“JAI CRAFT DESIGN”ศิลปะจากผู้สูงอายุสู่ผลิตภัณฑ์
ศิลปะมีหลายแขนง และมีอยู่ทุกหนทุกแห่งบนพื้นที่ของโลบกใบนี้ ขึ้นอยู่กับมุมมองของแต่ละคนที่จะเห็น นอกจากนี้ศิลปะยังไม่จำกัดเพศ และไม่จำกัดวัย ไม่ว่าจะเป็นวัยใดก็สามารถเข้าถึงได้ นอกจากนี้งานศิลปะยังสามารถนำมาทำเป็นธุรกิจ เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคได้ อยู่ที่การดีไซน์และความคิดสร้างสรรค์ในการสรรค์สร้างให้ออกมาเป็นผลิตภัณฑ์
“ณภัทร เขียวชะอุ่ม” คือ หญิงสาวที่เลือกหยิบจับงานศิลปะโดยได้รับแรงบันดาลใจจากงานศิลปะของคุณพ่อ จึงชวนกันร่วมทำโปรเจคผ้าพันคอลายศิลป์ และ Startup ธุรกิจขึ้นมาภายใต้แบรนด์ “JAI CRAFT DESIGN” เพื่อนำเสนอต่อผู้บริโภค
–จับงานศิลปะสร้างผลิตัณฑ์
ณภัทร ผู้ก่อตั้งบริษัท บริษัท ใจ คราฟท์ ดีไซน์ จำกัด (JAI CRAFT DESIGN CO.,LTD.) บอกถึงที่มาที่ไปของไอเดียในการทำธุรกิจครั้งนี้ ว่า เดิมทีตัวเธอเองทำงานเป็นโปรดิวเซอร์โฆษณา และงานภาพนิ่งที่คร่ำหวอดอยู่ในวงการมากกว่า 10 ปี โดยมีอยู่ช่วงหนึ่งตัวเธอเองต้องกาแรงบันดาลใจใหม่ๆให้กับชีวิต และต้องการมีเวลาให้กับตัวเองมากขึ้น ซึ่งประจวบเหมาะกับที่ตัวเธอมาสะดุดใจกับงานศิลปะสีน้ำของคุณพ่อชูศิษฎ์ เขียวชะอุ่ม จึงเกิดประกายไอเดียในการสร้างธุรกิจขึ้นมา และกลายเป็นแบรนด์ “JAI CRAFT DESIGN” หรือที่ลูกค้าที่นิยมเรียกสั้นๆว่า “JAI” (ใจ) ในที่สุด
“ในตอนนั้นคุณพ่อเกษียณอายุราชการมาได้ประมาณ 3 ปี และก็ใช้ชีวิตเหมือนกับผู้สูงอายุโดยทั่วไปที่ใช้ชีวิตอยู่ในเมือง นั่น ก็คือ การพยายามหากิจกรรมทำอยู่ตลอด ไม่ว่าจะเป็นการเล่นกีฬา อ่านหนังสือ และช่วยเลี้ยงหลาน แต่มีกิจกรรมอย่างหนึ่งซึ่งตนไม่ได้เห็นคุณพ่อทำมานาน นั่นก็คือการจับพู่กันวาดภาพสีน้ำ ซึ่งเป็นสิ่งที่คุณพ่อรักมาก เพราะคุณพ่อเคยเป็นอาจารย์สอนศิลปะที่โรงเรียนเอกชนแห่งหนึ่ง ก่อนที่จะพลิกผันมารับราชการจนกระทั่งเกษียณอายุราชการ แต่เมื่อท่านกลับมาจับพู่กันวาดรูปอีกครั้ง ภาพที่ถูกถ่ายทอดออกมาจากปลายพู่กันยังคงสวยงาม มีคุณค่า และสร้างแรงบันดาลใจหบายอย่างที่เกี่ยวกับมุมมองการใช้ชีวิตของผู้สูงอายุรุ่นใหม่”
ผลิตภัณฑ์แรกที่นำเสนอต่อผู้บริโภคภายใต้แบรนด์ “JAI CRAFT DESIGN” คือผ้าพันคอ ซึ่งก็ได้รับการตอบรับที่ดีจากผู้บริโภค หลังจากนั้นจึงมีผลิตภัณฑ์อื่นเพิ่มเติมออกมาอีกหลากหลาย ทั้งผ้าพันคอผ้าไหม, ผ้าพันคอผ้าซาติน ปลอกหมินอิง, ภาพพิมพ์ตกแต่งบ้าน, โปสการ์ด และสมุดโน้ต โดยมีคำนิยามของผลิตภัณฑ์ว่าเป็น ผลิตภัณฑ์ตกแต่งบ้านและไลฟ์สไตล์โปรดักส์
“ผลงานการออกแบบลวดลายเกิดจากแรงบันดาลใจของผู้สูงอายุรุ่นใหม่ที่สร้างสรรค์ด้วยประสบการณ์ชีวิตถ่ายทอดให้เป็นผลิตภัณฑ์ไลฟ์ไสตล์, งานดีไซน์สำหรับคนรุ่นใหม่ และตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคยุคปัจจุบัน”
–ผนึกพลัง 2 เจเนอเรชั่น
ณภัทร บอกต่อไปว่า การสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ของแบรนด์ “JAI CRAFT DESIGN” เป็นการทำงานร่วมกับผู้สูงอายุ โดยเป็นการทำงานระหว่างคน 2 เจเนอเรชั่นที่มีความแตกต่างกันค่อนข้างมาก ซึ่งก็นำมาถึงอุปสรรคเรื่องวิธีการทำงานที่ไม่ค่อยจะตรงกันนัก ดังนั้น การทำความเข้าใจให้ทุกคนเห็นภาพจบเป็นภาพเดียวกันก่อนเริ่มงานเป็นสิ่งสำคัญมาก รวมถึงการวางแผนระยะเวลาในการทำงานด้วย โดยการทำงานออกแบบกับผู้สูงอายุเราต้องคำนึงถึงสภาพร่างกายของเขา ต้องเข้าใจว่าการทำงานให้เสร็จชิ้นหนึ่งอาจจะต้องใช้เวลามากกว่าปกติ ซึ่งแบรนด์จำเป็นต้องเข้าใจ และยอมรับข้อจำกัดดังกล่าวนี้เสมอ
อย่างไรก็ดี อุปสรรคอีกข้อหนึ่งก็คือเรื่องการรับรู้ต่อแบรนด์ เนื่องจากยังมีลูกค้าอีกจำนวนมากที่คิดว่า “JAI” จำหน่ายเพียงแค่ผ้าพันคออย่างเดียว โดยไม่รู้ว่าในความเป็นจริงแล้วแบรนด์ต้องการนำเสนอผลงานศิลปะของผู้สูงอายุ เพราะฉะนั้นจึงมีความจำเป็นต้องสร้างความเข้าใจกับผู้บริโภคให้มากยิ่งขึ้น โดยทำในลักษณะของการเผยแพร่เป็นภาพ และวิดีโอขณะที่คุณพ่อกำลังวาดรูป อีกทั้งยังมีการจัดกิจกรรมเชิงปฏิบัติการเกี่ยวกับการวาดภาพสีน้ำเพิ่มมากขึ้น
“แนวคิดของ JAI คือ ต้องการจะสร้างงานศิลปะร่วมกับกลุ่มผู้สูงอายุ เพื่อสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ออกมาให้เป็นงานศิลปะที่สวมใส่ได้ (Wearable Art) และสร้างคุณค่าให้กับทั้งนักออกแบบและผู้ใช้ไปพร้อมกัน”
–เพิ่มช่องทางการเข้าถึงผู้บริโภค
สำหรับช่องทางในการจำหน่ายผลิตภัณฑ์นั้น จะมีทั้งในรูปแบบของออนไลน์ ซึ่งจะดำเนินการผ่านเฟสบุ๊ก (Jai.craftdesign), อินสตราแกรม หรือไอจี (jai.craftdesign), และเว็บไซด์ (www.jaicraftdesign.com) นอกจากนั้นก็มีการออกบูธตามสถานที่ต่างๆ
ส่วนในปีนี้การขยายช่องทางในการเข้าถึงผู้บริโภค แบรนด์กำลังจะได้มีโอกาสเข้าไปจำหน่ายผลิตภัณฑ์ที่ห้างเอ็มโพเรียม (Emporium) ตามโครงการ THAI AIM ร่วมกับอีก 20 แบรนด์ที่ได้รับการคัดเลือก และจะมีการออกงานที่ประเทศฮ่องกงด้วย
นอกจากนี้ ก็จะมุ่งเน้นการออกงานแสดงสินค้า หรืองานแฟร์ให้เพิ่มมากขึ้น โดยใช้รูปแบบของบิสซิเนสสู่บิสซิเนส หรือ B2B ในการขับเคลื่อนตลาด และนำผลิตภัณฑ์เข้าจำหน่ายในห้างสรรพสินค้าชั้นนำ ซึ่งเชื่อว่าจะช่วยทำให้ผู้บริโภคได้พบเจอกับผลิตภัณฑ์ของแบรนด์ได้มากยิ่งขึ้น พร้อมกันนี้ ก็จะมีการออกคอลเลคชั่นใหม่ๆ เพื่อเพิ่มทางเลือกให้กับผู้บริโภคอย่างต่อเนื่องควบคู่กันไปด้วย โดยล่าสุดจะเป็นผลิตภัณฑ์ที่ทำจากผ้าไหมอีรี่ (Eri Silk) ซึ่งได้รับการยอมรับว่าเป็นเส้นไหมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
“ลวดลายของผ้าจะถูกออกแบบภายใต้แนวคิดมาจาดวงจรชีวิตของไหมอีรี่ จากกระบวนการธรรมชาติ ตั้งแต่เกิด จนกระทั่งเติบโต และผลิตเส้นใยที่มีคุณภาพ โดยไหมอีรี่เป็นไหมป่าเพียงชนิดเดียวที่สามารถเลี้ยงได้ครบวงจรชีวิต เพื่อนำเส้นไหมมาใช้ประโยชน์ ซึ่งจะเป็นเส้นไหมที่มีความแข็งแรง คงทน และสวยงาม”
ส่วนหลักคิดในการทำธุรกิจที่ยึดถือมาโดยตลอดนั้น มาจาก 2 ส่วนที่เป็นองค์ประกอบสำคัญขอผลิตภัณฑ์ ได้แก่ 1.คน ซึ่งหมายถึงนักออกแบบที่เป็นผู้สูงอายุ และ 2.วัตถุดิบ ซึ่งแบรนด์จะเน้นที่เป็นของไทย ผลิตในไทย โดยนำทั้ง 2 ส่วนมาหลอมรวมกันให้เกิดสิ่งใหม่ที่มีคุณค่าจากความคิดสร้างสรรค์
“การที่แบรนด์เลือกใช้ของที่ผลิตในไทย ยังเป็นการช่วยกระจายรายได้ไปสู่กลุ่มเกษตรกร เช่น ผ้าใยสัปปะรด, ผ้าไหมอีรี่ เป็นต้น โดยวัตถุดิบมีเรื่องราวของจุดกำเนินที่น่าสนใจสามารถนำมาสร้างเป็นจุดขายของผลิตภัณฑ์ และยังตอบโจทย์ตามวัตถุประสงค์ของแบรนด์ด้วย”.