการศึกษาหาข้อมูลพอสมควร เพื่อพิจารณาทุกอย่างอย่างรอบด้าน แม้ว่าจะทำธุรกิจนี้มาแล้วกว่า 10 ปี แต่ทุกอย่างก็จะต้องดำเนินการอย่างรอบครอบ.