“คูซ่า” ไอเดียสร้างสรรค์สู่ปูอัดทอดกรอบสไตล์ใหม่
ไอเดียและความคิดสร้างสรรค์คืออาวุธชิ้นสำคัญทางการตลาดยุคปัจจุบันที่จะทำให้ผู้ประกอบการสามารถยืนหยัดอยู่บนโลกของการแข่งขันที่ทวีความรุนแรงเพิ่มมากขึ้นได้ในทุกขณะ หากอาวุธชิ้นนั้นมีประสิทธิภาพ หรือศักยภาพเพียงพอที่จะตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภค
กิ่งดาว คูสกุลธรรม ผู้บริหาร บริษัท ชัยสวรรค์สแนค จำกัด ผู้ผลิตและจำหน่ายปูอัดทอดกรอบแบรนด์ “คูซ่า” (Koosa) คือสาวน้อยวัย 25 ปีที่เลือกทำธุรกิจเป็นของตนเองมากกว่าที่จะทำงานบริษัทเฉกเช่นเดียวกับบัณฑิตที่จบการศึกษาใหม่ทั่วไป จากความเชื่อมั่นในไอเดีย และคุณภาพของผลิตภัณฑ์ โดยเลือกหยิบจับวัตถุดิบที่มีทั่วไปตามท้องตลาด มาเพิ่มมูลค่าให้กลายเป็นผลิตภัณฑ์ที่ได้รับการยอมรับ
จากความเชื่อมั่นสู่ธุรกิจ
กิ่งดาว บอกถึงจุดเริ่มต้นของธุรกิจว่า เกิดขึ้นในช่วงที่เรียนจบการศึกษา โดยพยายามมองหาธุรกิจที่จะทำ ซึ่งสุดท้ายก็มาลงตัวที่ปูอัดทอดกรอบ โดยมีการลองผิดลองถูกอยู่กว่า 2 เดือนจนได้สูตรที่ลงตัว และเริ่มทดลองตลาดจากครอบครัว และคนใกล้ตัว ซึ่งแม้ว่าทุกคนจะบอกว่ารสชาติอร่อยแต่ก็ยังไม่ได้รับการสนับสนุน เนื่องจากเห็นว่าตนเองยังมีประสบการณ์ในการทำงาน ต้องการให้หางานทำตามวิถีปกติน่าจะดีกว่า แต่ด้วยความเชื่อมั่นในผลิตภัณฑ์ที่สร้างสรรค์ขึ้นมา จึงออกไปหาตลาดและลูกค้าด้วยตนเอง โดยช่วงแรกยังได้รับการตอบรับที่ไม่ดีเท่าใดนัก
อย่างไรก็ดี ยังมีความพยามยามต่อในการพัฒนาบรรจุภัณฑ์ (Packaging) รวมถึงปรับปรุงสูตรควบคู่กันไปจนได้รสชาติที่อร่อย หลังจากนั้นจึงไปจดทะเบียนจัดตั้งบริษัทอย่างเป็นรูปธรรมทันที ระหว่างนั้นได้มีการส่งผลิตภัณฑ์ให้กับหน่วยงานของรัฐที่ไปติดต่อได้ทดลองรสชาติ จึงเปรียบเสมือนเป็นการเปิดช่องทางการตลาดให้กับ “คูซ่า” เพราะเห็นว่าผลิตภัณฑ์มีความแปลกใหม่ และตนเองยังเป็นเด็กรุ่นใหม่อายุน้อย เลยได้รับโอกาสให้ไปออกงาน Thailand Industry Expo 2015 ทำให้ได้พบกับลูกค้าทั้งในและต่างประเทศที่สนใจในตัวของผลิตภัณฑ์
“จากการออกงานครั้งแรก เป็นเหมือนการเปิดมุมมองใหม่ของธุรกิจ ทำให้ย้อนกลับมาคิดถึงเรื่องของกำลังการผลิต และมาตรฐานทางด้านต่างๆของผลิตภัณฑ์ เหล่านี้ล้วนเป็นอุปสรรคต่อการขยายตลาด เมื่อได้พบเจอกับปัญหาจึงเดินหน้าขอมาตรฐาน GMP (Good Manufacturing Practice) หรือหลักเกณฑ์วิธีการที่ดีสำหรับการผลิต เป็นการจัดการสภาวะแวดล้อมขั้นพื้นฐานของกระบวนการผลิต และ HACCP (Hazard Analysis Critical Control Point ) เป็นมาตรฐานการผลิต ที่มีมาตรการป้องกันอันตราย ที่ผู้บริโภคอาจได้รับจากการบริโภคอาหาร พร้อมทั้งลงทุนกว่า 10 ล้านบาทในการก่อสร้างโรงงานผลิต จากเดิมที่มีเพียงแค่การรับรองจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.)”
ใส่ความคืดสร้างสรค์เพิ่มมูลค่า
หากถามถึงจุดเด่นของ คูซ่า นั้น กิ่งแก้วบอกว่า มาจากความแปลกใหม่ในการหยิบวัตถุดิบที่มีอยู่ในท้องตลาดอยู่แล้ว อย่างปูอัดที่ผู้บริโภคทั่วไปนิยมรับประทานอยู่แล้ว มาใส่ความคิดสร้างสรรค์ปรับเปลี่ยนรูปแบบใหม่ และเพิ่มมูลค่าให้กับผลิตภัณฑ์ อีกทั้งยังมีกระบวนการผลิตที่ใช้นวัตกรรมในการดูดซับน้ำมันออกจนแทบจะไม่เหลือน้ำมันอยู่ในปูอัดเลย ทำให้ผู้ที่รักสุขภาพสามารถรับประทานได้ พร้อมกับรสชาติที่อร่อย และได้คุณประโยชน์จากเนื้อปลาสุริมิเกรดพรีเมี่ยม ซึ่งเป็นส่วนผสมของปูอัดนำเข้าที่บริษัทเลือกใช้
ปัจจุบัน คูซ่า มีการทำตลาดอยู่ 4 ราชาติ ได้แก่ รสคลาสสิค รสซอสพริกศรีราชา รสวาซาบิ และรสต้มยำ โดยมี 2 แพคเกจที่นำเสนอ ซึ่งในส่วนของแพคเกจแบบซองจะมีวางจำหน่ายอยู่ที่ห้างสรรพสินค้าเดอะมอลล์ทุกสาขา พารากอน เอ็มโพรเลี่ยม เอ็มควอเทีย และเม็กซ์แวลู่ ขณะที่แพคเกจแบบกระปุก ซึ่งทำออกมาเพื่อจำหน่ายเป็นของฝากจะมีวางจำหน่ายอยู่ที่ตัวแทนจำหน่าย รวมถึงร้านค้าส่งทั่วประเทศ ร้านกาแฟ ร้านเค้ก เป็นต้น โดยมีกลุ่มลูกค้ากลุ่มเป้าหมายเป็นกลุ่มวัยทำงาน เนื่องจากเป็นสินค้าระดับพรีเมี่ยมที่มีราคาค่อนข้างสูง ซึ่งแบบซองจะจำหน่ายอยู่ที่ราคา 45 บาท ส่วนแบบกระปุกจำหน่ายอยู่ที่ 150 บาท ดังนั้น ผู้บริโภคจึงต้องเป็นกลุ่มที่มีกำลังซื้อ
สำหรับกลยุทธ์ในการทำตลาดปี 2560 นั้น บริษัทมีแผนที่จะลดขนาดของแพคเกจในรูปแบบของซอง เพื่อขยายตลาดไปสู่กลุ่มของเด็กวัยรุ่น อีกทั้งยังเป็นการเจาะตลาดไปสู่การวางจำหน่ายในโมเดิรนเทรด ไม่ว่าจะเป็นซีพีเฟรชมาร์ท ลอว์สัน 108 ชอป (Lawsan 108) และเซเว่นอีเลฟเว่น โดยปัจจุบันอยู่ในระหว่างการเจรจาหาข้อสรุปที่เหมาะสมมากที่สุด ซึ่งคาดว่าภายในปีนี้จะสามารถวางจำหน่ายตามร้านดังกล่าวเหล่านี้ได้ทั้งหมด นอกจากนี้ ยังมีแผนที่จะขยายจำนวนตัวแทนจำหน่ายให้ได้ 100 ราย เพื่อให้ครอบคลุมการจำหน่ายทั่วประเทศ จากเดิมที่มีอยู่ 30 ราย โดยที่ส่วนใหญ่จะอยู่ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร และตามหัวเมืองขนาดใหญ่
ขณะที่ตลาดต่างประเทศนั้น ตลาดเดิมของ คูซ่า ได้แก่ ประเทศฮ่องกง มาเก๊า โซนเอเชีย โดยยังไม่มีแผนที่จะขยายตลาดไปที่อื่นภายในปีนี้ โดยเราพยายามที่จะทำตลาดในประเทศ และต่างประเทศที่มีอยู่เดิมให้แข็งแกร่งเสียก่อน ซึ่งจะเป็นการขยายฐานลูกค้าใหม่ให้มีมากขึ้น พร้อมกับรักษาฐานลูกค้าเดิมให้คงอยู่อย่างเหนียวแน่น เนื่องจากการขยายเข้าสู่ร้านโมเดรินเทรดในปีนี้ บริษัทจะต้องมีการเตรียมการทุกด้านให้เป็นอย่างดีที่สุด เพื่อไม่ให้เกิดความผิดพลาด และทำให้สินค้าขาดตลาด โดยส่วนหนึ่งเราต้องการให้ผู้บริโภคในประเทศได้รู้จักกับผลิตภัณฑ์ คูซ่า ก่อน
อย่างไรก็ตาม มีต่างประเทศที่เข้ามาให้ความสนใจต้องการเป็นตัวแทนให้กับผลิตภัณฑ์ คูซ่า อย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นที่ประเทศญี่ปุ่น หรือแคนาดา โดยปัจจุบันก็อยู่ระหว่างขั้นตอนของการพิจารณาหาความเหมาะสม ซึ่งเชื่อว่าในปี 2561 น่าจะสามารถขยายตลาดไปสู่ประเทศดังกล่าวเหล่านี้ได้
“จากกลยุทธ์ในการทำตลาดดังกล่าวของบริษัทเชื่อว่าจะทำให้ปีนี้มีรายได้อยู่ที่ประมาณ 40 ล้านบาท โดยเป็นรายได้เฉพาะในประเทศเท่านั้น ส่วนต่างประเทศจะเป็นการสร้างการรับรู้ และค่อยๆทำตลาดอย่างค่อยเป็นค่อยไป”
สร้าง คูซ่า สู่แบรนด์ระดับสากล
กิ่งดาว บอกว่า แผนในอนาคตนั้น ต้องการให้แบรนด์ คูซ่า เป็นแบรนด์ในระดับสากลซึ่งนักท่องเที่ยวหรือผู้ที่จะเดินทางมายังประเทศจะต้องนึกถึง รวมถึงเป็นขนมทางเลือกใหม่สำหรับคนที่ต้องการรักสุขภาพ ชอบอะไรที่แปลกใหม่ และการรับประทานอาหารที่ดี ซึ่งจะทำให้ร่างกายดีไปด้วย โดยเราจะเน้นเรื่องของประโยชน์ในการทำผลิตภัณฑ์เป็นหลัก นอกจากนี้ เพื่อให้ไปสู่เป้าหมายในระดับดังกล่าวได้ บริษัทมีแผนที่จะเข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ในอีก 2-3 ปีข้างหน้า ซึ่งจะทำให้บริษัทมีรูปแบบการบริหารธุรกิจที่เป็นระบบ จากเดิมที่เป็นการบริหารแบบครอบครัว อีกทั้งยังจะช่วยให้บริษัทมีภาพลักษณ์เรื่องความโปร่งใส น่าเชื่อถือ และสามารถระดมทุนเพื่อขยายธุรกิจได้ในอนาคต
“เราไม่ได้ต้องการอยู่แค่ในระดับประเทศ ซึ่งหากต้องการเพียงเท่านั้นก็อาจจะทำธุรกิจในรูปแบบครอบครัวอย่างเดิม แต่เราต้องการเข้าสู่ระดับสากล เพราะฉะนั้นเรื่องความน่าเชื่อถือ และความโปร่งใสจึงเป็นสิ่งสำคัญ”