“บราวนี่ เฮ้าส์ ดิ ออริจินัล” เสิร์ฟความสุขสู่ผู้บริโภค
ขึ้นชื่อว่าขนมไม่ว่าจะเป็นใคร มีอายุเท่าไหร่ทุกคนล้วนแล้วแต่ชื่นชอบ โดยเฉพาะขนมประเภทเบเกอรี่ ซึ่งจะเห็นได้จากร้านขนมประเภทดังกล่าวที่เปิดให้บริการกันอยู่ทุกมุมเมือง รวมถึงในห้างสรรพสินค้า และตลาดนัดทั่วไป โดยถือเป็นอาชีพในฝันของใครหลายคนเลยทีเดียว
“ไพศาล วงศ์นิศากุล” เด็กหนุ่มผู้รักอิสระในการทำงาน คือหนึ่งในผู้ประกอบการที่ก้าวเข้ามาอยู่ในตลาดการแข่งขันของธุรกิจประเภทเบเกอรี่ แม้ว่าตนเองจะไม่ใช่ผู้ที่ร่ำเรียนมาทางด้านนี้โดยตรง แต่ก็สามารถขวนขวายหาสูตรของขนมที่ลงตัวของตนเองจน Startup ธุรกิจขึ้นมาได้
–จุดเริ่มต้นธุรกิจ
ไพศาล ในฐานะกรรมการผู้จัดการ บริษัท ไพศาล ฟู้ด จำกัด บอกถึงที่มาที่ไปในการทำธุรกิจว่า ตนเองเป็นคนที่มีนิสัยรักความอิสระ และตั้งแต่จบการศึกษาทางด้านเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มาก็ไม่เคยทำงานประจำแบบจริงจัง อย่างมากสุดก็เคยเป็นเด็กฝึกงานที่บริษัทเกี่ยวกับพลังงานแห่งหนึ่ง เมื่อจบการศึกษามาก็เริ่มทำธุรกิจส่วนตัวเลย โดยทำอาชีพเป็นออแกไนซ์ และขายครีมเป็นช่วงระยะเวลาสั้นๆ หลังจากนั้นจึงมาทำอาชีพขายบราวนี่ ซึ่งเป็นสูตรของเพื่อนแม่ที่อร่อย ตนจึงตัดสินใจรับมาขายต่อตามตลาดนัดบนทำเลย่านออฟฟิศ
เมื่อทำไปได้สักระยะหนึ่งตนจึงเริ่มมีแนวคิดที่จะสร้างแบรนด์เป็นของตนเอง โดยได้สูตรมาจากครอบครัวที่อยู่ต่างประเทศ เมื่อฐานลูกค้ามีเพิ่มมากขึ้นและเริ่มติดรสชาติแล้ว โดยที่ตนเริ่มขยายตลาดมาสู่ช่องทางออนไลน์ผ่านเฟสบุ๊ก (Facebook) และมีการจัดส่งผ่าทางไปรษณีย์ ซึ่งมีผู้ที่ติดตามและเข้ามากดไลค์ (Like) มากถึง 2-3 หมื่นไลค์ ตนจึงต้องการเพิ่มความหลากหลายของผลิตภัณฑ์ โดยทดลองนำบราวนี่ไปอบกรอบ และให้ลูกค้าได้ลองรับประทาน และจำหน่าย
“ตนถือว่าเป็นเจ้าแรกๆที่ทำบราวนี่อบกรอบ และเป็นเจ้าแรกๆที่ใช้ชื่อว่าเป็นบราวนี่แครกเกอร์ในตลาด โดยมีจุดเด่นที่ความกรอบ และความบางของบราวนี่ โดยใช้ชื่อแบรนด์ว่า บราวนี่ เฮ้าส์ ดิ ออริจินัล (Brownie House The Original)”
–ผนึกพันธมิตรพร้อมต่อยอดตลาด ตปท.
ไพศาล บอกต่อไปอีกว่า กลยุทธ์การทำตลาดปีนี้ของบริษัทนั้น ได้มีการร่วมมือเป็นพันธมิตรทางธุรกิจเพื่อผลิตขนม (OEM) ให้กับร้านกาแฟคาเฟ่ อเมซอน (Café Amazon) ได้นำไปจำหน่ายภายในร้าน โดยล่าสุดได้มีการเพิ่มเติมพันธมิตรทางธุรกิจร่วมกับร้านกาแฟอินทนิล (Inthanin Coffee) ในลักษณะของการทำ OEM เช่นเดียวกัน และจะเริ่มวางจำหน่ายในสาขาทั่วประเทศเร็วๆนี้
ส่วนของแบรนด์ “บราวนี่ เฮ้าส์ ดิ ออริจินัล” เองได้มีการทำตลาดไปยังต่างประเทศ ประกอบด้วย ประเทศจีน, มาเลเซีย, สิงคโปร์ และกำลังเตรียมขยายกำลังการผลิตเพื่อนำผลิตภัณฑ์ส่งไปจำหน่ายที่ประเทศเกาหลี และเวียดนามเพิ่มเติมในปี 62 โดยปัจจุบันอยู่ในระกว่างขั้นตอนของการเจรจาทางธุรกิจ
สำหรับช่องทางการจำหน่ายเดิมของแบรนด์จะอยู่ที่ ท็อปส์ มาร์เก็ต (Tops market), บิ๊กซีที่โซนเบเกอรี่, ร้านจิฟฟี่ (Jiffy), ทรู คอฟฟี่ (True Coffee), ซีเจ เอ็กซ์เพรส (CJ Express) และร้านหนังสือ B2S อีกทั้งยังได้เป็นขนมที่จัดเสิรฟ์ในโรงภาพยนตร์ชั้นฮันนีมูน ซีท (Honeymoon seat) ของเมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ (Major Cineplex) โดยเป็นรูปแบบของบราวนี่สด
–เป้ารายได้ 30 ล้านบาทปี 61
ไพศาล บอกต่อไปอีกว่า จากกลยุทธ์การทำตลาดดังกล่าวเชื่อว่าจะทำให้บริษัทมีรายได้อยู่ที่ประมาณ 30 ล้านบาทในปีนี้ ซึ่งใกล้เคียงกับในปีที่ผ่านมาและจะเติบโตเพิ่มมากขึ้นในปี 62 ตามการขยายที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยจุดเด่นของแบรนด์ “บราวนี่ เฮ้าส์ ดิ ออริจินัล” อยู่ที่รสชาติอร่อย และคุณภาพที่คงที่ เน้นสร้างผลกำไรน้อย โดยเอาใจใส่ทั้งผู้บริโภคที่ซื้อไปรับประทาน และผู้ที่รับไปจำหน่ายต่อสามารถสร้างกำไรได้โดยง่าย โดยปัจจุบันแบรนด์ “บราวนี่ เฮ้าส์ ดิ ออริจินัล” มีผลิตภัณฑ์ทั้งที่เป็นรูปแบบบราวนี่สด และอบกรอบ
“ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลาง และขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) หรือเอสเอ็มอีเดเวลลอปเม้นท์แบงก์ (SME Development Bank) มีส่วนช่วยสนับสนุนธุรกิจทั้งในเรื่องของสภาพคล่อง รวมถึงการให้รู้ทางด้านการบริหารจัดการการเงิน การวางระบบงบบริหาร การลงบัญชีรายรับ-รายจ่าย และการบริหารจัดการเงินทุน และยังช่วยประชาสัมพันธ์แบรนด์ให้เป็นที่รู้จักในกลุ่มของผู้บริโภคมากยิ่งขึ้น”
ไพศาล บอกอีกว่า ปัจจุบันบริษัทมุ่งเน้นการสร้างองค์กร และพัฒนาบุคลากรให้พึ่งพากันด้วยความพอเพียง โดยมีการปันผลหุ้นกำไรให้กับพนักงานบริษัท มีการวางนโยบายให้เป็นโรงงานสีชมพู หรือเรียกว่าโรงงานแห่งความรัก เพื่อสร้างรากฐานภายในองค์กรให้แข็งแกร่ง และเหนียวแน่น โดยให้มีกระบวนการทำงานที่ไม่ย่อหย่อน และให้รู้จักวิธีการแก้ปัญหา เพื่อให้ธุรกิจสามารถเติบโตได้อย่างยั่งยืน
ด้านหลักคิดในการทำธุรกิจให้ประสบความสำเร็จนั้น ตนมองว่าอยู่ที่การศึกษาแบบอย่างจากผู้ใหญ่ ไม่คิดขัดแย้งหรือมั่นใจในตัวเองมากจนเกินไปโดยที่ไม่ดูข้อมูล และวิเคราะห์จากความเป็นจริง นอกจากนี้จะต้องนึกถึงประโยชน์ที่เกิดขึ้นกับสังคม ซึ่งเชื่อว่าหลักคิดดังกล่าวเหล่านี้จะส่งผลให้ธุรกิจสามารถยั่งยืนไปได้เอง
“เรามีการวัดผลโรงงานด้วยการช่วยการช่วยเกษตรผู้ปลูกต้นโกก้าว่าในแต่ละปีทางโรงงานได้ใช้โกโก้ไปกี่ต้นต่อปี ยกตัวอย่างเช่น ในปีที่ผ่านมาทางโรงงานมีการใช้โกโก้ประมาณ 5,142 ต้น หรือเฉลี่ยแล้วต่อเดือนประมาณ 428 ต้น จากการที่โรงงานใช้วัตถุดิบโกโก้ประมาณ 3,000 กิโลกรัมต่อเดือน โดยที่โรงงานจะนำผลโกโก้เหล่านั้นมาแปรรูปให้เป็นช็อกโกแลตที่มีคุณภาพ ซึ่งเรื่องดังกล่าวนี้ยังช่วยให้พนักงานของเรามีความภาคภูมิใจในการทำงาน โดยที่ในอนาคตบริษัทจะมีผลิตภัณฑ์ที่เป็นช็อกโกแลตมากยิ่งขึ้น”.
ไพศาล วงศ์นิศากุล : บจก.ไพศาลฟูดส์ 089-485-8228