“ปลายจวัก” ปลาร้าพลาสเจอร์ไรซ์ต่อยอดธุรกิจขยายตลาด
ปลาร้าถือว่าเป็นอาหารขึ้นชื่อของประเทศไทย ที่มีกลิ่นและรสชาติอันเป็นเอกลักษณ์ ไม่ว่าผู้บริโภคจากชนชาติใด หรือแม้แต่ผู้บริโภคชาวไทยที่ได้ชิมต่างก็ต้องยกนิ้วให้ถึงความอร่อย และด้วยเทคโนโลยีในปัจจุบันที่ก้าวหน้าขึ้นอย่างมาก ทำให้ผลิตภัณฑ์อย่างปลาร้าแบบดั้งเดิมถูกแปรรูปให้กลายเป็นผลิตภัณฑ์ที่สามารถส่งจำหน่ายได้ทั้งในประเทศ และเพื่อการส่งออก
บริษัท เนทีฟฟู้ด จำกัด คือหนึ่งในผู้ประกอบการที่ขึ้นชื่อเรื่องของการเป็นโรงงานผลิต และหมักปลาร้ามาอย่างยาวนาน โดยล่าสุดได้ดำเนินการนำนวัตกรรมมาเพิ่มมูลค่าให้กับผลิตภัณฑ์ พร้อม Startup ธุรกิจใหม่ต่อยอดธุรกิจของครอบครัวภายใต้แบรนด์ “ปลายจวัก”
–ต่อยอดธุรกิจครอบครัว
เนตรดาว ขันดวง เจ้าของกิจการ ปลาร้าพลาสเตจอร์ไรซ์แบรนด์ “ปลายจวัก” ภายใต้บริษัท เนทีฟฟู้ด จำกัด บอกถึงที่มาที่ไปของธุรกิจว่า มาจากการต่อยอดธุรกิจของครอบครัว ซึ่งดำเนินการเกี่ยวกับโรงหมักปลาร้ามากว่า 40 ปี ในขณะที่ตนเองก็อยู่วงการของอาหาร ทำให้มองเห็นช่องทางในการทำตลาดจากผลิตภัณฑ์ดั้งเดิมอย่างปลาร้า โดยนำมาทำให้ถูกสุขลักษณะ เพื่อเปลี่ยนภาพลักษณ์ของปลาร้าในสายตาของผู้บริโภค หลังจากที่มีกระแสข่าวว่าปลาร้าเป็นอาหารที่ไม่ถูกสุขลักษณะเท่าใดนัก
รูปแบบที่บริษัทเลือกใช้คือการผลิตและบรรจุด้วยความร้อนประมาณ 90 องศาเซลเซียส หรือกระบวนการพลาสเจอร์ไรซ์ ซึ่งทำให้ผลิตภัณฑ์มีอายุยานานอยู่ได้ถึง 2 ปี โดยใช้ชื่อแบรนด์ว่า “ปลายจวัก” ซึ่งเริ่มต้นทำธุรกิจใหม่นี้ในช่วงปลายปี 2560 โดยมุ่งหวังจะขยายฐานลูกค้า และเพิ่มช่องทางในการทำตลาดทั้งใน และต่างประเทศ
ทั้งนี้ แบรนด์ “ปลายจวัก” เริ่มต้นทำตลาดที่ตลาดนัดคลองผดุงกรุงเกษมเป็นแห่งแรก และจำหน่ายผ่านหน้าเพจเฟสบุ๊ก โดยได้รับการตอบรับที่ดีจากผู้บริโภค และได้รับความนิยมจนมียอดออเดอร์เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยปัจจุบันกำลังที่จะนำผลิตภัณฑ์เข้าไปวางจำหน่ายห้างบิ๊กซี และอยู่ในขั้นตอนของการเจรจาธุรกิจกับเซเว่นอีเลฟเว่น (7-11) เพื่อนำผลิตภัณฑ์เข้าไปวางจำหน่าย อีกทั้งยังมีห้างโมเดิร์นเทรดอีกหลายแห่ง รวมถึงร้านอาหาร และร้านส้มตำที่ติดต่อเข้ามาเพื่อจะนำผลิตภัณฑ์ไปวางจำหน่าย และใช้ในการประกอบอาหาร
“เราต้องการเปลี่ยนมุมมองใหม่เกี่ยวกับปลาร้าในสายตาของผู้บริโภค จึงดำเนินการให้ถูกสุขลักษณะ ให้ผู้บริโภคได้รับประทานปลาร้าด้วยความเชื่อมั่น โดยหลังจากที่เริ่มทำตลาดผลตอบรับจากผู้บริโภคก็เป็นไปได้ด้วยดี จากลูกค้าที่ทดลองซื้อไป 2-3 กระปุก ต่างก็กลับมาซื้อเพิ่มเติมอีก 20 กระปุก หรือบางรายมาซื้อเพิ่มเป็น 2 ลังก็มี ซึ่งหมายความว่ารสชาติเป็นที่ถูกปาก และได้รับการยอมรับ”
–ขยายตลาดออกต่างประเทศ
นอกจากนี้ในส่วนของช่องทางออนไลน์นั้น บริษัทยังมีการจำหน่ายผ่านแอพพลิเคชั่นช็อบปี้ (Shoppee) และบนเว็บไซด์ของบริษัทที่จะมีการบอกข้อมูลทุกอย่างเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ ขณะที่ตลาดต่างประเทศนั้น ล่าสุดกำลังอยู่ในขั้นตอนการเจรจาทางธุรกิจเพื่อนำผลิตภัณฑ์เข้าไปวางจำหน่ายที่ประเทศเวียดนาม ซึ่งจะต้องมีการปรับแพคเกจจิ้งให้ตรงตามความต้องการของลูกค้า
อย่างไรก็ตาม บริษัทกำลังดำเนินการเพื่อเตรียมส่งผลิตภัณฑ์ไปจำหน่ายที่ประเทศในแถบยุโรป โดยคาดว่าจะสามารถทำได้ในช่วงปลายปีนี้ หรือต้นปีหน้า เนื่องจากการส่งออกไปยังยุโรปมีขั้นตอนที่ค่อนข้างมาก ทั้งเรื่องของการมีใบรับรองจากกรมประมง เพื่อที่จะตรวจสอบย้อนหลังได้ว่าปลาที่นำมาผลิตมีประวัติอย่างไร และจะต้องไปเป็นปลาเลี้ยงเท่านั้นไม่ใช่ปลาแม่น้ำจากธรรมชาติ
“ขั้นตอนในการผลิตของการส่งผลิตภัณฑ์ไปจำหน่ายในประเทศแถบยุโรปจะมีกระบวนการที่ค่อนข้างแตกต่าง เพราะที่ยุโรปจะต้องการเฉพาะเนื้อปลาเท่านั้น ไม่ต้องการให้มีกระดูกปน และต้องเป็นปลาชนิดเดียวเท่านั้นที่นำมาหมัก จากเดิมที่บริษัทจะใช้เนื้อปลาขนาดเล็ก อย่างปลาสร้อย ปลากระดี่ ปลาหมอ เป็นต้น มาหมักรวมกัน โดยเท่าที่บริษัทค้นคว้า และวิจัยพบว่าเนื้อปลายี่สก และปลาจีนเป็นปลาที่นำมาหมักแล้วให้รสชาติอร่อยที่สุด ซึ่งการที่บริษัทจะสามารถทำตลาดได้ในช่วงปลายปี หรือต้นปีหน้าก็เพราะจะต้องใช้เวลาในการหมักประมาณ 8 เดือน และกำลังเพิ่มโรงเรือนเพื่อเพิ่มกำลังการผลิต เพื่อตอบสนองความต้องการของลุกค้าที่มีเพิ่มมากขึ้น”
–ชูจุดเด่นใช้เนื้อปลาร้ามาก 80-90%
เนตรดาว บอกต่อไปอีกว่า จากกลยุทธ์ในการทำตลาดดังกล่าวเชื่อว่าจะทำให้บริษัทมีรายได้ประมาณ 40 ล้านบาทในปี 61 และจะเติบโตเพิ่มมากขึ้นตามแผนกลยุทธ์ในการทำตลาดที่จะเพิ่มจำนวนฐานลูกค้าอย่างต่อเนื่อง ด้านจุดเด่นของผลิตภัณฑ์ภายใต้แบรนด์ “ปลายจวัก” อยู่ที่ความเข้มข้นของน้ำปลาร้าที่เป็นสูตรเฉพาะของครอบครัว และปริมาณเนื้อปลาร้าที่นำมาต้มมากกว่า 80-90% หรือเรียกว่ามีแต่เนื้อมากกว่าน้ำ
อย่างไรก็ดี ผลิตภัณฑ์ของแบรนด์ “ปลายจวัก” ยังไม่มีการใส่สารกันเสีย ทำให้ปลอดภัยสำหรับผู้บริโภค อีกทั้งยังมีการทำเป็นสูตรน้ำส้มตำพร้อมรับประทาน ซึ่งสามารถนำไปใส่กับขนมจีน และอาหารประเภทแกงได้ด้วย โดยปัจจุบันมีลูกค้าที่ต้องการให้บริษัทดำเนินการในรูปแบบการรับจ้างผลิต (OEM) เพื่อนำไปสร้างแบรนด์เป็นของตนเองจำนวนมาก แต่ตอนนี้บริษัทยังไม่สามารถตอบสนองความต้องการของลูกค้ากลุ่มดังกล่าวนี้ได้ เพราะเวลานี้เราต้องการสร้างแบรนด์ของบริษัทก่อน
“ธนาคารเพื่อการพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางถึงขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) หรือเอสเอ็มอีเดเวลลอปเม้นท์แบงก์ (SME Development Bank) มีส่วนช่วยสนับสนุนธุรกิจของบริษัท 2 รูปแบบ ได้แก่ 1.เรื่องของเงินทุนหมุนเวียน และ2.สินเชื่อประชารัฐ เพื่อนำมาใช้ในการเพิ่มเครื่องจักร ทำให้มีกำลังการผลิตที่สามารถตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคได้มากขึ้น นอกจากนี้ยังช่วยให้ผลิตภัณฑ์ของบริษัทได้จำหน่ายบนแอพฯช็อปปี้อีกด้วย”.