“เค.เอ็ม.แพ็กเกจจิ้ง” ชูนวัตกรรมเพื่อสิ่งแวดล้อม
การเริ่มต้นธุรกิจว่ายากแล้ว แต่การรักษาธุรกิจให้สามารถดำรงอยูและเติบโตได้อย่างสม่ำเสมอและยั่งยืนอาจจะเป็นเรื่องที่ยากกว่า เพราะพฤติกรรมของผู้บริโภคมีการเปลี่ยนแปลงไปอยู่ตลอดเวลา ไหนจะคู่แข่งที่ตบเท้ากันเข้ามาแย่งชิงส่วนแบ่งทางการตลาดกันอย่างมากกมาย หากธุรกิจไม่มีการปรับตัวเพื่อตอบโจทย์สมการแห่งการเปลี่ยนแปลงนี้ ก็คงจะเดินหน้าต่อไปข้างหน้าได้ยาก
บริษัท เค.เอ็ม.แพ็กเกจจิ้ง จำกัด คือบริษัทที่มองไปข้างหน้า เล็งเห็นถึงแนวโน้มความต้องการของตลาดในอนาคตที่เปลี่ยนแปลง จนนำมาสู่การปรับเปลี่ยนแนวทางในการทำธุรกิจในแต่ละยุค จากรุ่นคุณปู่สู่รุ่นคุณพ่อ จนมาถึงยุคของ “จิตธิดา กมลสุวรรณ” ซึ่งถือว่าเป็นเจเนอเรชั่นที่ 3 ก็ได้มีการยกระดับธุรกิจขึ้นมาอีกขั้น เพื่อต่อยอดธุรกิจ และนำเสนอสิ่งที่ดีที่สุดให้กับลูกค้า
-จากรุ่นสู่รุ่น
จิตธิดา ในฐานะ ผู้ช่วยรองกรรมการผู้จัดการ สายงานขายและการตลาด บริษัท เค.เอ็ม.แพ็กเกจจิ้ง จำกัด ผู้ผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์บรรจุสินค้าจากกระดาษ (Packaging) บอกถึงที่มาที่ไปของการทำธุรกิจว่า เริ่มต้นมาตั้งแต่ยุคของคุณปู่ของเธอ ซึ่งในตอนนั้นได้ดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับโรงพิมพ์ ภายใต้ชื่อ “โรงพิมพ์นิยมช่าง” แต่พอมาถึงยุคของคุณพ่อ ได้มีการปรับเปลี่ยนรูปแบบในการทำธุรกิจไปสู่รูปแบบของการพิมพ์งานบนกล่อง หรือสลาก เพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับโรงพิมพ์ธรรมดาให้ยกระดับมากขึ้น
หลังจากนั้นจึงเริ่มผลิตถ้วยที่ทำจากกระดาษเคลือบพลาสติก (PE) ซึ่งในเวลานั้นถือว่าเป็นเจ้าแรกของประเทศไทย จากเดิมที่ในตลาดจะมีเพียงแค่ถ้วยกระดาษที่นำมาชุบด้วยเทียน โดยแยกออกมาก่อตั้งเป็นบริษัท เค.เอ็ม.แพ็กเกจจิ้ง จำกัด เพื่อดำเนินธุรกิจดังกล่าว ซึ่งประเทศไทยในช่วงนั้นเริ่มมีแบรนด์สินค้าอาหารระดับโลกจากต่างประเทศเข้ามาทำตลาด ในยุคที่ห้างสรรพสินค้ามาบุญครองกำลังบูมอย่างมาก โดยแบรนด์เหล่านั้นต่างก็ได้นำเทคโนโลยีของบรรจุภัณฑ์แบบใช้แล้วทิ้งเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของการให้บริการด้วย
บริษัท เค.เอ็ม. เองจึงต้องมีการพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อตอบโจทย์ความต้องการเหล่านั้น โดยลูกค้าส่วนใหญ่ของบริษัทจะดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับอาหารแบบฟาสฟู้ดทั้งจากในและต่างประเทศ ซึ่งสิ่งที่ลูกค้ากลุ่มนี้ต้องการก็คือการลดต้นทุนในเรื่องของการล้างทำคามสะอาด ทำให้บรรจุภัณฑ์แบบใช้แล้วทิ้งเริ่มเข้ามามีบทบาทมากขึ้นในตลาด จากที่มีเพียงแค่ถ้วยใส่น้ำก็เริ่มแตกไลน์ไปสู่บรรจุภัณฑ์รูปแบบอื่นอีกหลากหลาย
-ต่อยอดธุรกิจ
จิตธิดา บอกต่อไปอีกว่าลูกค้าของบริษัทจะมีทั้งที่เป็นบริษัทชื่อดังขนาดใหญ่ของทั้งในและต่างประเทศ รวมไปถึงลูกค้าขนาดกลาง และขนาดเล็ก ซึ่งมีการเติบโตเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ดี ในยุคที่ตัวเธอเข้ามาช่วยดูแลธุรกิจของครอบครัวนี้ ได้เล็งเห็นถึงแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงของพฤติกรรมผู้บริโภคเกี่ยวกับการให้ความสำคัญกับสุขภาพ รวมถึงสิ่งแวดล้อม และการใช้ชีวิตที่เร่งรีบ ต้องการความสะดวกสบายมากขึ้น ตัวเธอจึงเลือกนำเสนอผลิตภัณฑ์รูปแบบใหม่ 2 ประเภท เพื่อขยายฐานลูกค้า และตอบสนองความต้องการของตลาดดังกล่าว ได้แก่
1. ผลิตกระดาษ wave ซึ่งเป็นการนำกระดาษที่เคลือบด้วยสารพิเศษที่พัฒนาโดยทีมงานจากประเทศสหรัฐอเมริกา ผลิตภัณฑ์ดังกล่าวสามารถทำให้กระดาษทนความร้อนได้ถึง 100 องศา หรือนำเข้าใช้งานกับไมโครเวฟได้ โดยบริษัทเป็นรายเดียวในเอเชียที่ได้สิทธิ์ในการจำหน่าย ซึ่งผลิตภัณฑ์ดังกล่าวบริษัทมุ่งเน้นเจาะตลาดผู้ให้บริการเกี่ยวกับอาหารเดลิเวอร์รี่ หรือกลุ่มของอาหารประเภทจานด่วน หรือฟาสฟู้ด สำหรับลูกค้าที่ซื้อกลับไปรับประทานที่บ้าน โดยสามารถอุ่นรับประทานได้ทันที เนื่องจากไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภคยุคใหม่ต้องการความสะดวกรวดเร็วในการใช้ชีวิต ดังนั้น แพคเกจจิ้งดังกล่าวนี้จะเข้ามามีบทบาทมากขึ้นในตลาดบรรจุภัณฑ์
2. ผลิตภัณฑ์กระดาษที่สามารถย่อยสลายได้ โดยเป็นการพัฒนาร่วมกับ PTTMCC เรียกว่า BIOPBS ซึ่งนำน้ำตาลมาสั่งเคราะห์ให้เป็นฟิล์มพลาสติกเคลือบบนกระดาษ ทำให้กระดาษไม่มีส่วนผสมของเป็นพลาสติกที่ผลิตขึ้นมาจากสารตั้งต้นเอทิลีน ซึ่งเป็นผลผลิตจากปิโตรเลียม (Polyethylene) และสามารถย่อยสลายได้ภายใน 180 วัน ด้วยกระบวนการฝังกลบในดิน นอกจากนี้ ยังมีผลิตภัณฑ์ที่เรียกว่า PLASTIC FREE ซึ่งเป็นกระดาษที่บริษัทพัฒนาร่วมกับเยอรมัน โดยสารที่นำมาเคลือบกระดาษจะไม่มีส่วนผสมของพลาสติกเจอปนแต่อย่างใด
“ กระดาษที่ใช้ทำถ้วยในปัจจุบันในตลาดที่ใช้กันอยู่ในชีวิตประจำวัน จะเป็นกระดาษที่เคลือบด้วยพลาสติกที่เรียกว่า Polyethylene ซึ่งกว่าจะย่อยสลายได้ตามธรรมชาติจะต้องใช้ระยะเวลายาวนานถึง 5 ปี ”
จิตธิดา บอกอีกว่า ผลิตภัณฑ์กระดาษย่อยสลายได้จะมุ่งเน้นเจาะกลุ่มลูกค้าที่ให้ใส่ใจในเรื่องของสุขภาพ และสิ่งแวดล้อม โดยอาจจะเป็นร้านอาหารที่เกี่ยวกับสุขภาพ เช่น อาหารฟิวชั่น หรือออแกนิก และผู้บริโภคที่ต้องการใช้ผลิตภัณฑ์ที่ดูแลรักษาโลก เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีผู้ประกอบการรายใหม่ที่ต้องการสร้างความน่าสนใจให้กับผลิตภัณฑ์ ซึ่งปัจจุบันบริษัทได้ดำเนินกลยุทธ์ทางการตลาดด้วยการนำเสนอผลิตภัณฑ์ทางเลือกทั้ง 2 ชนิด ให้กับฐานลูกค้าเดิมของบริษัทที่ส่วนใหญ่จะเป็นบริษัทขนาดใหญ่ระดับประเทศ และระดับโลกแล้ว โดยทั้งหมดให้ความสนใจ และมีแนวโน้มที่จะปรับเปลี่ยนรูปแบบแพคเกจจิ้งมาสู่รูปแบบดังกล่าว เพื่อตอบรับกับกระแสของโลก ซึ่งอาจจะนำไปใช้กับสินค้าเดิม หรือสินค้าใหม่ที่จะออกสู่ตลาดในอนาคต
-พัฒนารูปแบบให้หลากหลาย
อย่างไรก็ดี ขณะนี้ผลิตภัณฑ์ทั้ง 2 ชนิดยังเป็นแบบลักษณะถ้วยเท่านั้นที่บริษัทนำเสนอออกสู่ตลาด แต่ในอนาคตบริษัทจะมีการต่อยอดทำแพคเกจจิ้งให้มีความหลากหลายมากขึ้น เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้ามากขึ้น ทำให้หลากหลาย ซึ่งแนวโน้มของตลาดยังสามารถโตได้อีกมาก โดยเฉพาะในต่างประเทศที่จะให้ความสนใจกับเรื่องดังกล่าว ไม่ว่าจะเป็นการคัดแยกขยะ การให้ความรู้ประชาชน ทำให้ประชาชนเกิดความต้องการในการใช้ แต่ในประเทศไทยยังคงก้ำกึ่ง แต่ก็เริ่มมีกระแสการเติบโตที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
“ กระแสตอบรับจากลูกค้าเป็นไปได้ด้วยดี ทั้งจากในและต่างประเทศ โดยเฉพาะต่างประเทศที่ส่วนใหญ่ปัจจุบันหันมาให้ความสนใจเรื่องของผลิตภัณฑ์เพื่อสิ่งแวดล้อม โดยบางประเทศมีนโยบายเลิกใช้พลาสติกไปเลย นอกจากนี้ บริษัทขนาดใหญ่จะมีนโยบายในการทำธุรกิจแบบยั่งยืน ซึ่งจะให้ความสำคัญกับสังคม และสิ่งแวดล้อม ดังนั้น บริษัทจึงต้องหาวัตถุดิบที่จะมาทดแทนกระดาษที่สามารถใส่สินค้าได้ ทั้งของเปียกหรือมัน โดยผลิตภัณฑ์ดังกล่าวจะตอบโจทย์และก็สามารถย่อยสลายได้ ”
จิตธิดา บอกอีกว่า จากกลยุทธ์ในการทำตลาดดังกล่าวเชื่อว่าจะทำให้รายได้ของบริษัทเติบโตขึ้นได้ประมาณ 10-20% ในปี 62 และจะเติบโตขึ้นอย่างมากในอีก 5 ปีข้างหน้า จากแนวโน้มความต้องการของตลาดโลก โดยในปีนี้จะเป็นการสร้างการรับรู้ รวมถึงให้ความรู้กับผู้ประกอบการ และผู้บริโภคว่าบริษัทมีผลิตภัณฑ์ดังกล่าวออกมาเป็นทางเลือกให้ได้ใช้งาน โดยในปี 60 ที่ผ่านมาบริษัทมียอดรายได้รวมอยู่ที่ 700 ล้านบาท
ด้านหลักคิดในการทำธุรกิจนั้น จะมุ่งเน้นการใช้ความจริงใจและใส่ใจกับลูกค้าเป็นหลัก โดยใช้ตนเองซึ่งเป็นผู้บริโภครายหนึ่งในตลาดที่ต้องใช้ผลิตภัณฑ์เหล่านี้ในการใช้ชีวิตประจำวันเป็นบรรทัดฐานในการนำเสนอรายละเอียด รวมถึงรายละเอียดไปจนถึงขั้นตอนการผลิตด้วยความใส่ใจให้กับลูกค้า.