ชายน้อย อาณาจักรผลไม้แปรรูปร้อยล้าน
ลูกค้าคือสิ่งสำคัญต่อธุรกิจ เพราะถือเป็นจุดหมายปลายทางที่ผู้ประกอบการทุกรายหวังที่จะนำผลิตภัณฑ์ไปตอบโจทย์ความต้องการเหล่านั้น และต้องการรักษาฐานลูกค้าเอาไว้ให้เหนียวแน่นมากที่สุด เพื่อให้ธุรกิจเกิดความมั่นคงและยั่งยืนต่อไปในอนาคต
สุรพงษ์ ณรงค์น้อย กรรมการผู้จัดการ บริษัท ชายน้อยฟู้ด จำกัด ยึดหลักความเอาใจใส่ต่อลูกค้าแบบเสมอต้นเสมอปลาย เป็นกุญแจที่ไขประตูธุรกิจไปสู่ความสำเร็จ โดยเริ่มต้น Startup ธุรกิจเคยส่งผลิตภัณฑ์ให้ลูกค้าด้วยตนเองอย่างไร วันเวลาผ่านไป 10 ปีก็ยังคงเป็นไปในรูปแบบนั้น ซึ่งเป็นกลยุทธ์ที่ช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้กับลูกค้า และทำให้ธุรกิจผลไม้แปรรูปภายใต้แบรนด์ “ชายน้อย” ประสบความสำเร็จได้จนถึงปัจจุบัน
ปรับกลยุทธ์เพิ่มมูลค่า
สุรพงษ์ บอกถึงจุดเริ่มต้นของ “ชายน้อย” ว่า ด้วยความที่พื้นเพของครอบครัวเป็นคนจังหวัดชุมพร และมีคุณแม่ประกอบอาชีพเป็นแม่ค้าผลไม้ โดยไปรับซื้อผลไม้จากภาคต่างๆ แล้วนำมาขายที่ภาคใต้ รวมถึงรับซื้อทุเรียนแบบเหมาะสวนไปขายที่ตลาดสี่มุมเมืองกรุงเทพฯ จนระทั่งปี 2545 เกิดเหตุการณ์ราคาทุเรียนตกต่ำเหลือเพียงกิโลกรัมละไม่กี่บาท จึงหาหนทางในการเพิ่มมูลค่าขอผลไม้ จนมาได้ไอเดียที่การแปรรูปทุกเรียนด้วยการทอด ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ตนเองก็ได้ตัดสินใจลาออกจากการเป็นมนุษย์เงินเดือน และกลับมายังบ้านเกิด
ในปี 2546 ตนได้มองเห็นโอกาสในการทำธุรกิจทุเรียนทอด ซึ่งเป็นขนมที่นำไปเป็นของฝากได้ เพราะเป็นผลิตภัณฑ์ท้องถิ่นที่ขึ้นชื่อ มีรสชาติอร่อย เนื่องจากชุมพรเป็นจังหวัดที่มีการปลูกทุเรียนที่มีชื่อเสียงอันดับที่สองของประเทศ และเป็นของฝากที่สามารถเก็บไว้ได้นาน ด้วยแนวคิดดังกล่าวจึงทำบรรจุภัณฑ์มีโลโก้แบรนด์บ้านทุเรียนชายน้อย
และส่งร้านขายของฝาก โดยได้รวมกลุ่มเกษตรกรเป็นวิสาหกิจชุมชนทุเรียนบ้านชายน้อยขึ้น และสินค้าได้รับเลือกให้เป็นโอท็อป 4 ดาว (OTOP) จากเดิมที่ส่งสินค้าร้านขายของฝาก จ.ชุมพร จ.ประจวบคีรีขันธ์ ได้ค่อยๆขยายช่องทางการจำหน่ายไปที่จ.เพชรบุรี ,จ.สุราษฎร์ธานี รวมถึงร้านขายของฝากต่างๆ
“เมื่อความต้องการของผู้บริโภคเพิ่มมากขึ้น ตลาดขยายตัวอย่างรวดเร็ว จึงเริ่มมองหาช่องทางใหม่ๆในการทำตลาด เพื่อให้สามารถเข้าถึงกลุ่มลูกค้าได้ทั่วถึง โดยในปี 2552 ทุเรียนทอดแบรนด์ ชายน้อย ก็ได้เริ่มวางจำหน่ายในเซเว่นอีเลฟเว่น พื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งก็ได้รับการตอบรับจากลูกค้าเป็นอย่างดี หลังจากนั้นจึงได้วางจำหน่ายในร้านเซเว่นฯทั่วประเทศ”
แตกไลน์ผลิตภัณฑ์
ด้วยความเป็นคนที่เก่งในเรื่องของการตลาด และการแปรรูปผลิตภัณฑ์ ทำให้สุรพงษ์ ได้ต่อยอดสินค้าผลไม้แปรรูปออกมาเพิ่มเติม เพื่อเป็นการขยายฐานลูกค้า โดยได้มีการพัฒนาผลิตภัณฑ์แครกเกอร์หน้าทุเรียน และกล้วยเล็บมือนางอบแห้ง ซึ่งทุกผลิตภัณฑ์ได้รับการยอมรับและได้วางจำหน่ายที่เซเว่นฯ ทั่วประเทศเช่นเดียวกัน อย่างไรก็ดี ล่าสุดยังได้พัฒนาผลิตภัณฑ์ไปสู่กล้วยหอมอบเนย โดยปัจจุบันอยู่ในขั้นตอนของการพัฒนา และตรวจสอบบรรจุภัณฑ์ ซึ่งคาดว่าภายในมิถุนายนนี้ น่าจะเรียบร้อยพร้อมจำหน่ายในเซเว่นฯ
นอกจากการต่อยอดผลิตภัณฑ์อย่างต่อเนื่องแล้ว ปีนี้ยังเตรียมปรับกลยุทธ์ทางด้านการตลาด และการบริหารต้นทุนของบริษัท เพื่อให้สอดรับกับปริมาณของวัตถุดิบประเภททุเรียนที่เริ่มมีจำนวนจำกัด โดยจะมีการมุ่งเน้นการทำผลิตภัณฑ์แครกเกอร์หน้าทุเรียนเข้ามาจำหน่ายเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากมีต้นทุนที่ถูกกว่าทุเรียนทอด จากเดิมที่บริษัทจะจำหน่ายทุเรียนทอดในปริมาณ 80% และเป็นกล้วยเล็บมือนางอบแห้งอีก 20% โดยจะปรับเปลี่ยนมาเป็นทุเรียนทอด 50% แครกเกอร์หน้าทุเรียน 40% กล้วยเล็บมือนางอบแห้งและกล้วยหอมอบเนย 10%
“ทุเรียนทอดจะมีกำไรอยู่ที่ประมาณ 20-30% แต่หากเป็นแบบแครกเกอร์หน้าทุเรียนจะมีกำไรถึง 50% เนื่องจากวัตถุดิบที่นำมาใช้ในการแปรรูปมีความแตกต่างกัน การขายผลไม้สดแบบเดิม ซึ่งอาจจะมีการพัฒนาบรรจุภัณฑ์ให้พกพาได้สะดวกราคาก็จะปรับเพิ่มขึ้นมาได้มาก แต่หากหากนำสินค้าเกษตรมาแปรรูปก็จะช่วยเพิ่มมูลค่าได้มากขึ้น รวมถึงเป็นการตอบสนองนโยบายของรัฐบาลในการเป็นไทยแลนด์ 4.0 หรือเรียกว่าเป็นการทำให้น้อยลงแต่ขายได้มากขึ้น อาจจะมีการลงทุนเพิ่มเล็กน้อย แต่ขายสินค้าได้มากขึ้น”
อย่างไรก็ดี ในส่วนของตลาดต่างประเทศนั้น ปีนี้บริษัทก็จะดำเนินการขยายตลาดออกไปเพิ่มเติมที่ประเทศเวียดนาม จีนเมืองอื่น และฟิลิปปินส์ที่เกาะกวม และมัลดีฟส์ เนื่องจากเป็นเมืองแห่งการท่องเที่ยว ซึ่งผลิตภัณฑ์ของบริษัทน่าจะตอบโจทย์ความต้องการได้เป็นอย่างดี จากเดิมที่บริษัทมีตัวแทนจำหน่ายจำหน่ายที่ประเทศพม่าเมืองย่างกุ้ง และจีนที่เมืองสิบสองปันนา และยูนนาน ขณะที่ในส่วนของอบหอมอบเนยเอง ล่าสุดมีลูกค้าจากประเทศเกลาหลีติดต่อเข้ามาเพื่อให้บริษัทรับจ้างผลิตให้ (OEM) เพื่อไปวางจำหน่ายในประเทศ
เล็งสร้างร้านจำหน่ายสินค้าครบวงจร
สุรพงษ์ กล่าวต่อีกว่า ด้วยการต่อยอดผลิตภัณฑ์ รวมถึงการปรับกลยุทธ์ในการบริหารงาน และขยายตลาดต่างประเทศนั้น คาดว่าจะทำให้ปีนี้บริษัทมีรายได้อยู่ที่ประมาณ 130 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมาซึ่งบริษัทมีรายได้อยู่ที่ 115 ล้านบาท โดยมีสัดส่วนรายได้มาจากการจำหน่ายผ่านเซเว่นฯ 40% ร้านขายของฝาก 10% โมเดิร์นเทรด 30% ขายส่ง 10% และส่งออกอีก 10% ซึ่งการที่มีสัดส่วนส่งออกไม่มาก เพราะบริษัทเพิ่งเริ่มทำมาได้เพียงแค่ 2 ปี แต่ก็จะขยายเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
“บริษัทมีการพัฒนาและวิจัยเรื่องการแปรรูปผลไม้อย่างต่อเนื่อง เพื่อเป็นการขยายฐานลูกค้า โดยขณะนี้มีการพัฒนานำลองกอง และสละมาแปรรูปเป็นเยลลี่ ซึ่งคาดว่าจะได้รับการตอบรับที่ดีจากลูกค้าชาวจีน โดยการแปรรูปผลไม้เป็นการเพิ่มมูลค่าของผลิตภัณฑ์ให้จำหน่ายได้มากกว่าในรูปแบบของผลไม้สด อีกทั้งยังสามารถเก็บรักษาไว้รับประทานได้ระยะเวลานาน โดยบริษัทวางเป้าหมายที่จะพัฒนาสินค้าออกสู่ตลาดให้ได้อย่างน้อย 2-3 ผลิตภัรฑ์ต่อปี”
ด้านแผนการดำเนินงานในอนาคตนั้น ในอีก 2-3 ปีบริษัทเตรียมดำเนินการลงทุนสร้างร้านจำหน่ายสินค้าแบบครบวงจร ซึ่งจะมีสินค้าวางจำหน่ายทั้งที่เป็นของฝาก ขนมจีนสูตรชุมพร ก๋วยเตี๋ยวต้มยำสูตรชายน้อย กาแฟสด และสินค้าโอท็อป โดยปัจจุบันได้จัดซื้อที่ดินริมถนนเพชรเกษมเอาไว้เรียบร้อยแล้ว นอกจากนี้ หากมีโอกาสก็อาจจะนำบริษัทเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เพื่อระดมทุนในการขยายธุรกิจ แต่เนื่องจากไม่มีความชำนาญในเรื่องดังกล่าว จึงต้องใช้ระยะเวลาในการศึกษาหาข้อมูลอีกพอสมควร
“โรงงานของเรามีกระบวนการผลิตที่ควบคุมด้วยระบบ GMP และ HACCP ทำให้สินค้าที่ผลิตออกมามีคุณภาพสูง รสชาติดีสม่ำเสมอถูกปากผู้บริโภค และปลอดภัย สำหรับวัตถุดิบที่ใช้เป็นผลผลิตที่ได้จากเกษตรกรในพื้นที่และจังหวัดใกล้เคียง ปัจจุบันบริษัทได้ส่งเสริมเกษตรกรด้วยการรับซื้อผลทุเรียนสดจากเกษตรกรรายย่อย และกลุ่มสหกรณ์ผู้ปลูกทุเรียน อาทิ กลุ่มเกษตรกรพันวาล กลุ่มวิสาหกิจผู้ปลูกทุเรียนและผลไม้ สหกรณ์การเกษตรทะเลทรัพย์ เป็นต้น โดยรับซื้อจำนวน 1,000 ตันต่อปี และสามารถนำมาแปรรูปเป็นทุเรียนทอด 100 ตัน นับเป็นการช่วยสร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างรายได้ให้เกษตรกรอย่างแท้จริง ที่สำคัญช่วยยกระดับผลผลิตทางการเกษตร ทำให้เกษตรกรในท้องถิ่น มีรายได้ที่มั่นคงและอยู่ได้อย่างยั่งยืน” สุรพงษ์ กล่าวปิดท้าย