“KANITA” เครื่องหนังเอกลักษณ์แห่งขนมไทย
ความคิดสร้างสรรค์คืออาวุธทางธุรกิจที่มีอานุภาพ และประสิทธิภาพอย่างมากทางการตลาด เนื่องจากผู้บริโภคยุคใหม่ต่างก็ให้ความสำคัญกับการเลือกซื้อผลิตภัณฑ์กันมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งผลิตภัณฑ์ที่มีความแปลกใหม่ แต่สามารถนำมาใช้งานได้จริงในชีวิตประจำวัน สามารถอัพรูปโชว์บนโลกโซเชี่ยลเนตเวิร์ก และสร้างความแปลกตาให้กับผู้ที่ได้พบเห็นด้วยความมีเอกลักษณ์
“คณิตา คนิยมเวคิน” สาวสวยมากความสามารถ ซึ่งมีไอเดียความคิดสร้างสรรค์โดยหยิบจับความเป็นเอกลักษณ์ในแบบฉบับรูปลักษณ์ของขนมไทย มาผสมผสานเข้ากับงานประดิษฐ์เครื่องหนัง ซึ่งตัวเธอคุ้นชินในละแวกที่ทำงานได้อย่างลงตัว จนกลายเป็นผลิตภัณฑ์สุด “ว้าว” ที่สามารถ Startup ธุรกิจให้กับตัวเธอเองได้ภายใต้แบนรนด์ “KANITA” ซึ่งไม่ว่าผู้ใดได้พบเห็นเป็นต้องสะดุดตา และอดที่จะเข้าไปชื่นชมไม่ได้
จุดเริ่มต้นธุรกิจ
คณิตา ในฐานะกรรมการและผู้ออกแบบผลิตภัณฑ์ บริษัท ดูคัมทีม จำกัด บอกถึงที่มาที่ไปแห่งจุดเริ่มต้นประกายไอเดียในการทำธุรกิจครั้งนี้ ว่า เกิดขึ้นตั้งแต่สมัยที่ตัวเธอยังทำงานออฟฟิตเป็นมนุษย์เงินเดือนธรรมดาตามปกติเหมือนกับผู้คนส่วนใหญ่ โดยที่ออฟฟิตของตัวเธออยู่ติดกับย่านที่ขายอุปกรณ์เกี่ยวกับเครื่องหนัง ซึ่งตัวเธอจะต้องเดินผ่านทุกวันเวลาที่พักไปรับประทานอาหาร จนกลายเป็นการซึมซับเข้ามาสู่ตัวเธอโดยไม่รู้ตัว และชักนำตัวเธอให้ทดลองซื้ออุปกรณ์และเศษหนังมาทำเป็นสิ่งประดิษฐ์ที่ตัวเธอมีความคิดที่จะรังสรรค์ขึ้น
ทั้งนี้ ของประดิษฐ์ที่ตัวเธอสร้างสรรค์ขึ้นมาจะเป็นของขวัญ หรือของชำร่วยซึ่งเป็นงานทำมือ หรือแฮนด์เมด (Handmand) ที่ตัวเธอมักจะนำมาแลกกับเพื่อนในเทศกาลปีใหม่ หรือโอกาสพิเศษ โดยผู้ที่ได้รับของดังกล่าวเหล่านั้นไปก็มักจะชื่นชอบ
เมื่อเริ่มทำไปเรื่อยๆตัวเธอเองก็เริ่มสนุกกับสิ่งที่ทำเพิ่มมากขึ้น โดยเริ่มทำเป็นพวงกุญแจจากเศษหนัง และปกสมุดที่สามารถออกแบบได้ตามความต้องการของลูกค้า หรือออแกไนซ์ ซึ่งเป็นการแฮนด์เมดที่จะตอกชื่อของลูกค้าลงไปบนปกของสมุด โดยเป็นผลิตภัณฑ์ที่ขายดีเป็นอย่างมาก ซึ่งในระหว่างนั้นตัวเธอเองได้ทำงานอดิเรกดังกล่าวนี้ควบคู่ไปกับงานประจำ
อย่างไรก็ตาม ในที่สุดตัวเธอเองก็ตัดสินใจที่จะลาออกจากการทำงานประจำมาทำธุรกิจเป็นของตนเองแบบเต็มตัว โดยเลือกที่จะสร้างคอนเซ็ปป์เพื่อสร้างแบรนด์ของตนเอง ประกอบกับที่ช่วงเวลานั้นมีโครงการประกวดงานหนึ่ง ซึ่งทำให้ตัวเธอตัดสินใจคิดคอนเซ็ปป์ผลิตภัณฑ์ของตัวเธอให้เป็นเครื่องหนังที่มีรูปลักษณ์แบบขนมไทย โดยตั้งใจให้มีความเป็นไทย เพื่อสร้างเอกลักษณ์ให้กับแบรนด์
“หลังจากที่เข้าร่วมโครงการจนได้รับรางวัล Demark จากการออกแบบ และได้มีการออกบูธแสดงสินค้าตามงานต่างๆ ทำให้ผลิตภัณฑ์แบรนด์ KANITA เริ่มเป็นที่รู้จักเพิ่มมากขึ้น และมีการนำไปวางจำหน่ายตามสถานที่ต่างๆในระยะเวลาต่อมา”
เพิ่มความหลากหลายให้ผลิตภัณฑ์
คณิตา บอกต่อไปอีกว่า ช่องทางการทำตลาดของแบรนด์จะเป็นการนำผลิตภัณฑ์ไปฝากจำหน่ายตามสถานที่ต่างๆ ประกอบด้วย หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ,มิวเซียมสยาม (Museum Siam) ,โครงการล้ง 1919 (LHONG 1919) ,โครงการช่างชุ่ย (ChangChui) และล่าสุดที่ร้านเถ้าแก่น้อยแลนด์ (Taokaenoi Land) สาขาเซ็นเตอร์พ้อยท์ ขณะที่หากเป็นพื้นที่นอกเขตกรุงเทพมหานครจะมีจำหน่ายที่ซีนสเปซ หัวหิน (Seenspace Huahin) นอกจากนี้ยังมีช่องทางด้านออนไลน์ทั้งเฟสบุ๊ก (Kanitaleather) และอินสตราแกรม หรือไอจี (IG : imkanita)
นอกจากนี้ยังมีการออกบูธตามงานแสดงสินค้าต่างๆ เช่น บ้านและสวนแฟร์ และงานที่เกี่ยวกับงานดีไซน์ เป็นต้น อย่างไรก็ดี แผนการทำตลาดในอนาคตแบรนด์ยังมองไปถึงช่องทางในการนำผลิตภัณฑ์ไปจำหน่ายที่ต่างประเทศด้วย โดยมีลูกค้าจากประเทศญี่ปุ่นให้ความสนใจเป็นอย่างมาก จากการที่แบรนด์ได้ไปออกงานแสดงสินค้าตามงานต่างๆที่จัดขึ้น
สำหรับกลยุทธ์ในการทำตลาดเพื่อขยายฐานลูกค้าของแบรนด์ในระยะต่อไป จะมุ่งเน้นการทำผลิตภัณฑ์ หรือการออกแบบให้มีความหลากหลายมากยิ่งขึ้น รวมถึงการเปิดศูนย์จำหน่ายผลิตภัณฑ์ หรือช็อปที่รวบรวมผลิตภัณฑ์ของแบรนด์มาไว้ในที่แห่งเดียว เพื่อความสะดวกสบายในการหาซื้อผลิตภัณฑ์ของผู้บริโภค
ไม่หยุดสร้างไอเดีย
คณิตา บอกอีกว่า กลุ่มลูกค้าของแบรนด์จะแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่ 1.คนไทยที่ซื้อผลิตภัณฑ์ไปใช้งานเอง หรือซื้อเพื่อนำไปเป็นของขวัญ และ2.กลุ่มลูกค้าชาวต่างชาติ โดยจุดเด่นของผลิตภัณฑ์ภายใต้แบรนด์ “KANITA” นั้น อยู่ที่การเป็นงานศิลปะที่สามารถนำมาใช้งานได้จริง ซึ่งมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว โดยมีการจดสิทธิบัตรอย่างถูกต้อง และที่สำคัญเป็นงานแฮนด์เมดที่มีเอกลักษณ์ของความเป็นไทย
“รายได้ของแบรนด์จะมีขึ้นและลงตามระยะเวลา หรือสถาณการณ์ทางเศรษฐกิจ โดยหากเป็นช่วงเทศกาลก็จะมีลูกค้าให้ความสนใจสั่งทำผลิตภัณฑ์ไปนำไปเป็นของขวัญ หรือของชำร่วยระดับพรีเมี่ยมเป็นจำนวนมาก ซึ่งปีนี้เศรษฐกิจค่อนข้างดี ดังนั้น จึงเชื่อว่ารายได้ของบริษัทน่าจะสามารถทำได้ถึงหลักล้านบาท”
ด้านหลักคิดในการทำธุรกิจให้ประสบความสำเร็จนั้น แบรนด์จะพยายามคิดหาไอเดียอยู่ตลอดเวลาเรื่องของการดีไซน์ พร้อมทั้งคำนึงถึงการใช้งารนของลูกค้าที่จะต้องใช้งานได้จริง อีกทั้งยังมองไปถึงแนวโน้มในระยะข้างหน้าด้วยว่าผลิตภัณฑ์ที่ออกมาควรจะเป็นรูปแบบใดที่จะเหมาะสม หรือจะกล่าวก็คือการไม่หยุดที่จะคิด หรือสร้างสรรค์ เพราะตนมองว่าหากหยุดก็จะมีผู้ที่ทำตาม หรือมีผลิตภัณฑ์ที่คลายคลึงกันออกมาจำหน่าย เพื่อแย่งส่วนแบ่งทางการตลาดของแบรนด์ได้
“การทำธุรกิจจะต้องไม่หยุดคิดที่จะสร้างสรรค์ เพราะโลกของธุรกิจสามารถเกิดคู่แข่งขันได้ตลอดเวลา หากเราไม่ก้าวเดินต่อก็อาจจะถูกตามทัน ดังนั้น แบนด์จึงพยายามที่จะออกแบบผลิตภัณฑ์ให้มีความหลากหลาย โดยเน้นเรื่องของการดีไซน์ ซึ่งจะต้องทำควบคู่ไปกับการคำนึงถึงประโยชน์ในการใช้งานได้จริงของผู้บริโภค และจะต้องมองแนวโน้มในอนาคตให้ออกว่าผลิตภัณฑ์รูปแบบใดจะเป็นที่ต้องการของกลุ่มผู้บริโภค”